บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือกังวลเศรษฐกิจไทยโตไม่ได้ตามเป้า มีสิทธิ์เสี่ยงโดนปรับลดอันดับ

ภาพจาก Unsplash
S&P Global Ratings และ Moody’s รวมถึง Fitch Ratings ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยโดยกังวลถึงภาระหนี้ในอนาคตที่เพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายรัฐบาล และถ้าหากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถโตตามที่คาด ก็มีความเสี่ยงที่บริษัทเหล่านี้อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็น S&P Global Ratings, Moody’s หรือแม้แต่ Fitch Ratings ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยหลังจากรัฐบาลที่เตรียมจะออกนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งใช้งบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการแจกจ่ายเม็ดเงินก้อนดังกล่าวให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท สามารถใช้งานได้ 6 เดือน

ความกังวลหลักของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่อเศรษฐกิจไทยคือสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทย ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นต่อจากนี้ ถ้าหากเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าที่คาด อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือได้

โดยมุมมองของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะเป็น

Moody’s

Grace Lim นักวิเคราะห์จาก Moody’s มองว่า มาตรการทางการคลังใหม่ของรัฐบาลนี้จะส่งผลให้การขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับแผนที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันมาตรการทางการคลังของงบประมาณประจำปี 2567 ยังขัดขวางไม่ให้แผนที่จะสร้างงบประมาณโดยมีพื้นที่ทางการคลังขึ้นมาใหม่ (ใช้งบแบบขาดดุลลดลง เป็นงบแบบสมดุลขึ้น)

นักวิเคราะห์รายนี้ยังมองว่า อย่างไรก็ดีในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ภาคการคลังระยะกลางของรัฐบาลนี้ หากรัฐบาลวางแผนที่จะดำเนินการขาดดุลการคลังมากเกินไปจนส่งผลให้หนี้รัฐบาลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง สิ่งนี้จะเป็นแรงกดดันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย

S&P Global Ratings

Andrew Wood นักวิเคราะห์จาก S&P Global Ratings ได้ให้มุมมองผ่านบทวิเคราะห์ว่า มาตรการกระตุ้นทางการคลังที่รัฐบาลได้วางแผนไว้ เช่น โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อาจส่งผลให้รัฐบาลเพิ่มหนี้ได้เร็วขึ้นในปีงบประมาณปัจจุบัน ขณะเดียวกันถ้าหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง อาจสร้างแรงกดดันต่ออันดับความน่าเชื่อถือได้

ปัจจุบันทาง S&P Global Ratings คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.8% ในปี 2023 ก่อนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% ในปี 2024 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวและความเชื่อมั่นในการลงทุนเริ่มได้รับการสนับสนุนมากขึ้นหลังจากการจัดตั้งรัฐบาล

Fitch Ratings

George Xu และ Thomas Rookmaaker นักวิเคราะห์ของ Fitch Ratings ได้มองความเสี่ยงที่สำคัญในแง่ของการเงินสาธารณะ ได้แก่ การไม่สามารถรักษาเสถียรภาพอัตราส่วนหนี้สาธารณะของรัฐบาล เช่น เนื่องจากงบประมาณการคลังตกต่ำเป็นเวลานาน แรงกดดันด้านการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ Fitch Ratings ยังมองว่า หากความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นจะกลับมาในระดับที่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยและแนวโน้มการเติบโตของประเทศไทย หรือส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ก็อาจทำให้อันดับเครดิตติดลบได้”

ไม่เพียงเท่านี้รายงานของ Fitch ในวันที่ 5 กันยายน มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีความทนทานต่อปัจจัยภายนอก ถ้าหากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ และยังมองว่ามาตรการของรัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตระยะสั้น แม้ว่าจะสร้างแรงกดดันต่อหนี้ภาครัฐสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ GDP ไทย ยกเว้นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อไปได้

ที่มา – Bloomberg