“เนสกาแฟไอซ์” ชงเถ้าแก่รถเข็นขยายตลาด

เนสกาแฟที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยส่วนใหญ่คือกาแฟผงสำเร็จรูปที่ชงดื่มกันเองตามบ้านหรือเห็นตามรถเข็นกาแฟในซอย แต่จริงๆ แล้ว เนสท์เล่ มีแผนกเนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ซึ่งดูแลตลาดกาแฟสำเร็จรูปสำหรับดื่มนอกบ้าน และคิดสูตรกาแฟเย็นสำเร็จรูปหรือเนสกาแฟไอซ์ออกขายในซองขนาดใหญ่ สำหรับร้านค้า โดยเฉพาะกลุ่ม Quick Service Restaurant (QSR) ชงเสิร์ฟลูกค้ามาแล้วเป็น 10 ปี โดยเป็นสูตรที่คิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งมีผู้บริโภคชอบดื่มกาแฟเย็นกันมาก

เนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2552 เดิมคือหน่วยงานเนสท์เล่ ฟู้ดเซอร์วิส เป็นแผนกที่มีหน้าที่จัดหาสินค้าและโซลูชั่นให้กับลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อผลักดันลูกค้าให้เติบโตในธุรกิจไปพร้อมกับเนสท์เล่ ดังนั้นนอกจากการจำหน่ายสินค้าที่แผนกดูแลอยู่จำนวนมาก ส่วนหนึ่งจึงต้องคิดสูตรเพื่อทำให้ผู้ประกอบการเดินหน้าธุรกิจ ช่วยแก้ปัญหา จัดหาโซลูชั่น ทั้งการปรับสินค้าและการให้บริการเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ 

สินค้าในแผนก ได้แก่ เนสกาแฟไอซ์ กาแฟเย็นปรุงสำเร็จชนิดผงซึ่งเป็นสูตรที่เนสท์เล่ไทยเป็นผู้คิดขึ้นมีด้วยกัน 2 รสชาติ ที่ได้จากการสำรวจว่าเป็นรสชาติที่คนไทยชอบมากสุดคือ หอมมันกลมกล่อมสูตรริชชี่ครีมมี่ และเอสเปรสโซสูตรเข้มหอมกาแฟคั่วบด เนสกาแฟเรดคัพ เนสกาแฟบาริสต้า เนสกาแฟทรีอินวัน คอฟฟี่เมต ไมโล เนสทีชานมเย็น เนสทีชามะนาว เนสที (100%) แม็กกี้ และเนสท์เล่สวีทไทม์นมข้นหวานชนิดผง

ทุกผลิตภัณฑ์มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ประกอบการต่างๆ หรือช่องทางที่ผู้บริโภคซื้อรับประทานนอกบ้าน อาทิ ร้านสะดวกซื้อ สถาบันการศึกษา โรงแรม คาเฟ่และเบเกอรี่ และโรงงาน โดยแต่ละผลิตภัณฑ์จะบรรจุในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่และเขียนกำกับไว้ชัดเจนว่าสำหรับผู้ประกอบการ และเป็นตัวแสดงความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กสำหรับผู้บริโภคกลุ่มที่ซื้อเพื่อรับประทานภายในบ้าน  

เมื่อเป้าหมายคือผู้ประกอบการ กิจกรรมการตลาดของเนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล จึงต้องมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง 

หลังจากตั้งแผนกอย่างเป็นทางการ เนสท์เล่เลือกใช้วิธีการสร้างผู้ประกอบการรายย่อยขึ้นมารองรับการขยายตัวของสินค้า โดยจัดกิจกรรมสร้างเถ้าแก่ร้านกาแฟใหม่ด้วยรูปแบบต่างๆ เหตุผลหนึ่งเพราะตลาดไทยมีกาแฟรถเข็นนับหมื่นราย แต่ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มสินค้าของเนสท์เล่โปรเฟชชันนัล และนั่นคือโอกาสทางการตลาดมหาศาลที่รออยู่

“กาแฟรถเข็นส่วนใหญ่เจ้าของอยากมีสูตรของตัวเอง เขาก็จะซื้อเนสกาแฟผงสำหรับทานในบ้านมาใช้ แต่ส่วนที่เนสท์เล่โพรเฟชชันนัลจำหน่ายส่วนใหญ่จะขายอยู่ในกลุ่ม QSR” มุนินทร์ สุภานุรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล อินโดไชน่า กล่าว

นั่นเท่ากับว่านอกจากกลุ่ม QSR ช่องทางการเติบโตของเนสท์เล่โพรเฟชชันนัลยังมีอยู่อีกมากมาย ถ้าเนสท์เล่ฯ สามารถสร้างกาแฟรถเข็นสูตรของตัวเองขึ้นมาได้ หรือปั้นผู้ประกอบการกาแฟรถเข็นสำหรับกาแฟเย็นสูตรสำเร็จรูปนี้ได้ รูปแบบการสร้างตลาดจึงมีทั้งการจัดทำโครงการเนสกาแฟสตรีทบาริสต้า เพื่อหานักชงมืออาชีพเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีคนเข้าร่วมกว่าหมื่นราย 

“เราจัดโครงการนี้ขึ้นโดยนำมาผสมกับแนวคิดธุรกิจยั่งยืนของเนสท์เล่ โดยมุ่งหวังว่านอกจากสร้างอาชีพแล้วเราอยากให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีความยั่งยืนกับชีวิตจากการสร้างอาชีพให้กับตัวเองและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัวเขาได้” 

อีกโครงการสำคัญที่ถือว่าเป็นความหวังในการขยายตลาดก็คือ การจัดประกวดแผนธุรกิจสร้างร้านกาแฟของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ตั้งแผนกนี้ขึ้น

“โครงการ NESCAFE Ice COOL SME Challenge เริ่มต้นปี 2553 ปีนี้เป็นปีที่สอง เราทำร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ให้ลองทำงาน เรียนรู้ ว่าจะทำธุรกิจได้อย่างไร ให้เขาเข้าใจสภาพแวดล้อมของธุรกิจมากกว่าการเรียนภาคปฏิบัติในห้องเรียน มีโอกาสร้างการมีส่วนร่วมกับทีม คิดโมเดลธุรกิจขนาดเล็กของตัวเอง และทดลองทำดูว่าเขามีศักยภาพแค่ไหนในการพัฒนาธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง” แฮรอล เรส ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจเนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล อินโดไช่น่า กล่าว    

 โมเดลของโครงการอาจจะต่างจากสตรีทบาริสต้าตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ในขั้นตอนสุดท้ายของโครงการก็เพื่อให้นำสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินโครงการไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจได้จริง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการขยายตลาดของสินค้าเนสท์เล่ฯ ที่ย่อมเติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ด้วยเช่นกัน  

สำคัญการหาไอเดียจากคนรุ่นใหม่ที่คลุกคลีอยู่กับกลุ่มเป้าหมายในโครงการนี้ ถือเป็นรูปแบบการหาสูตรตลาดที่ Win-Win กันทุกฝ่าย มหาวิทยาลัยก็ได้หลักสูตร เด็กได้ฝึกหัด บริษัทได้ผลวิจัยจากภาคสนามไปพร้อมๆ กับการสร้างแบรนด์ โครงการเดียวนับประโยชน์ไม่ถ้วนจริงๆ