รัฐบาลสหรัฐฯ จะทุ่มเงินสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานดักจับคาร์บอนออกจากอากาศ จำนวน 2 แห่ง ซึ่งเป็นการเดิมพันครั้งประวัติศาสตร์ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
สำหรับโรงงานทั้ง 2 แห่งนั้น แห่งหนึ่งจะตั้งในรัฐเท็กซัส ส่วนอีกแห่งจะตั้งที่รัฐหลุยเซีย โดยสหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะ กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนของรถยนต์จำนวน 445,000 คันต่อปี ซึ่งการลงทุนดังกล่าว นับได้ว่าเป็น การลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในการกำจัดคาร์บอนเชิงวิศวกรรม
เนื่องจากโรงงานแต่ละแห่งที่สหรัฐฯ มีแผนจะสร้างนั้น จะสามารถกำจัด CO2 จากอากาศได้มากกว่าแหล่งดักจับคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันถึง 250 เท่า สำหรับเทคนิคการดักจับอากาศโดยตรง (DAC) หรือที่เรียกว่าการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ (CDR) เน้นที่ CO2 ที่ปล่อยออกมาในอากาศ ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่รุนแรง
เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถลดผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ดังนั้น โลกจำเป็นต้องกำจัดก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศด้วย โดยทางด้านของ คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (IPCC) พิจารณาว่า การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากชั้นบรรยากาศถือเป็น หนึ่งในวิธีการที่จำเป็นในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของ International Energy Agency ระบุว่า ภาคส่วนนี้ยังคงมีขนาดเล็ก โดยปัจจุบันมีไซต์ดักจับคาร์บอนเพียง 27 แห่งทั่วโลก และมีโครงการอย่างน้อย 130 โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา