ยอดเงินฝากรวมคนไทยลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากเศรษฐกิจฝืด คนแห่ลงทุนทองคำ

สถาบันคุ้มครองเงินฝากเผย ยอดเงินฝากรวมในปี 2022 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากสภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังรวมถึงปัจจัยของผู้ฝากเงินที่เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นทองคำ หรือแม้แต่ลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศอย่างดอลลาร์สหรัฐที่ดอกเบี้ยมากกว่า

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกคร่าวๆ ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา โดยมีการคงดอกเบี้ยไว้ และเขามองว่าเงินเฟ้อจะอยู่ไปอีกสักระยะหนึ่งซึ่งอาจนานกว่า 6-12 เดือน

สำหรับทางฝั่งของประเทศไทยนั้นตัวเลขในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปริมาณเงินฝากทั้งหมดในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 15.96 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1.32% โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยในปี 2022 มีเงินฝากในระบบ 16.17 ล้านล้านบาท

ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2022 จำนวน 3.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37%

ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณการฝากเงินลดลงเนื่องจากคนถอนเงินไปลงทุนอย่างอื่น หรือหาผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือแม้แต่การฝากเงินในสกุลอื่นเช่น ดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงสภาวะเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

นอกจากนี้เขายังได้กล่าวว่า จำนวนผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยตัวเลขล่าสุดจำนวนคนไทยที่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท มากถึง 81 ล้านราย

ทรงผลยังกล่าวว่า คนที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 จำนวนยิ่งน้อยลง และคนมีเงินฝากน้อยลงเพิ่มมากขึ้น และยังรวมถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จนท้ายที่สุดต้องนำเงินฝากออกมาใช้ สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ

ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยังชี้ว่า ถ้าหาก GDP ของไทยโต เงินฝากมักจะเป็นบวกตามเสมอๆ

ปัจจุบันสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองผ่าน 32 สถาบันการเงิน โดยมีเงินทุนมากถึง 140,000 ล้านบาท โดยลงทุนในตราสารสภาพคล่องสูง โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนด อยู่ที่ 1 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 98.09% ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ

ในปี 2024 แผนการของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้วางเป้าหมายการดำเนินงานในเรื่องความพร้อมทั้งการจ่ายเงินคุ้มครองที่รวดเร็ว การชำระบัญชีและการบริหารสินทรัพย์ และมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งการติดตามเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน รวมถึงการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องการคุ้มครองเงินฝากกับประชาชน