จับตา “New Luxe” ลูกค้าห้างฯ หรู 2012

ศูนย์การค้าเกษร ค้าปลีกหรู ปรับตัวรับลูกค้าคลื่นหรูลูกใหม่ “New Luxe” เป็นเทรนด์สำคัญในปี 2012 ที่มาพร้อมกับทรัพย์สินอันมั่งคั่งของพ่อแม่ และนิยมชมชอบไลฟ์สไตล์เก๋ๆ แปลกและแตกต่าง  

สาธิมา ทานาเบ้ รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท เกษร แลนด์ แอสเซท แมนเนจเม้นท์ จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ POSITIONING ถึงพฤติกรรมลูกค้าและแนวทางการรับมือในปี 2012 

โดยศูนย์การค้าเกษร ผู้นำในตลาดค้าปลีกที่เน้นสินค้าแบรนด์เนมหรู แบ่งผู้บริโภคออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 290s และ New Luxe จากการสำรวจวิจัยผู้บริโภคของศูนย์การค้าเกษรเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อทราบถึงขนาดของตลาดสินค้าแบรนด์เนมหรูในกรุงเทพฯ และนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการตลาดและเลือกช่องทางในการซื้อสื่อได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น 

290s ข้อมูลที่ได้ในครั้งนั้นพบว่ามีครอบครัวที่มีรายได้ 70,000 บาทต่อคนต่อเดือน มีอยู่ 290,000 ครัวเรือนในกรุงเทพฯ จึงเป็นที่มาของชื่อกลุ่มลูกค้า 290s (ปัจจุบันเธอคาดการณ์ว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 400,000-500,000 ครัวเรือนแล้ว) 

กลุ่มนี้ยังแบ่งออกได้เป็น Family Name ตระกูลเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง และ Old Chinese Family เป็นกลุ่มลูกค้ายุคบุกเบิกของเกษร เป็นเถ้าแก่ เจ้าของกิจการ เจ้าของโรงงาน หลายรายทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์-ก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร พวกเขามีเวลาว่างเพราะที่ผ่านมาทำงานหนักจนร่ำรวย ชอบสังสรรค์กับเพื่อนฝูงและมีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าหรูแก่กัน 

“เป็น Brand Oriented ชอบแบรนด์หรูที่แกรนด์ๆ เอยชื่อมาแล้วรู้เลย เป็นแบรนด์ที่เขาเชื่อมั่นในคุณภาพ ต้องการให้รางวัลกับตัวเองเพราะเขาทำงานหนักมาทั้งชีวิต”

ดังนั้น กลุ่มนี้จึงโปรด LOUIS  VUITTON, CHANEL และ HERMES มาก หลายคนจึงได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกไดมอนด์ของเกษรซึ่งมีอยู่ราว 1,000 คน 

“พวกเขาต้องการการจดจำได้ ดังนั้นพนักงานทุกคนในศูนย์ฯจะต้องจำหน้า จำชื่อได้ แต่ถ้าจำชื่อไม่ได้ต้องมีวิธีพูด ที่รถจะมีสติ๊กเกอร์บอกว่าเขาเป็นลูกค้าไดมอนด์ พนักงานก็จะวอบอกกันว่าลูกค้าวีไอพีมาแล้ว และให้การต้อนรับเป็นพิเศษ และมีการสอนวิธีการพูดคุยให้กับพนักงาน เช่น วันนี้คุณผู้หญิงมาทำอะไรคะ สื่อความหมายว่าเขาเคยมาก่อนแล้วและเราใส่ใจ จดจำเขาได้”

New Luxe แบ่งออกเป็น ทายาทหรือลูกของ Old Money แตกต่างจากพ่อแม่อย่างสิ้นเชิง พฤติกรรมการช้อปปิ้งไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นทายาทนักธุรกิจ จบจากเมืองนอก มีมุมมองแบบสากล เพราะมีประสบการณ์สัมผัสต่างประเทศมาแล้วทั้งนั้น ในขณะที่พ่อแม่อาจจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วยซ้ำ อาจทำงานบริษัทมาไม่เกิน 5 ปี เป็น First Jobber เงินเดือนไม่ได้สูงมาก แต่พื้นฐานครอบครัวร่ำรวย 

อีกกลุ่มคือ Professional เป็นนักบริหารมืออาชีพ มี Young Family ชอบงานดีไซน์และคุณภาพ ต้องการสินค้าหรูที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดี เพราะเขากำลังเติบโตในหน้าที่การงาน และกลุ่มสุดท้ายคือ SMEs Owner อาจหมายถึงทายาทธุรกิจที่ไม่ต้องการทำธุรกิจของครอบครัว แต่ตั้งบริษัทเอง กล้าที่จะเสี่ยงและไม่อยากจะทำงานเป็นลูกจ้าง 

“ประมาณว่าพ่อแม่รวย ส่งลูกเรียนเซนต์ มาร์ติน จบมาก็ต้องเปิดร้านแฟชั่น หรือสมัยนี้นิยมเปิดร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ เจ๊งก็เจ๊ง ไม่แคร์อะไร แต่ขอให้ได้ลอง”

“New Luxe เป็นคนหัวสมัยใหม่ มั่นใจในตัวเอง กล้าเสี่ยงกล้าลอง ชอบศิลปะและดนตรี เวลาเลือกแบรนด์จะมีมุมมองแบบ Art&Design Oriented เลย ต้องเท่ ต้องแปลก คุณภาพรองลงมา ให้ถือกระเป๋าเหมือนแม่นี่ จะไม่สามารถยอมรับได้เลย ชอบแบรนด์ Young Designer ซึ่งเขามองว่าฮอตมากๆ และแบรนด์หรูเก๋ๆ แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ก็สนใจนะแต่อาจยังไม่อยู่ในขอบเขตการบริโภคของเขา บางวันอาจไม่มีเงินติดตัว แต่ไม่จนนะ”

กลุ่ม New Luxe จึงเลือกที่จะซื้อ PRADA, GUCCI, MARC JACOBS และ Cloe เป็นต้น ขณะที่แบรนด์ใหญ่ๆ ก็เริ่มแตกไลน์สินค้าที่มีสีสันออกมาดึงดูดกลุ่มนี้มากขึ้นเช่นกัน

 

ค้าปลีกหรูปรับทัพรับ New Luxe

สำหรับปี 2012 กลุ่มที่น่าจับตาและท้าทายมากที่สุดคือ New Luxe เพราะสำคัญต่อการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ เนื่องจากกลุ่ม 290s เริ่มใช้จ่ายเพื่อสินค้าหรูน้อยลง แต่จะหันไปดูแลสุขภาพและการท่องเที่ยวแทน แม้ปัจจุบันกลุ่มคลื่นหรูลูกใหม่จะมีสัดส่วน 40% ของลูกค้าเกษร แต่ในอนาคตจะกลายเป็นกลุ่มหลัก เพราะเป็น Influencer และ Opinion Leader ของสังคมอย่างแท้จริง 

สาธิมาบอกว่าจุดอ่อนของเกษร คือยังมีร้านอาหารในสัดส่วนน้อย เพียง 8% ของร้านทั้งหมด ไม่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์แฮงเอาต์ของกลุ่ม Young Hip ได้เพียงพอ จึงเตรียมเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% ขณะที่ Old Rich เป็นกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่นของเกษรแล้ว แต่ยังขาดมิติของ Young Personality ที่จะช่วยทำให้เกษรมีสีสันและกระชุ่มกระชวยมากขึ้น 

ดังนั้นจึงต้องมีการรีวิวพื้นที่เช่าใหม่ เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มนี้มากขึ้น ขณะที่การมีมัลติแบรนด์ สโตร์ อย่าง Clound 9 ที่รวบรวมแบรนด์ดังๆ ที่ New Luxe ชื่นชอบ ก็เป็นทางออกที่ดี เพราะข้อเสียของแบรนด์ใหม่ๆ คือ หากไม่แน่จริง อาจจะอยู่ได้ไม่นาน หรือมาตามกระแสแล้วก็ไปเร็ว  

ขณะเดียวกันก็เตรียมว่าจ้างดิจิตอล เอเยนซี่ในการวางแผนสื่อในช่องทางดิจิตอลโดยเฉพาะ รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากต้องการที่จะรุกหนักเพื่อเข้าถึงกลุ่ม New Luxe อย่างจริงจัง หลังจากที่ผ่านมาเกสรดำเนินการซื้อสื่อทุกประเภทเอง โดยจะเน้นหนักไปที่สื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก และใช้งบมีเดียในสื่อดิจิตอลเพียง 10% ของงบซื้อสื่อทั้งหมดเท่านั้น