GROOV.store ร้านขาย Gadget ออนไลน์ในไทย กับเคล็ดลับขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

Positioning ได้พูดคุยกับ วีระวัฒน์ วีระประเสริฐศักดิ์ เจ้าของกิจการ GROOV.store ร้านขาย Gadget ออนไลน์ในไทย ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจที่เริ่มจากความชอบส่วนตัว หรือแม้แต่เคล็ดลับขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

ช่วงที่ผ่านมาความสำคัญของสินค้าประเภท Gadget ได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงของเล่นสำหรับคอไอที หรือผู้ที่ชื่นชอบเท่านั้น แต่ปัจจุบันสินค้าดังกล่าวได้สร้างประโยชน์ต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ไปจนถึงด้านความบันเทิง

วีระวัฒน์ วีระประเสริฐศักดิ์ ได้กล่าวถึงการเริ่มธุรกิจว่าเกิดจากความสนใจเฉพาะทาง โดยวีรวัฒน์มีพื้นฐานสนใจเรื่องเทคโนโลยี และตามอ่านนิตยสารต่างประเทศ ก่อนหน้านี้เขาได้ทำบริษัทเกมกับเพื่อน ในปี 2005 เขาได้เห็นบริษัทญี่ปุ่นอย่าง Sony ได้ผลิต iToy ออกมา ซึ่งใช้กล้องในการเล่นเกม ซึ่งเหมือนกับบริษัทเกมที่เขากำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งกล้องในสมัยนั้นยังมีคุณภาพไม่ได้ดีด้วยซ้ำ

เขายังได้กล่าวถึงการหาเทรนด์ของผู้บริโภคผ่านวารสารวิชาการ ที่มีงานวิจัยต่างๆ ว่ามีใครทำอะไรบ้าง รวมถึงความชอบส่วนตัวว่าเทรนด์อะไรที่น่าจะมาบ้าง ขณะเดียวกันก็ได้พบปัญหาว่าในประเทศไทยยังไม่มีใครนำสินค้าประเภท Gadget เข้ามาจำหน่ายในไทยมากนัก เลยได้ทดลองนำเข้าสินค้ามาลองใช้ก่อน และเริ่มขายสินค้าจำนวนน้อยก่อน

สำหรับสินค้าที่เขาวางขายแรกๆ แล้วได้เงิน คือ แบตเตอรี่สำรอง ซึ่งเขานำยี่ห้อ Eneloop ของ Panasonic เข้ามาขาย แล้วต่อมาจะเห็นว่าบริษัทจีนได้ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการก๊อปปี้สินค้าทั้งบริษัทจีนด้วยกันเอง เราจะเห็นว่าแบตเตอรีสำรองมีความสำคัญต่อใครหลายคน เนื่องจาก Smartphone สมัยนั้นไม่สามารถใช้งานได้ทั้งวัน ต่อมาเห็นว่าตลาดเริ่มมีคนนำเข้าสินค้าจำนวนมาก เลยเลิกนำเข้าสินค้าชนิดนี้

ต่อมาเขาได้นำเข้าสินค้าคือ AR Drone ของบริษัทที่มีชื่อว่า Parrot เป็นบริษัทจากฝรั่งเศส ซึ่งเขามองว่าสินค้านี้ตอบโจทย์ความฝันในวัยเด็กของเขา ซึ่งวีรวัฒน์ได้กล่าวว่าเขานำสินค้ามาขายด้วยความชอบส่วนตัวล้วนๆ จึงไม่ได้เร่งขยายธุรกิจไวมาก

เมื่อทำธุรกิจไปได้สักพัก เริ่มมี Partner ทางการค้าได้ส่งสินค้ามาให้ทดลอง หรือแม้แต่ให้เลือกสินค้าใหม่มาให้ทดลอง 

วีระวัฒน์ วีระประเสริฐศักดิ์ – เจ้าของ GROOV.store

สินค้าขายดีอย่าง Chromecast

เจ้าของ GROOV.store ได้กล่าวถึงกรณีของ Chromecast ของ Google ที่ขายดี โดยวีรวัฒน์ได้เล่าถึงสาเหตุที่ผลิตภัณฑ์ขายดี เพราะ Apple ได้ผลิต Apple TV ออกมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่มีราคาแพง แล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แล้วด้วยความที่ Apple ได้ล็อก Ecosystem ของตัวเองใน Apple TV จึงไม่ทำให้เกิดการใช้งานในวงกว้างเท่าไหร่ แต่พอ Google ได้เน้นขยายลูกค้าไปในวงกว้าง รวมถึงราคาของ Chromecast ซึ่งมีราคาถูกไม่เกิน 29 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือคิดเป็นเงินไทยไม่เกิน 1,000 บาท)

