‘กูเกิล’ ยอมจ่าย 2.5 พันล้านบาท/ปี ให้ ‘สื่อแคนาดา’ หลังรัฐบาลออกกฎหมายให้จ่าย ‘ค่าข่าว’ บนแพลตฟอร์ม

ภาพจาก Unsplash
หลังจากที่ กูเกิล (Google) เสิร์ชเอนจิ้นรายใหญ่ของโลกได้ประกาศว่าจะ ถอดลิงก์ข่าวสำหรับผู้ใช้ในแคนาดา ออกจากบริการในเครือได้แก่ Search, News, Discover หลังกฎหมายฉบับใหม่ Online News Act (Bill C-18) ที่แพลตฟอร์มต้องจ่ายเงินให้สื่อโดยตรง มีผลบังคับใช้

ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กฎหมาย Bill C-18 ของแคนาดา เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อให้บริษัท แพลตฟอร์มออนไลน์แบ่งรายได้จากโฆษณาให้กับสื่อมวลชน ซึ่งหลังจากที่แคนาดาประกาศเรื่องกฎหมายกังกล่าว ทำให้ Meta เจ้าของแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram เลือกจะถอดลิงก์ข่าวออกจากแพลตฟอร์ม

เช่นเดียวกับทาง Google ที่เคยมีแผนจะถอดลิงก์ข่าวออกจากแพลตฟอร์มหากมีการบังคับใช้ พร้อมกับระบุว่า Google ได้เจรจากับสื่อในแคนาดา 150 ราย ให้เข้าโครงการ Google News Showcase เพื่อนำพาดหัวข่าวไปแสดงในแอปต่าง ๆ ของ Google และสร้างทราฟฟิกคนเข้าไปอ่านต่อในเว็บไซต์ ซึ่งสื่อสามารถหารายได้จากโฆษณาบนเว็บของตัวเองหรือผ่านการสมัครสมาชิก

แต่ล่าสุด Google ก็ยอมตกลงกับรัฐบาลแคนาดา โดยบริษัทจะบริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์แคนาดาต่อปี (ราว 2,500 ล้านบาท) ให้กับอุตสาหกรรมข่าวของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ของแคนาดาที่กำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีต้องจ่ายเงินให้กับสื่อ เพื่อสนับสนุนธุรกิจข่าว

“Google ได้ตกลงที่จะสนับสนุนนักข่าวอย่างเหมาะสม รวมถึงการสื่อสารมวลชนในท้องถิ่น น่าเสียดายที่ Meta ยังคงสละความรับผิดชอบต่อสถาบันประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง” Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าว

เพื่อเป็นการตอบโต้ Meta ที่ถอดลิงก์ข่าว ทางรัฐบาลแคนาดาได้ระบุว่าจะหยุดโฆษณาบน Facebook และ Instagram เพื่อตอบสนองต่อจุดยืนของ Meta

ทั้งนี้ แคนาดาไม่ใช่ประเทศแรกที่มีกฎหมายลักษณะนี้ เพราะมีออสเตรเลียเริ่มทำมาก่อน และผ่านกฎหมายแบบนี้สำเร็จในปี 2021 แต่จะมีความผ่อนปรนมากกว่าของแคนาดา และ Meta เองก็มีการบล็อกข่าวจากแพลตฟอร์มในออสเตรเลียในช่วงสั้น ๆ หลังจากที่ประเทศผ่านกฎหมายที่จะบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีจ่ายเงินให้ผู้เผยแพร่เนื้อหาที่ใช้เรื่องราวข่าวของตน และต่อมาได้ทำข้อตกลงกับผู้จัดพิมพ์ชาวออสเตรเลีย