งานคือเงิน แต่บางคนก็อาจต้องใช้เงินเพื่อรักษาสุขภาพที่เสียเพราะงาน องค์กรเองก็จะได้รับผลเสียหากพนักงานทำงานไม่เต็มที่ และดูเหมือนพนักงานในภูมิภาคเอเชียจะอยู่ภายใต้ “ความเครียดด้านสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญ” โดย 82% มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะ เกิดปัญหาสุขภาพจิต
ตามรายงานฉบับใหม่จากบริษัท Aon บริษัทโบรกเกอร์ประกัน และ TELUS Health บริษัทด้านการประกัน ที่ทำการสำรวจในเดือนพ.ย. 2022 โดยทำการสำรวจพนักงาน 13,000 รายใน 12 ประเทศ พบว่า พนักงาน 51% รู้สึกอ่อนไหวต่อความเครียดมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2021 และ 35% ของพนักงานในเอเชียมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูง และ 47% มีความเสี่ยงปานกลาง
“แม้ว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงในปี 2022 แต่พนักงานทั่วเอเชียต้องเผชิญกับความเครียดใหม่ ๆ หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความท้าทายด้านค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เจมี แมคเลนแนน รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ TELUS Health กล่าว
โดย 12 ประเทศ ในเอเชียที่พนักงานมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงสูงที่สุด ได้แก่
- เกาหลีใต้ (44%)
- มาเลเซีย (42%)
- ญี่ปุ่น (41%)
- ฮ่องกง (40%)
- จีน (39%)
- อินเดีย (39%)
- เวียดนาม (35%)
- ไต้หวัน (35%)
- สิงคโปร์ (34%)
- ฟิลิปปินส์ (31%)
- ไทย (29%)
- อินโดนีเซีย (17%)
“ปัญหาทางจิตหรืออารมณ์ รวมถึงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหมู่พนักงานทุกระดับและในทุกอุตสาหกรรมที่ทำการสำรวจและทุกพื้นที่ทั่วเอเชีย”
จากภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ส่งผลให้พนักงานเอเชียมีความเสี่ยงต่อประสิทธิภาพการทำงานต่ำอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ ของโลก โดยภูมิภาคเอเชียมีคะแนนประสิทธิภาพการทำงานอยู่ที่ 47.2 จาก 100 คะแนน เทียบกับ 66.7 สำหรับสหรัฐอเมริกาและ 60.1 สำหรับยุโรป
“ตัวเลขเหล่านี้ได้รับแรงผลักดันจากปัจจัยหลายประการ โดยเริ่มจากข้อเท็จจริงที่ว่าเอเชียมีระดับความเครียดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตในระดับที่สูงกว่ามาก และผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งกล่าวว่าพวกเขาจะกังวลเกี่ยวกับทางเลือกอาชีพที่ถูกจำกัด หากพวกเขามีปัญหาสุขภาพจิต”
นอกจากนี้ รายงานยังพบว่า 45% ของพนักงานในเอเชียเชื่อว่าสุขภาพจิตของตนกำลังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานในที่ทำงาน และจากการศึกษาล่าสุดจากสิงคโปร์พบว่า ผู้ที่มีความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าส่งผลให้ประสิทธิผลในการทำงานของพนักงานลดน้อยลง โดยส่งผลให้เกิดการ ขาดงานเพิ่มอีก 17.7 วันต่อปี คาดว่าจะ สร้างความเสียหาย ให้กับสิงคโปร์เกือบ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์
ดังนั้น การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กร เพราะนอกจากพนักงานจะสามารถทำงานด้วยสุขภาพจิตที่ดีเเล้ว สิ่งที่องค์กรจะได้รับกลับก็คือ ผลงานที่ดี คืนให้กับองค์กร