วีรวัฒน์มองว่าการที่ Google ได้ออก Chromecast มาน่าจะขายดีในวงกว้าง แต่คนขายสินค้าจะได้กำไรไม่มาก เขากล่าวว่าสินค้าดังกล่าวขายออกได้เรื่อยๆ แต่มีจุดพลิกผันที่ทำให้เขาเลิกขายสินค้าอย่าง Chromecast ก็คือ Operator โทรศัพท์มือถือเจ้าหนึ่งในไทยนำเข้ามาจำหน่ายจำนวนมากในราคาเท่ากัน นอกจากนี้การนำเข้า Chromecast ในตอนหลังยังต้องทำเรื่องขออนุญาตนำเข้ากับทาง กสทช. และต้องจ่ายภาษีและมีกระบวนการเพิ่มเติม

เขายังชี้ว่า Chromecast ยังทำให้ลูกค้าสะดวกในการฉายภาพขึ้นจอโทรทัศน์ แม้ว่าโทรทัศน์หลายรุ่นจะมีฟังก์ชันดังกล่าว แต่ความเสถียรนั้นสู้การซื้อกล่องหรือแม้แต่ซื้อ Chromecast มาต่อไม่ได้ด้วยซ้ำ

และยังมีจุดที่ทำให้สินค้าอย่าง Chromecast ขายดีคือเนื่องจากลูกค้ากลุ่มโรงแรมต้องการสินค้าประเภทนี้ในการติดตั้งพร้อมกับระบบทีวีในโรงแรม ซึ่งช่วยทำให้โรงแรมประหยัดค่าซ่อมบำรุงเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่โรงแรมเดินระบบสายเข้าโทรทัศน์ ทำให้มีการซื้อสินค้าจำนวนมาก

วีรวัฒน์มองว่าปัจจุบัน Google หันมาผลิต Chromecast ที่มี Google TV มาด้วยแทน เนื่องจากมองว่า Chromecast ตัวเดิมไม่ได้มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับบริษัทแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับรุ่นปัจจุบันที่สามารถเก็บเงินกับ Netflix หรือ Hulu ฯลฯ ถ้าอยากนำบริการของตัวเองมาอยู่บน Google TV

Chromecast ในยุคปัจจุบัน – ภาพจาก Unsplash

เจาะลูกค้ากลุ่ม Niche

วีรวัฒน์ยังได้กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าที่ได้โฟกัสคือกลุ่มลูกค้าที่เป็น Expat ทำงานในประเทศไทย ทำให้เขาได้ทำเว็บไซต์ ให้เป็นภาษาอังกฤษด้วย แตกต่างกับผู้เล่นรายอื่นๆ ที่เน้นทำเว็บไซต์เป็นภาษาไทยมากกว่า เขาให้เหตุผลว่าสินค้าหลายอย่างที่เขานำเข้ามาขายค่อนข้างเข้าใจยาก และลูกค้าหลายคนเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดีอยู่แล้ว

แต่เขาก็ชี้ว่าการทำเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษยังต้องการที่จะเจาะลูกค้าในกลุ่มละแวกเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ลาว เวียดนาม หรือสิงคโปร์ แต่ได้ลูกค้าเป็นจำนวนน้อยมาก แต่วิธีนี้เขาก็มองว่าเป็นความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เขาเคยลองเอาเว็บไซต์ที่เขาทำเป็นภาษาอังกฤษให้เพื่อนของเขาดูแล้วพบว่าส่วนใหญ่มองว่าเว็บไซต์เป็นของชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย

แต่ผลของการที่ลองทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ กลายเป็นว่าก่อนช่วงปี 2014 ลูกค้าชาวต่างชาติได้ซื้อสินค้าเป็นสัดส่วน 30-40% ของรายได้รวม ขณะที่ในช่วงรัฐประหารในปีเดียวกันนั่นเองลูกค้าได้หยุดซื้อสินค้าในเดือนพฤษภาคมไปถึง 2 สัปดาห์ (ซึ่งปัจจุบันรายได้กลับมาเหมือนเดิมแล้ว) และยังมีนักท่องเที่ยวรวมถึงชาวรัสเซียที่ลี้ภัยออกนอกประเทศมาอยู่ในไทยที่ซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ด้วย

