12 ปีที่แพลตฟอร์ม ไลน์ (LINE) ให้บริการในประเทศไทย จนปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 54 ล้านแอคเคาท์ และจากจุดเริ่มต้นเป็น แชทแอปฯ ปัจจุบันไลน์ได้เข้าไปอยู่เกือบทุกการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน ทั้งเพย์เมนต์, การสั่งอาหาร, บริการเรียกรถ ฯลฯ แต่ที่น่าสนใจคือ ในปี 2023-2024 นี้ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย ประกาศว่า ฟีเจอร์ แชท โดยเฉพาะ ไลน์กรุ๊ป จะถูกอัพเกรดให้ดีขึ้นในช่วงปี 2023-2024 นี้
ไทยมีไลน์กรุ๊ปกว่า 10 ล้านกลุ่ม
หนึ่งในฟีเจอร์ที่มีมานานของไลน์ก็คือ Group Chat หรือ ไลน์กลุ่ม ที่คนไทยใช้กันจนคุ้นเคยดีอยู่เเล้ว โดย นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ได้เล่าว่า ปัจจุบันกรุ๊ปไลน์ที่แอคทีฟในไทยมีสูงถึง 10 ล้านกลุ่ม เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเติบโตถึง +56% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยหมวดหมู่ยอดนิยม ได้แก่
- กลุ่มเพื่อน 82%
- ครอบครัว 80%
- กลุ่มงาน 77%
- โรงเรียน 27%
อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยเเล้ว กลุ่มงาน เป็นกลุ่มที่ผู้ใช้มีมากที่สุดเฉลี่ย 9 กลุ่ม/คน ตามด้วย
- กลุ่มเพื่อน 7 กลุ่ม/คน
- กลุ่มของนักเรียน, นักศึกษา 5 กลุ่ม/คน
- กลุ่มครอบครัว 4 กลุ่ม/คน
อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยมีการส่งไฟล์ต่าง ๆ มากกว่าในหลายประเทศ โดย
- ไฟล์รูปภาพ +68%
- ไฟล์งาน (PDF, Word) +67%
- ไฟล์เสียง +33%
- ไฟล์วิดีโอ +21%
“ต้องยอมรับว่าในช่วงปี 1990-2010 คนอาจใช้อีเมลในการติดต่อการทำงาน เเต่ปัจจุบันไลน์กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้ทำงาน เพราะใช้ง่ายและสื่อสารได้เรียลไทม์”
ขณะที่ กลุ่มผู้ใช้ Group Chat มีทุกเจเนอเรชั่น ได้แก่
- 15 – 19 ปี (45%)
- 20 – 29 ปี (31%)
- 30 – 39 ปี (32%)
- 40 – 44 ปี (33%)
- 45 – 49 ปี (34%)
- 50+ ปี (37%)
ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มก็จะมีช่วงอายุผู้ใช้ที่แตกต่างกันไป อาทิ กลุ่มงานผู้ใช้หลักจะเป็นช่วงอายุ 25-49 ปี แต่ที่แอคทีฟมากสุดเป็นช่วงอายุ 35-39 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เป็นระดับซีเนียร์ของบริษัทที่ต้องคอยตามงาน ส่วนกลุ่มครอบครัวผู้ใช้ที่แอคทีฟมากสุดจะเป็นผู้สูงอายุและเด็ก
เตรียมพบฟีเจอร์ใหม่ในไลน์กลุ่มปีหน้า
ด้วยความที่คนไทยมีการประยุกต์ใช้ไลน์กลุ่มในหลายบทบาทการใช้ชีวิต ดังนั้น ในปี 2023-2024 จากนี้ ทีมงานไลน์ก็จะมุ่งไปที่ฟีเจอร์ใหม่สำหรับไลน์กรุ๊ป ซึ่งจะเป็นการเดเวลอปโดยทีมงานไทย สำหรับใช้ในไทย ซึ่งจะได้เห็นกันในปีหน้า
เบื้องต้น อาจจะมีฟีเจอร์ที่ช่วยในการฟีเจอร์ นัดหมาย ฟีเจอร์ คำนวณการแชร์ค่าอาหาร ที่จะเหมาะกับกลุ่มเพื่อน หรือในส่วนของการทำงานก็จะมีการ ยืดอายุการเก็บไฟล์, การบริหารจัดการโฟลเดอร์ เป็นต้น
“เราจะเน้นพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ให้เกิดสมดุลในการทำงาน การใช้ชีวิตและครอบครัวไปพร้อมกัน บางโซลูชันอาจมีลักษณะเป็น B2B2C ที่องค์กรอาจต้องซื้อเพื่อให้พนักงานใช้”
ไลน์สติกเกอร์แบบซับสคริปชั่นใช้ไม่อั้น
ในส่วนของ ไลน์สติกเกอร์ (LINE STICKERS) ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หลักให้กับไลน์ โดยปัจจุบัน ผู้ใช้ไลน์จะมีสติกเกอร์เฉลี่ยประมาณ 5 ชุด/คน ล่าสุด ไลน์ก็ได้เปิดตัว LINE STICKERS Premium ที่เป็นรูปแบบซับสคริปชั่นโมเดล สามารถใช้สติกเกอร์ได้ไม่อั้นจากทั้งหมด 9 ล้านเซต แต่จะใช้ได้เฉพาะสติกเกอร์ที่วางจำหน่ายแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
โดย LINE STICKERS Premium จะแบ่งเป็น 2 แพ็กเกจ ได้แก่
- Basic ราคา 69 บาท/เดือน หรือ 699 บาท/ปี เลือกสติกเกอร์ใช้งานได้สูงสุดรวมไม่เกิน 5 เซ็ต สับเปลี่ยนเข้าออกได้ตลอดเวลา
- Deluxe ราคา 139 บาท/เดือน หรือ 1,300 บาท/ปี นอกจากใช้สติกเกอร์แล้ว ยังสามารถใช้งานธีมกว่า 1.5 ล้านแบบ และอีโมจิอีก 120,000 อีโมจิ แบบไม่จำกัดจำนวน
