“โค้ก” เปลี่ยนมาใช้ “พลาสติกรีไซเคิล” (rPET) ผลิตขวด ประเดิมในกลุ่ม “1 ลิตร” วางจำหน่ายทั่วไทย

โค้ก rPET
ตั้งแต่วันนี้ “โค้ก” ขวดพลาสติกขนาด 1 ลิตร จะเปลี่ยนมาใช้ขวด “rPET” หรือขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ทั้งหมด (*ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเฉพาะส่วนตัวขวด ไม่รวมฝาและฉลาก) วางจำหน่ายทั่วประเทศ

“ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศ ‘ก้าวแรก’ ของโคคา-โคล่าในไทยที่เปลี่ยนมาใช้ขวดทำจากพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET ในบางไลน์ผลิตภัณฑ์

โดยก้าวแรกนี้จะเปลี่ยนมาใช้ขวด rPET ในไลน์ผลิตภัณฑ์ “โค้ก” รสออริจินอลและรสไม่มีน้ำตาล เฉพาะสินค้าขนาด “1 ลิตร” ก่อน แต่เป็นการเปลี่ยนทั้งไลน์การผลิตของขวด 1 ลิตร และส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ

rPET โค้ก
“โค้ก” ขวด 1 ลิตร ที่เปลี่ยนมาใช้ขวดผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล

ศรุตขอสงวนข้อมูลด้านจำนวนการจำหน่ายโค้กขวด 1 ลิตรในแต่ละปี และบอกกว้างๆ ว่าเหตุที่เลือกเริ่มต้นใช้ rPET ในกลุ่ม 1 ลิตรก่อน มาจากการพิจารณา ‘หลายด้าน’ ประกอบกัน

อย่างไรก็ตาม เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าขวด 1 ลิตรไม่ใช่ขนาดสินค้าที่ขายดีที่สุดของโค้ก การเลือกผลิตในกลุ่มนี้ก่อนจึงเป็นเหมือนการทดลองตลาดของโคคา-โคล่า เพราะต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังมีหลายคนไม่มั่นใจในขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลแบบผ่านการใช้งาน (post-consumer) มาแล้ว ด้วยความกังวลว่าขวดอาจไม่สะอาด ทำให้โคคา-โคล่าอาจจะต้องการเปลี่ยนในไลน์สินค้าที่มีจำนวนน้อยกว่าก่อน

สำหรับการเปลี่ยนมาใช้งานขวด rPET ของโคคา-โคล่า ภาพรวมทั่วโลกมีการใช้งานจริงไปแล้วถึง 40 ประเทศ ส่วนในอาเซียนนั้นไทยถือเป็นประเทศที่ 4 ต่อจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมา ที่มีการใช้งานขวดจากพลาสติกรีไซเคิล

การเปลี่ยนมาใช้ขวดจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลนั้นดีต่อโลกมากกว่าเพราะได้นำพลาสติกเก่ากลับมาใช้ใหม่ แต่ด้านต้นทุนนั้นยังสูงอยู่ โดยทีมงานโคคา-โคล่าแจ้งเป็นภาพกว้างๆ ว่า ต้นทุนการผลิตขวดด้วยเม็ดพลาสติกรีไซเคิลนั้นแพงกว่าพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) อย่างน้อย 10%

แต่ในอนาคต หากมีการใช้งานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลกันสูงขึ้น มีโรงงานผลิตได้จำนวนมากขึ้น โอกาสที่ต้นทุนจะลดลงมาเท่ากับเม็ดพลาสติกใหม่ก็เป็นไปได้ เพราะเป็นไปตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย

 

“โค้ก” ผนึกพันธมิตร “เอ็นวิคโค”

ด้านซัพพลายการผลิตขวด rPET ของโคคา-โคล่า มาจากโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลรายแรกของไทยอย่าง บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (*บริษัทในกลุ่ม PTTGC)

“ณัฐนันท์ ศิริรักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ชี้แจงถึงวิธีการแปรรูปขวด PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลว่า เริ่มจากการรับขวดพลาสติกที่ทำความสะอาดแล้วมาตัดเป็นเกล็ด แล้วผ่านกระบวนการแปลงกลับเป็นเม็ดพลาสติกโดยใช้ความร้อนสูงถึง 200 องศาเซลเซียส จากนั้นเอ็นวิคโคจึงส่งเม็ดพลาสติกรีไซเคิลให้ลูกค้าไปขึ้นรูปเป็นขวดอีกครั้ง

ณัฐนันท์กล่าวว่า ด้วยความร้อนที่สูงขนาดนี้ตั้งแต่ขั้นตอนการแปลงกลับเป็นเม็ดพลาสติก ทำให้เชื้อโรคและสิ่งเจือปนต่างๆ ถูกกำจัดออกหมด ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ถึงความสะอาด

“ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด และ “ณัฐนันท์ ศิริรักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด

ทั้งนี้ ณัฐนันท์ระบุว่า ปัจจุบันโรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประเทศไทยมีเพียง 3 แห่งเท่านั้น โดยเอ็นวิคโคเป็นรายใหญ่ที่สุด มีกำลังการผลิต 30,000 ตันต่อปี ขณะนี้เดินเครื่องที่อัตรา 70-80% ของกำลังการผลิตสูงสุด มีลูกค้าสั่งเม็ดพลาสติกรีไซเคิลแบ่งเป็นในประเทศ 50% และต่างประเทศ 50%

 

โจทย์ใหญ่: ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ “rPET”

ในตลาดเครื่องดื่มปัจจุบัน การที่ขวด rPET จะประสบความสำเร็จได้ ทางโคคา-โคล่ามองว่าการทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการผลิตขวด rPET ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัจจุบันผู้บริโภคทั่วไปมักจะเข้าใจว่า การนำขวดพลาสติกใช้แล้วกลับมารีไซเคิลหมายถึงการนำขวดเดิมมาล้างทำความสะอาดแล้วเติมเครื่องดื่มเข้าไปใหม่ทันที ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความจริงอย่างมาก

โคคา-โคล่าจึงต้องมีแคมเปญสร้างความเข้าใจถึงขวด rPET และรณรงค์เรื่องการรีไซเคิล ดึงซัพพลายขวด PET ใช้แล้วจากผู้บริโภคกลับมาเข้ามาในวงจรรีไซเคิล

โค้ก rPET
“ขวดโค้กยักษ์” ในอีเวนต์ชั้น G ดิเอ็มควอเทียร์

โดยบริษัทมีการจับมือกับ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เปิดแคมเปญ “โค้ก คิดเพื่อโลก” จัดอีเวนต์วาง “ขวดโค้กยักษ์” ที่ชั้น G ดิเอ็มควอเทียร์ จัดนิทรรศการสร้างความเข้าใจเรื่องการผลิตขวด rPET พร้อมกับวางจุดรับคืนขวด PET แบบไม่จำกัดแบรนด์เพื่อนำมารีไซเคิล ผู้ร่วมคืนขวดจะได้ลุ้นรับสิทธิเป็นผู้โชคดี 30 คนที่ได้กระทบไหล่ “พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” ในมินิคอนเสิร์ต (*จะมีแคมเปญเดียวกันนี้อีกแห่งหนึ่งที่ “สยามเซ็นเตอร์” ด้วย)

รวมถึงโคคา-โคล่ายังมีแคมเปญกับ “Trash Lucky” สตาร์ทอัปด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อนหน้านี้ด้วย ภายใต้แคมเปญ “โค้กชวนแยก แลกลุ้นโชค” ซึ่งทาง Trash Lucky มีการวางจุดรับขวด PET ตามห้างฯ และปั๊มน้ำมัน 64 จุดทั่ว กทม. และ 5 จุดในจ.ภูเก็ต ผู้ที่สนใจสามารถหย่อนขวด PET ใช้แล้วได้ทุกแบรนด์ และรับโค้ดไปลุ้นของรางวัลมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท รางวัลใหญ่ที่สุดแจกรถยนต์ไฟฟ้า Neta V แคมเปญเปิดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2566

นิทรรศการสร้างความเข้าใจด้านกระบวนการผลิตขวด rPET

ด้านการขยายไปใช้ rPET ในไลน์สินค้าชนิดอื่น “ศรุต” กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยแผนได้อย่างชัดเจนและขอรอดูผลตอบรับจากลูกค้าก่อน แต่จะต้องมีการผลักดันอย่างแน่นอนเพราะเป็นนโยบายจากบริษัทแม่ โดยโคคา-โคล่าระดับโลกมีเป้าที่จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลให้ได้ 50% ของสินค้าทั้งหมด ภายในปี ค.ศ.2030

สำหรับการใช้งานขวด rPET ในไทย “โค้ก” ไม่ใช่รายแรก เพราะปี 2566 นี้มีหลายแบรนด์ที่ประกาศการใช้งานออกมาก่อนแล้ว เช่น  “เป๊ปซี่” ที่เริ่มใช้ในไลน์ผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่สูตรปกติและสูตรไม่มีน้ำตาลขนาด 550 มล. และ “มิเนเร่” น้ำแร่จากเครือเนสท์เล่ ที่เริ่มใช้ในไลน์ขวดขนาด 750 มล.