เขายังได้กล่าวว่ายังมีลูกค้าในประเทศอย่างเช่น เนปาล มาซื้อสินค้าด้วย เนื่องจากในประเทศไม่มีสินค้าแนวนี้จำหน่าย

สินค้า Gadget ที่เกี่ยวกับเครื่องดนตรี – ภาพจาก GROOV.store

ขยายธุรกิจไปยังฮ่องกง เพราะที่ไทยเริ่มไม่เอื้ออำนวย

จุดเปลี่ยนอีกอย่างของวีระวัฒน์คือการขยายธุรกิจไปยังฮ่องกง เขาได้ให้เหตุผลว่าทำให้เจาะลูกค้าต่างประเทศได้มากกว่า เนื่องจากต้นทุนในการทำธุรกิจในประเทศไทยสูงกว่าจากเรื่องของภาษี หรือแม้แต่ค่านำเข้า (อากรสินค้า) ค่าขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทย แม้ว่าจะมีบริการขนส่งอย่าง E-Packet ก็ตาม ซึ่งแตกต่างกับฮ่องกง 

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้วีรวัฒน์ต้องขยายธุรกิจไปฮ่องกง เขาได้กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยไม่เหมาะกับการเป็น Hub ส่งสินค้า สำหรับประกอบการ SME จากการที่เขาได้เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว พม่า กัมพูชา บ่อยๆ ลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเองก็ไม่ได้มีเงินมาซื้อสินค้ามากเท่าไหร่นัก ขณะเดียวกันเขาก็กล่าวเสริมว่าผู้ประกอบการรายใหญ่มีข้อได้เปรียบในเรื่องเหล่านี้ที่มากกว่า 

วีระวัฒน์ยังได้กล่าวว่าลูกค้าของเขาเองก็ยังได้แนะนำเขาว่าควรจะสั่งสินค้าอะไรเข้ามาขายในไทยด้วย ซึ่งหลายครั้งเป็นหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานด้านการศึกษา และสินค้า Gadget เหล่านี้ได้ช่วยในเรื่องการพัฒนาคน หรือแม้แต่ไอเดีย

เขายังยกตัวอย่างหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย ได้สั่งสินค้าผ่านบริษัทของเขา เช่น Gadget ที่สแกนคลื่นสมอง ซึ่งมีหลายเกรดสินค้า ปัญหาการตีความด้านภาษี หรือแม้แต่การนำบริษัทเข้าไปขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่าง BOI เอง ถ้าหากมีบริษัทเดิมอยู่แล้วก็เป็นเรื่องยุ่งยาก ซึ่งการไปจดทะเบียนบริษัทใหม่แล้วขอสิทธิ์ BOI กลายเป็นว่าสามารถทำได้ง่ายกว่า

ขณะเดียวกันเขาก็ชี้ว่าการจดทะเบียน หรือข้อกฎหมายในต่างประเทศ ถือว่าเข้าใจได้ง่ายมากกว่า นอกจากนี้การจดทะเบียนหลายบริษัทในประเทศไทยเองก็ยังมีค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะด้านบัญชี ซึ่งไม่เหมาะกับ ธุรกิจ SME อย่างที่เขาทำเท่าไหร่นัก

เขายังมองว่าการนำสินค้า Gadget หลายอย่างเข้ามา ควรจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยซ้ำ

สินค้า Gadget ที่ทางร้านได้จำหน่าย – ภาพจาก GROOV.store

เมื่อต้องขยายธุรกิจไปนิวซีแลนด์

วีระวัฒน์ ได้กล่าวว่าการขยายธุรกิจไปยังประเทศนิวซีแลนด์เนื่องจาก ตอนแรกตัวเขาตั้งใจที่จะมาเที่ยวเท่านั้น ขณะเดียวกันเกิดการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2020 ทำให้เขาไม่สามารถกลับไปยังประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดีเขาไม่สามารถทำธุรกิจได้เนื่องจากมีวีซ่านักท่องเที่ยว จนกระทั่งเขาขอวีซ่าที่สามารถทำธุรกิจในประเทศได้ เลยตั้งใจที่จะขยายกิจการในประเทศนิวซีแลนด์ในท้ายที่สุด