รัฐธีร์ ฉัตรดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโฆษณา อธิบายว่า หนึ่งในสาเหตุที่ไลน์เพิ่มโมเดล Subscription เป็นเพราะ พฤติกรรมการใช้งานของ คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z ที่ คุ้นชินกับบริการแบบ Subscription มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการ เพิ่มโอกาสให้ครีเอเตอร์ เนื่องจากผู้ใช้มีโอกาสที่จะได้ลองใช้งานสติกเกอร์ได้มากขึ้น ทำให้สามารถกระจายรายได้ไปสู่ครีเอเตอร์ได้ดีขึ้น โดยสติกเกอร์เซตไหนถูกใช้ รายได้ก็จะแบ่งให้กับครีเอเตอร์คนนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม ทางไลน์ไม่ได้มองว่าโมเดล Subscription จะทำให้รายได้จากไลน์สติกเกอร์เพิ่มมากขึ้น แต่จะทำให้ รายได้มีความเสถียร ไม่ต้องรอขายสติกเกอร์เป็นเชต ๆ แบบเดิม
“ราคาเริ่มต้น 69 บาท ซึ่งมันไม่ต่างจากซื้อสติกเกอร์เป็นเซตมาก เราเลยไม่ได้คาดหวังว่ารายได้จากสติกเกอร์จะเติบโตมากขึ้น แต่มันจะเสถียรมากขึ้น”
เปิด Open Platform ให้เดเวลอปเปอร์ Plug-In สร้างรายได้
วีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ได้เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปี จากนี้ LINE จะมุ่งสู่การเป็น แพลตฟอร์มเปิด ให้องค์กรรัฐ เอกชน หรือเดเวลอปเปอร์ สามารถเข้ามา Plug-In เพื่อสร้างบริการและโซลูชันที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานทั้งภาค ธุรกิจ พันธมิตรของไลน์ และผู้ใช้งานทั่วไป ผ่าน 4 กลยุทธ์ ได้แก่
- Extensive Plug-Ins เปิดการเชื่อมต่อกับระบบหรือโซลูชันอื่น ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งโซลูชันที่คิดค้นเพิ่มเติมโดยไลน์เอง และระบบที่พาร์ตเนอร์หรือนักพัฒนาทั่วไปได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ชาวไทยในมิติที่กว้างและลึกขึ้น
- Data Utilization ส่งเสริมให้พันธมิตรและนักพัฒนาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างไร้รอยต่อ นำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแท้จริง
- Performance Marketing เพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดบนแพลตฟอร์ม ด้วยศักยภาพการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลที่แข็งแกร่งขึ้น สร้างการเติบโตให้ภาคธุรกิจผ่านโซลูชันต่าง ๆ ของ LINE ได้อย่างยั่งยืน
- Privacy Focused คงไว้ซึ่งการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ไลน์ได้วาง 3 โรดแมป ยกระดับเทคโนโลยี ได้แก่
- Customer Data Tools เพิ่มขีดความสามารถในจัดการข้อมูลลูกค้าผ่านเครื่องมือ MyCustomer ในการเก็บรวบรวม 1st Party Data ของผู้บริโภค โดยให้อำนาจร้านค้าในการเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้มากกว่าที่เคย โดยมีแผนการเปิดตัว MyCustomer สำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อย (SME) และในอนาคต สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการทำ CRM โดยเฉพาะ
- Ads Improvement ปรับปรุงเครื่องมือสำหรับการโฆษณาบน LINE ให้สามารถวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้ข้อมูลที่แบรนด์ได้มาเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่ม Segment ในการหากลุ่มเป้าหมายผ่าน Persona Targeting ให้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และการเปิดให้ภาคธุรกิจ ร้านค้า สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคบน LINE SHOPPING มาวิเคราะห์แบ่งกลุ่ม เพื่อการยิงโฆษณาผ่าน LINE ADS ได้แม่นยำและครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
- API & Plug-In เปิดขยายการเชื่อมต่อ API ให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์เฉพาะด้านได้อย่างครอบคลุมขึ้น อาทิ LINE SHOPPING API, Messaging API รวมถึงแผนการเปิดตัว LINE OA Plus Plug-in Store แหล่งรวมโซลูชันสำหรับนักพัฒนานอกองค์กร LINE ในการนำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ และยังเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการมองหาโซลูชันให้ตรงกับความต้องการ
“เรามองว่าไลน์คนเดียวไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาให้กับลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์ได้ทุกเรื่อง ดังนั้น หากมี Plug-In ที่ตอบโจทย์ได้ เราก็จะเติบโตได้เร็วขึ้น ดีขึ้น ส่วนเดเวลอปเปอร์ก็จะมีรายได้จากเรเวอร์นิวแชร์ริ่ง หรือในอนาคตอาจจะมีผลตอบเเทนรูปแบบอื่น ๆ ที่เดเวลอปเปอร์จะคุ้มต่าแน่นอน” วีระ ทิ้งท้าย