เมื่อสินค้าแก็ดเจ็ตกำลังเฟื่องฟูและมีการแข่งขันสูง การใช้พื้นที่หน้าร้านเพื่อนำเสนอสินค้ารุ่นล่าสุดโดยให้ลูกค้าสามารถทดลองสัมผัสจริงได้อย่างเต็มที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากช่วยกระตุ้นยอดขายแล้ว ยังเพิ่มประสบการณ์การใช้งานแก่ผู้บริโภคให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นมากกว่าการฟังพนักงานอธิบายตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว ดังเช่นที่แอปเปิลเคยประสบความสำเร็จมาแล้วจาก “Apple Store” และ “iStudio”
ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ไอทีรายใหญ่จากญี่ปุ่นอย่างโซนี่ต้องปรับตัวตาม จากเดิมที่โซนี่ เซ็นเตอร์ ซึ่งให้ดีลเลอร์เป็นผู้บริหารจัดการ และร้านโซนี่ สโตร์ ที่โซนี่ไทยทำหน้าที่บริหารเอง 5 สาขา จะเน้นโชว์และขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก แต่สำหรับโซนี่ สโตร์ สาขาที่ 6 ที่เซ็นทรัล พระราม 9 เป็นช็อป เปลี่ยนมาใช้คอนเซ็ปต์ใหม่ ของการเป็นไลฟ์สไตล์ช็อปไม่เน้นขายสินค้า เน้นสร้างประสบการณ์ รองรับกับสินค้าเทคโนโลยีล่าสุด เหมือนในสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และไต้หวัน และถือเป็นสาขาที่ 4 ที่ใช้คอนเซ็ปต์นี้และเป็นสาขาแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“เราเลือกไทยเพราะเป็นตลาดพร้อมที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพฤติกรรมคนไทยชอบติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ” นพวรรณ โชติภาวัต ผู้อำนวยการฝ่าย แบรนด์ แอคติเวชั่น แมเนจเมนท์ บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด บอก โดยเหตุผลที่เลือกตั้งสาขาที่เซ็นทรัลพระราม 9 ก็เพราะอยู่ในย่านใจกลางธุรกิจซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายของโซนี่ที่เป็นคนทำงานรุ่นใหม่พักอาศัยและทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก
โซนี่ สโตร์ คอนเซ็ปต์ใหม่นี้จะนำเสนอเฉพาะสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โดยเฉพาะแก็ดเจ็ตที่โซนี่ได้ขยายไลน์ธุรกิจออกมาด้านนี้มากขึ้น เช่น แท็บเล็ต ทีวีอินเทอร์เน็ต โน้ตบุ๊กสามมิติ กล้องดิจิตอลเอสแอลอาร์ กล้องส่องทางไกลดิจิตอล สินค้าเหล่านี้จะมีให้ทดลองและซื้อที่สาขานี้เป็นที่แรก
ส่วนการตกแต่งร้านจะเน้นสีสัน ดูมีชีวิตชีวา การจัดร้านที่โล่งสบายตา จัดวางสินค้าให้ลูกค้าสามารถหยิบทดลองได้สะดวก ตัวบริการจะพรีเมียมกว่าสาขาอื่น อาทิ ลูกค้าสามารถนัดหมายให้พนักงานอบรมแบบตัวต่อตัวได้ มีพนักงานให้บริการติดตั้งสินค้าถึงที่บ้าน บริการห่อของขวัญรูปแบบพิเศษตามเทศกาล ไปจนถึงการจัดกิจกรรมไลฟ์สไตล์ภายในร้านอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมร่วมกับสวารอฟสกี้เพื่อให้ลูกค้าตกแต่งคริสตัลบนแก็ดเจ็ตของตัวเองให้ไม่เหมือนใคร ขณะที่สาขาเดิมจะตกแต่งด้วยโทนสีขาวดำทั้งร้านไปจนถึงเครื่องแบบพนักงาน และการบริการที่ไม่พิเศษมากเท่าสาขานี้ จึงเป็นการสร้าง Brand Touch Point รูปแบบใหม่ให้กับโซนี่ที่ช่วยสร้างความผูกพันและจงรักภักดีต่อแบรนด์แก่ลูกค้าได้มากขึ้น โดยใช้งบลงทุนเฉพาะค่าตกแต่งราว 12-13 ล้านบาท
นพวรรณบอกว่าเหตุผลที่ต้องใช้กลยุทธ์แบบนี้ก็เพราะปัจจุบันการแข่งขันผ่านช่องทางหน้าร้านค่อนข้างดุเดือด ดังนั้นโซนี่จึงต้องเน้นความแตกต่างตั้งแต่การให้บริการ บรรยากาศในร้าน และกิจกรรมกับลูกค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง
“ต่อไปการแข่งขันแบบนี้จะสูงมาก หลังจากนี้ที่นี่จะมีแบบนี้ทั้งชั้น ทั้งพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและแก็ดเจ็ตต่างๆ” เธอกล่าว ซึ่งการเปิดร้านเพื่อสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้านี้ แบรนด์มือถือรายใหญ่อย่างโนเกียและแบล็คเบอร์รี่ก็นำมาใช้ด้วยเช่นกัน
cellpadding=”2″ cellspacing=”2″>
Launch
ให้ลูกค้าได้ทดลองสัมผัสใช้งานจริงก่อนตัดสินใจซื้อ
ตกแต่งร้านด้วยสีสันสวยงามและปรับแต่งตามเทศกาล
รายได้ระดับ B ขึ้นไป
เช่น บริการให้คำปรึกษาแบบส่วนตัว อัพเกรดติดตั้งซอฟต์แวร์
บริการติดตั้งเครื่องโดยช่างโซนี่ บริการรับส่งเครื่องซ่อม
บริการเครื่องทดแทนระหว่างซ่อม
Studio, Blackberry by Jaymart Lifestyle Store