“ช่างชุ่ย” ยุคเจน 2 ผ่านมุมมอง “โอมา ส่งวัฒนา” ถึงเวลาเบลนด์ครีเอทีฟ ให้เข้ากับทุกไลฟ์สไตล์

พูดคุยกับ “เลียว – โอมา ส่งวัฒนา” ผู้บริหาร “ช่างชุ่ย” เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเจน 2 มาพร้อมกับการปรับตัวครั้งใหญ่ อาร์ตอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าถึงไลฟ์สไตล์ถึงจะอยู่รอด ทุกวันนี้ต้องมีส่วนผสมลงตัวทั้งครีเอทีฟ คาเฟ่ ร้านค้า และอีเวนต์ ช่วยดึงทราฟฟิกให้คนมาใช้ชีวิต เพิ่มพื้นที่สีเขียวย่านฝั่งธน

จุดเริ่มต้นความอาร์ตตัวพ่อ

“ช่างชุ่ย” ขึ้นชื่อว่าเป็น Creative Space แห่งใหญ่ในย่านฝั่งธนฯ เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ก่อตั้งโดย “ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา” เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า FLYNOW ในช่วงเปิดตัวได้รับกระแสตอบรับอย่างดีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

จุดเริ่มต้นของช่างชุ่ยเกิดจากสมชัย เจ้าพ่อ FLYNOW มีพื้นที่เปล่าทั้งหมด 11 ไร่ ติดถนนสิรินธร ตอนแรกมีความคิดอยากเนรมิตที่นี่ให้เป็นอาคารสำนักงานที่ไม่เหมือนใคร มีสวนรายล้อม ไม่เหมือนตึกทั่วไป แต่พอคิดไปคิดมาการทำสำนักงานจะได้แค่องค์กรเดียวเท่านั้น

จึงมาลองคิดอีกทีว่า ยุคนี้เด็กรุ่นใหม่เก่งในด้านครีเอทีฟมาก สมชัยเองก็เคยเป็นบอร์ดขององค์กรด้านความคิดสร้างสรรค์อย่าง TCDC และมิวเซียมสยาม ได้เห็นวงจรของคนรุน่ใหม่ที่พอมีความคิดสร้างสรรค์แต่ก็ตายไป เพราะไม่มีพื้นที่ให้ปลดปล่อยได้เต็มที่ จึงวางจุดยืนเป็นสายครีเอทีฟไปเลย ทำเป็น Creative Park เพื่อขับเคลื่อนสังคม

สมชัยเป็นหนึ่งในนักสะสมตัวยง ชอบเก็บงานศิลปะ ของวินเทจ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์เก่า หน้าต่าง ประตูเก่าจากตึกเก่า ก็สะสมด้วยเช่นกัน เพราะสมชัยมองเทรนด์ของการ Up cycling ในช่วงแรกช่างชุ่ยจึงก่อตั้งด้วยคอนเซ็ปต์ Nothing is Useless ถูกสร้าง และตกแต่งด้วยวัสดุที่ใช้แล้ว ได้เอาของที่เก็บสะสมมาตกแต่ง รวมไปถึงแลนด์มาร์กอย่าง “เครื่องบิน” สมชัยเคยนั่งรถผ่านสนามบินดอนเมือง แล้วเห็นเครื่องบินเก่าจอดทิ้งไว้กำลังจะเข้าเตาหลอม เลยคิดว่าคงจะเจ๋งถ้ามีเครื่องบินมาตั้งที่ช่างชุ่ย

ตอนเดย์วันที่สร้างช่างชุ่ย สมชัยหมายมั่นปั้นมือให้เป็นพื้นที่อาร์ตๆ แบบสุดโต่งไปเลย มีแต่งานอาร์ต งานสำหรับคนครีเอทีฟโดยตรง แต่พอเปิดไประยะหนึ่งก็มองเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่เหมาะกับการทำกิจการใดๆ ที่ไปสุดทางใดทางหนึ่ง เพราะคนไม่ได้อินกับมันขนาดนั้น จะเป็นแค่กระแสตอนแรก มาได้แค่บางโอกาสเท่านั้น เบื่อก็จบ การทำให้สุดโต่งก็อยู่รอดยาก จึงเริ่มที่จะบาลานซ์ในการหารายได้ และทำให้ครีเอทีฟยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน ทำให้คนอยากมาทุกวันให้ได้ ซึ่งเริ่มเปลี่ยนชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี่เอง

changchui

“การที่ใครอยากทำอะไรสุดโต่งได้ถ้ามีเงินทุนมากพอ ถึงแม้จะมีเงินมากพอ แต่ฝืนธรรมชาติ ถึงจะสุดโต่งได้ แต่ก็ไม่ยั่งยืน พอลองเบลนด์ฝั่งครีเอทีฟเข้าหากันก็เวิร์กมาก”