ในการเริ่มต้นทำธุรกิจที่นิวซีแลนด์ เขากล่าวว่า ได้เริ่มนำสินค้าเข้ามาจำนวนน้อยๆ และคิดว่าเป็นสินค้าที่น่าจะขายดี แม้ว่าในปีแรกที่ทำธุรกิจในนิวซีแลนด์เขามองว่าตลาดมีแต่ผู้เล่นเจ้าใหญ่ และกฎหมายของนิวซีแลนด์ก็คุ้มครองผู้บริโภค ทำให้การนำเข้าสินค้าแล้วมาวางจำหน่ายนั้นยุ่งยากกว่าการเป็นตัวแทนจำหน่าย ทำให้ SME อย่างเขาจะใช้กลยุทธ์เดิมเหมือนในประเทศไทยไม่ได้

นอกจากนี้สินค้าไหนที่ไม่แน่ใจว่าจะขายดีหรือไม่ก็ทดลองขายจำนวนน้อยๆ ดูก่อนว่ากระแสตอบรับดีหรือไม่ และค่อยๆ ศึกษาตลาดในประเทศนี้แบบไม่รีบร้อน รวมถึงติดต่อพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตสินค้า Gadget ว่าจะวางขายสินค้าที่นิวซีแลนด์ เพื่อที่จะเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าอย่างเป็นทางการ

วีรวัฒน์กล่าวเสริมว่า เขาเปิดกิจการในประเทศนิวซีแลนด์ยังเป็นช่วงเวลาที่สินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเป็นตลาดขาขึ้น ทำให้คนที่สนใจสินค้าประเภท Gadget ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และลูกค้าในนิวซีแลนด์มีกำลังซื้อในช่วงเวลาดังกล่าวมากกว่าเดิม เป็นแรงหนุนในการทำกิจการต่อไปได้

เขายังชี้ว่าระบบภาษีที่นิวซีแลนด์ยังถือว่าเข้าใจง่ายกว่า โดยตีภาษีจากราคามูลค่าสินค้า ถ้าหากไม่เกิน 1,000 นิวซีแลนด์ดอลลาร์ ไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า 15% และอัตราภาษีดังกล่าวยังทำให้ผู้ประกอบการสามารถคำนวณต้นทุนได้อย่างสะดวก เมื่อเทียบกับที่ไทยที่อากรสินค้านำเข้าแต่ละชนิดมีอัตราภาษีต่างกันไป ส่งผลทำให้ราคาสินค้าเมื่อรวมต้นทุนทุกอย่างแล้วแพงกว่า ซึ่งถ้าหากตั้งราคาสินค้าถูกเกินไป กิจการก็จะอยู่รอดไม่ได้

ข้อแนะนำสำหรับ SME ไทยอยากขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

เจ้าของกิจการ GROOV.store ได้แนะนำ SME ที่ต้องการเปิดกิจการหรือทำธุรกิจกับต่างประเทศว่าควรที่จะไปสำรวจตลาดด้วยตัวเองหลายๆ ครั้ง ว่า บ้านเมืองแต่ละที่เป็นอย่างไร สังคมแต่ละที่เป็นอย่างไร พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเวลาซื้อสินค้า

เขาแนะนำอีกหนึ่งวิธีการคือหรือไม่ก็ต้องซื้อข้อมูลวิจัย (Market Research) เพื่อที่จะได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง เขาได้ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดที่นิวซีแลนด์ว่าการซื้อสินค้าของคนที่นี่ไม่ได้เหมือนกับคนไทย วิธีคิดคนละแบบกัน ขณะที่ฮ่องกง วีรวัฒน์ มองว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะคล้ายกับคนไทยมากกว่า เนื่องจากฮ่องกงนั้น เดินไปทางไหนก็มีแต่ร้านค้าเต็มไปหมด แต่เขาก็ยอมรับว่ายังเจาะตาดฮ่องกงยังไม่ดีนัก ส่วนใหญ่สินค้าที่ขายได้มักจะมีลูกค้าที่ซื้อเหมาสินค้าจำนวนมาก 

หรือไม่ เขาก็ได้แนะนำให้ลองลงโฆษณาตาม Social Media แบบเล็กๆ น้อยๆ ดูก่อนเพื่อหยั่งเชิงว่าได้ผลอย่างไร

เขายังทิ้งท้ายว่าเป้าหมายสูงสุดคือการผลิตสินค้าของตัวเอง แม้ว่าอายุจะเริ่มเยอะแล้วก็ตาม ถ้าหากวันนึงมีโอกาสเขาก็จะทำ แต่เขาก็ย้ำว่าต้องลองทำก่อน แล้วค่อยหาแนวทางด้านธุรกิจว่าจะทำยังไงต่อ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง