ทั้งปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจที่น้อยสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่เยาวชนอายุน้อยก็ตกงานกันเพียบ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ดูเหมือนจะส่งผลให้คนจีนเลือกที่จะมีลูกน้อยลง ทำให้อัตราการเกิดต่ำลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้ประชากรจีนหดตัวซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
สํานักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า ปี 2023 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรจีนลดลงเหลือ 1.409 พันล้านคน ลดลงประมาณ 2.08 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2022 โดยถือเป็นการ หดตัวต่อเนื่องสองปีติดต่อกัน ซึ่งยิ่งเกิดความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ที่อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญต่อเศรษฐกิจของที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ขณะที่ อัตราการเกิด ยังลดลงสู่ระดับต่ำสุดใหม่ที่ 6.39 ต่อ 1,000 คน ลดลงจาก 6.77 คน ในปีก่อนหน้า ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การก่อตั้งคอมมิวนิสต์จีนในปี 1949 ที่มีทารกเกิดใหม่ประมาณ 9.02 ล้านคน เทียบกับปี 2022 ที่มีทารกเกิดใหม่ 9.56 ล้านคน
ทั้งนี้ จำนวนประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษในปี 2022 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นการลดลงครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่ปี 1961 ที่มีแผน Great Leap Forward หรือแผนห้าปีฉบับที่สอง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการรณรงค์ทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนของอดีตผู้นํา เหมา เจ๋อตง ส่งผลให้ปี 2023 จีนได้ถูก อินเดีย แซงหน้าในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
ที่ผ่านมา แรงงานของประเทศจีนประกอบด้วยคนใน กลุ่มอายุ 16-59 ปี ซึ่งลดลง 10.75 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2022 ในขณะที่จํานวน ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้น 16.93 ล้านคน โดยจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นสวนทางกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เป็นแรงงานที่หดตัว ซึ่งอาจทําให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตกต่ำลงอย่างมาก
ส่งผลให้รัฐบาลจีนได้ยกเลิกนโยบาย ลูกคนเดียว ที่มีมานานหลายหลายทศวรรษ พร้อมทั้งออกนโยบายกระตุ้นให้คู่รักมีลูกกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก็ไม่สามารถช่วยให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นได้ ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความท้าทาย ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาเติบโต 5.2% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดของประเทศในรอบกว่า 30 ปี