ส่วนความหมายของคำว่า “ช่างชุ่ย” นั้น เป็นการผสมสองคำ “ช่าง” ที่หมายถึงคราฟท์แมน ผ่านงานฝีมือ “ชุ่ย” ที่หมายถึงทำส่งๆ มั่วๆ ไม่วางแผน พอสองคำมาผสมกัน จะความหมายประมาณว่า “ชุ่ยแบบตั้งใจ ชุ่ยแบบมีศิลปะ”

เข้าสู่ยุคเจน 2

จนถึงวันนี้ช่างชุ่ยก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว สมชัยได้ถอยไปเป็นที่ปรึกษา ส่งไม้ต่อให้กับหลานชาย “เลียว – โอมา ส่งวัฒนา” กรรมการผู้จัดการของช่างชุ่ย จริงๆ แล้วโอมาอยู่กับช่างชุ่ยตั้งแต่เดย์วันเช่นกัน แต่ตอนนั้นอยู่ในส่วนของฝ่ายโอเปอเรชั่น จนในช่วงปี 2562 ได้ขึ้นมาดูเป็นฝ่ายบริหาร ต้องมีการแก้เกมครั้งใหญ่ อีกทั้งยังเจอวิกฤต COVID-19 เล่นงานด้วย

โอมา MD ไฟแรงวัย 32 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกล หลังจากเรียนจบได้เข้าทำงานกับธุรกิจของครอบครัวก็คือเครือ FN หลังจากนั้นได้ไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาบริหารนวัตตกรรม และเทคโนโลยีที่อังกฤษ ช่วงที่จบใหม่โอมาไฟแรงอยากทำสตาร์ทอัพ แต่สมชัยได้มาคุยเรื่องช่างชุ่ย จึงมาร่วมทำด้วย

โอมา ช่างชุ่ย

“ตั้งแต่ที่เข้ามาดูเต็มตัวได้เจอบทเรียนทุกรูปแบบ ทั้งก่อนโควิด ช่วงโควิด และหลังโควิด ได้เห็นการเติบโตของมัน แต่ก็ได้บทเรียนที่ว่า ช่างชุ่ยมันยิ่งใหญ่เหมือนกัน แต่อะไรที่ไม่ได้ใหม่ที่สุดก็ต้องโรยราในที่สุด ช่วงก่อนโควิดต้องแก้เกมกันใหม่ ตอนนั้นเราเน้นอีเวนต์จัดกิจกรรมเป็นหลัก ดึงคนมาด้วยกิจกรรม คอนเสิร์ต เวิร์กช้อป สัมมนา แต่เหมือนการกระโดดเชือกเร็วๆ อยู่ตลอดเวลา ช่วงที่ไม่มีอีเวนต์ก็จะเงียบ เลยต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกลับมาอย่างยั่งยืน พยายามปั้นโครงสร้างใหม่ พอมาช่วงโควิดก็รีเซ็ตทุกอย่างใหม่ ตอนนี้คุณลิ้ม สมชัยก็ยังไม่ไปไหน เป็นคนชี้วิสัยทัศน์ ส่วนเรามีหน้าที่ลงมือทำ”

หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ช่างชุ่ยสามารถกลับมาได้ด้วย “ตลาดสุขเปลี่ยนมือ” เป็นตลาดขายของมือสอง เพื่อตอบโจทย์คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทราฟฟิกก็เริ่มกลับมาดีขึ้น แล้วก็ได้นำร้าน “ย่างเนย” เข้ามาอยู่ในโครงการ ยิ่งเป็นตัวจุดกระแสให้คนเข้ามาในโครงการ เริ่มเปลี่ยนจากความอาร์ตจ๋าๆ เป็นไลฟ์สไตล์ที่ให้คนใช้ชีวิตได้ทั้งวัน มีร้านอาหาร คาเฟ่ ตลาดนัด มีบางส่วนเป็นออฟฟิศเล็กๆ ก็มี

