ผู้บริหารระดับสูงของ IMF ได้กล่าวในงานสัมมนาของธนาคารกลางแอฟริกาใต้โดยมองอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอาจอยู่สูงไปอีกระยะเวลาหนึ่ง และเงินเฟ้อที่เกิดจากปัญหา Supply Shock อาจเกิดได้มากขึ้น
Gita Gopinath รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวในงานสัมมนาของธนาคารกลางของแอฟริกาใต้ว่า อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอาจอยู่สูงไปอีกระยะเวลาหนึ่ง หลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
รองกรรมการผู้จัดการของ IMF ยังได้กล่าวเสริมว่าอัตราดอกเบี้ยอาจไม่กลับไปสู่ยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน โดยดูได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ล่าสุดให้ผลตอบแทนเกิน 4% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2008 เป็นต้นมา
การปรับตัวเพิ่มของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี มีผลมาจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
เธอยังมองว่าปัญหาอุปทานของสินค้าที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Supply Shock) อาจเกิดบ่อยมากขึ้น อาจส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เธอได้ชี้ถึงช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และอาจทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้ามาจัดการในปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัญหานี้แตกต่างกับในอดีตที่ผ่านมาที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ
นอกจากนี้รองกรรมการผู้จัดการของ IMF ยังกล่าวถึงภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomic) ที่เกิดเพิ่มมากขึ้นหลังจากการบุกยูเครนของรัสเซีย สิ่งที่เกิดขึ้นคือการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ นั้นเพิ่มมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้รองกรรมการผู้จัดการของ IMF หลังการแพร่ระบาดของโควิดรวมถึงการบุกยูเครนของรัสเซีย ประเทศต่างๆ ได้ตั้งกำแพงทางการค้าเพิ่มมากขึ้นถึง 3,000 มาตรการ มากกว่าในปี 2019 ถึง 3 เท่าด้วยกัน ขณะเดียวกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้รับแรงผลักดันมาจากปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงโลกที่มีการแยกตัวกันอย่างมาก
ปัจจัยการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับแรงผลักดันมาจากปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลทำให้บางประเทศได้ผลประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าว แต่บางประเทศกลับไม่ใช่เช่นนั้น ซึ่งผลกระทบดังกล่าวอาจกระทบได้มากถึง 10% ของ GDP เธอได้ยกกรณีของแอฟริกาใต้ว่าอาจกระทบ 5% ของ GDP ประเทศ
อย่างไรก็ดี เธอมองว่าธนาคารกลางของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาถือว่ามีความยืดหยุ่นด้านนโยบายการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอิสระของการควบคุมดูแลนโยบายการเงิน ความยืดหยุ่นในอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งนโยบายเหล่านี้ถือว่าดีขึ้นในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา