มิตรแท้! สหรัฐฯ เล็งช่วยธุรกิจ ‘หอยเชลล์’ ของญี่ปุ่น หลังถูก ‘จีน’ แบนการนำเข้าสินค้าประมง

นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเล ส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน, เกาหลีใต้ เลิกนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำญี่ปุ่น กําลังพิจารณาทํางานร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนธุรกิจ หอยเชลล์ ที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามนําเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นของ จีน หลังจากที่ปล่อย น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเล

และเนื่องจากการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นของจีน ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตหอยเชลล์ของญี่ปุ่น เนื่องจากต้องพึ่งพาโรงงานแปรรูปจากจีน ซึ่งมูลค่าการส่งออกหอยเชลล์ (ไม่รวมอาหารแปรรูป) ในปี 2565 อยู่ที่ 91 พันล้านเยน และในจำนวนนั้นได้มีการส่งออกไปยังประเทศจีนถึง 46.7 พันล้านเยน ขณะที่มูลค่าการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของญี่ปุ่นไปจีนในช่วงเดือนกรกฎาคม ลดลง 23.2% เหลือ 7.7 พันล้านเยน (52 ล้านดอลลาร์) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ มีแผนที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจหอยเชลล์ โดยจะจัดหาโรงงานคัดแยก บรรจุ และแปรรูป ที่จดทะเบียนโดยสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม เพื่อช่วยแปรรูปหอยเชลล์ญี่ปุ่น

ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนการปล่อยน้ําที่ผ่านการบําบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยสหรัฐฯ ได้ยืนยันว่า มีการดําเนินการอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ราห์ม เอ็มมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําญี่ปุ่น ยังได้แสดงการสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เช่น การเยี่ยมชมสหกรณ์ประมงในเมืองโซมา จังหวัดฟุกุชิมะ หลังจากเริ่มปล่อยน้ํา และได้วิจารณ์การห้ามนําเข้าอาหารทะเลของจีนว่าเป็น การตัดสินใจทางการเมือง 

ทั้งนี้ สาเหตุที่ญี่ปุ่นมีการส่งออกหอยเชลล์เป็นจำนวนมากไปยังประเทศจีน เนื่องจากงานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการเอาเปลือกหอยเชลล์ออกหากทำในญี่ปุ่นค่าแรงจะสูงกว่าประเทศอื่น ๆ และการคุ้มครองแรงงานก็ทำได้ยากเช่นกัน ด้วยเหตุผลนี้ผู้ค้าหอยเชลล์ในญี่ปุ่นจึงได้ส่งหอยเชลล์ทั้งเปลือกไปยังประเทศจีนเพื่อให้แรงงานในจีนเอาเปลือกออก โดยหอยเชลล์ที่ปอกเปลือกแล้วจะถูกบริโภคในประเทศจีนหรือส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ

Source