ช่างชุ่ย

เกมเปลี่ยน เบลนด์ครีเอทีฟแบบไม่ยัดเยียด

ตอนนี้ยุคที่ 2 ของช่างชุ่ยได้กำเนิดขึ้นแล้ว มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลก ถึงแม้ว่าจะมีตลาดนัดอยู่ทั่วกรุงเทพฯ แต่โอมาก็มองว่าเนื้อในมีความแตกต่างกัน ช่างชุ่ยก็ยังมีจุดแข็งของตัวเอง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง เทรนด์โลก เทคโน เรียนรู้ไปกับโลกใหม่

“ตอนนี้เริ่มบาลานซ์ได้มากขึ้น ช่างชุ่ยยังมีความครีเอทีฟ แต่ไม่ได้มุ่งเน้นเหมือนเดิม แต่เปิดกว้างขึ้น เริ่มมีงานดนตรีเข้ามา ก่อนหน้านี้เรามี Pain Point ที่ว่า ครีเอทีฟจ๋าๆ ไม่ได้เข้าถึงคนหมู่มากได้ เลยพยายามเอาสองอย่างมารวมกัน ทำอย่างไรให้คนมาเสพงานศิลป์โดยไม่ยัดเยียดเกินไป มากินข้าว แต่สอดแทรกงานครีเอทีฟได้ ลดกำแพงกลุ่มคนใช้ชีวิตปกติ กับคนสนใจงานศิลป์ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน”

ช่างชุ่ย

ทำให้ปัจจุบันช่างชุ่ยมีสัดส่วนร้านค้าในโครงการแบ่งเป็น ร้านอาหาร 40%, ร้านค้า 20%, ตลาด 20% และครีเอทีฟออฟฟิศ 20%

ตอนนี้ในช่างชุ่ยจะแบ่งเป็น 2 โซนใหญ่ๆ ส่วนพื้นที่สีเขียว กรีนโซน เน้นร้านค้า, คาเฟ่, บอร์ดเกม, คาเฟ่เกี่ยวกับสัตว์, ร้านกึ่งเอาต์ดอร์ มีกิจกรรมกรีนๆ สินค้าออร์แกนิก คอนเสิร์ต โฟล์กซอง และโซนส่วนกลาง กิจกรรมทุกอย่างอยู่ในโซนนี้

ในช่างชุ่ยจะไม่มีร้านค้า หรือร้านอาหารจากเชนใหญ่ๆ เข้ามา เพราะอยากให้พื้นที่คนตัวเล็กๆ ได้เฉิดฉาย เหมือนเป็นพื้นที่ซัพพอร์ตคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ ไม่ต้องการทุนนิยมมากนัก

ช่างชุ่ย

ปัจจุบันมีทราฟฟิกคนใช้บริการในวันศุกร์-อาทิตย์ 3,000-3,500 คน

สำหรับเป้าหมายในอนาคตของช่างชุ่ยนั้น จะเน้นขยายฐานผู้ใช้บริการ ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ฝั่งธนเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนทั้งประเทศ และคนจากทั่วโลกมาเยี่ยมเยือน ด้วยกลยุทธ์การเข้ามาใช้ชีวิต และสอดแทรกด้วยครีเอทีฟ เสริมด้วยกิจกรรมต่างๆ วิธีการนี้จะทำให้อยู่อย่างยั่งยืนได้

นอกจากการปั้นให้ช่างชุ่ยเป็นพื้นที่พักผ่อนของคนกรุงแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของช่างชุ่ยก็คือ การบริหาร “ธุรกิจครีเอทีฟ” ให้อยู่รอด ได้มีการปรับเปลี่ยนส่วนผสมต่างๆ ให้ลงตัว เพิ่มมูลค่า เพิ่มคุณค่าให้แก่สถานที่ ในที่สุดที่หลายคนมองว่าเป็น “ความบ้าบิ่น” ความสุดโต่งก็สามารถอยู่รอดได้ สุดท้ายคำนิยามของช่างชุ่ยอาจจะเป็นทั้ง ครีเอทีฟ พื้นที่สีเขียว ตลาดนัดในคราวเดียวกันได้