ในยุคปัจจุบันภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เลยทำให้ได้ยินคำว่า ESG หรือ Net Zero กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่เทรนด์ หรือกระแสที่ทำแค่ชั่วครู่ชั่วคราว แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่องค์กรได้วางกันในระยะยาว เราจึงได้เห็นหลายบริษัทกำหนดเป้าเส้นทางสู่ Net Zero ภายในกี่ปีกันมากขึ้น
ทั้งนี้ในเป้าหมายที่จะไปสู่ Net Zero นั้นจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งองค์กร ลูกค้า รวมถึงภาคสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อในการลงทุนต่างๆ ด้วยเช่นกัน
“ธนาคารไทยพาณิชย์” เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยให้เส้นทาง Net Zero ประสบความสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น ล่าสุดได้ประกาศความสำเร็จให้การสนับสนุนการเงินยั่งยืน (Sustainable Finance) ตลอด 3 ไตรมาสแรก ทะลุ 52,000 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของเป้าหมาย 3 ปี ที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2025 เดินหน้าปรับการดำเนินงานภายในธนาคารสู่ Net Zero ในปี 2030 พร้อมผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมโดยรวมสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืน
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์ดำเนินธุรกิจอยู่คู่กับคนไทยมากว่า 116 ปี เรายึดมั่นในการดำเนินองค์กรเพื่อความยั่งยืนบนหลักการธรรมาภิบาลโดยตระหนักถึงการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร ลูกค้า และสังคมโดยรวม เมื่อทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับการนำนโยบาย ESG เข้ามาผสานไว้ในแผนธุรกิจเพื่อรักษาขีดความสามารถและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่ Net Zero จากการดำเนินงานภายในของธนาคารภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อ และการลงทุนภายในปี 2050 โดยมุ่งเน้นการนำพาองค์กร ลูกค้า และสังคม ให้ก้าวไปข้างหน้า สร้างการเติบโตทางธุรกิจและเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับเป้าหมายเส้นทาง Net Zero ของไทยพาณิชย์นั้น มีแนวทางปฏิบัติใน 3 ส่วน ได้แก่
- ปรับภายในองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2030
ธนาคารได้เริ่มทยอยปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานในอาคารสำนักงานใหญ่เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ลดการใช้พลังงานในอาคาร 10-15% ด้วยการเพิ่มแสงสว่างในอาคาร การเปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED และระบบถ่ายเทความร้อนในอาคารเตรียมการติดตั้ง Solar Cell ที่สำนักงานใหญ่ เปลี่ยนเป็นเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R32 ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 3,000 เครื่องรวมถึงเปลี่ยนการใช้รถยนต์เป็นรถ EV100% โดยคาดว่าการดำเนินการทั้งหมดจะสำเร็จ 100% ภายในปี 2028
- สนับสนุนสินเชื่อยั่งยืนให้ลูกค้าสู่ Net Zero ภายในปี 2050
ธนาคารต้องการมีส่วนในการผลักดันให้ลูกค้าทุกกลุ่มเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ Low Carbon Economy เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางของ Net Zero ร่วมกัน ผ่านการสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยมีเป้าหมายการให้สินเชื่อและการลงทุนจำนวน 100,000 ล้านบาทภายในปี 2025 พร้อมด้วยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับองค์กรให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถปรับตัวรองรับกับโลกใหม่ที่ยั่งยืนไปด้วยกันได้
- สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมตระหนักรู้
ให้ความรู้แก่ลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ และ SME เพื่อปรับตัวสู่ความยั่งยืน โดยปีนี้มีลูกค้าสนใจเข้าร่วมกว่า 500 บริษัท ดำเนินโครงการการช่วยเหลือสังคมเพื่อความยั่งยืนของสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมกว่า 14 โครงการหลัก อาทิ โครงการปลูก และอนุรักษ์ป่าโครงการจัดหาแหล่งน้ำการพัฒนาชีวิตเยาวชน และชุมชนที่ดำเนินการมามากกว่า 30 ปี มุ่งเน้นผลักดันให้ภาคธุรกิจ และประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน เพื่อให้คนไทยเห็นภาพตรงกันว่าเราต้องเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน
สำหรับสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 52,000 ล้านบาทในระยะเวลา 9 เดือนแรกของปี 2023 ครอบคลุมการสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคาร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในกว่า 11 อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ อาทิ การท่องเที่ยว พลังงาน และภาคการผลิต เป็นต้น โดยมุ่งเน้นโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ไฟฟ้าพลังงานทางเลือกจำนวน 12,600 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 10,000 ล้านบาท การสนับสนุนการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนกว่า 26,100 ล้านบาท รวมทั้งธุรกิจ SME SSME และลูกค้าบุคคลอีกกว่า 3,000 ล้านบาท
ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญ ผ่านการทำหน้าที่ของสถาบันการเงินหลักของประเทศด้วยความมุ่งมั่น และจะเป็นผู้นำในการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนแก่ลูกค้าทุกระดับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและโลกไปสู่เป้าหมาย Net Zero และการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนร่วมสนับสนุนในการให้ความรู้แก่องค์กรต่างๆ ในการบูรณาการแนวทางความยั่งยืนให้เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทุกคนสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน