ทำอย่างไรให้เป็นแอพฯ ที่ถูกเลือก (กรณีศึกษา mars Magazine)

การเติบโตของแอพฯ ไม่ต่างจากการเติบโตของสปอร์เห็ด เฉพาะในแอพสโตร์ของ Apple ปัจจุบันมีแอพฯ ให้เลือกดาวน์โหลดทั้งแบบฟรีและเสียเงินมากกว่าครึ่งล้าน แอพพลิเคชั่นเป็นทั้งช่องทางสำหรับรายได้ใหม่ของผู้พัฒนาและเป็นเหมือนโลกกว้างให้ผู้บริโภคไปค้นหา แต่ในทางตรงกันข้ามก็แทบจะทำให้ผู้บริโภคที่ สตีฟ จ็อบส์ ผู้สร้างตำนาน Apple บอกไว้เองว่า เป็นกลุ่มที่บางทีพวกเขาก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เกิดอาการนิ่งไปเลยกับอาการ Apps Overload ได้เหมือนกัน

เรื่องท้าทายที่สุดของคนขายแอพฯ จึงอยู่ที่จะทำตลาดแอพฯ ของตัวเองอย่างไร ให้เป็น แอพฯ ที่ผู้บริโภคเลือกและยอมจ่ายเงินเพื่อดาวน์โหลด ไม่ใช่เสพฟรีอย่างเดียว 

ในเมื่อแอพสโตร์ไม่มีช่องทางให้โฆษณาสินค้า การทำตลาดส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยวิธีการทำตลาดแบบผสมผสานอื่นๆ เพื่อให้ลูกค้าเลือกโหลดหรือนึกถึงแอพฯ ของตัวเองเมื่อเข้าไปที่แอพสโตร์ อีกทั้งการพัฒนาแอพฯ ของแต่ละคนก็มีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจและรูปแบบการใช้งานที่ต่างกันไป 

แอพพลิเคชั่นที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดหมวดหนึ่งในบ้านเราและพัฒนาไปเร็วไม่แพ้ในต่างประเทศ ก็คือหมวดของนิตยสารที่เริ่มวางแผงในชั้นหนังสือของแอพสโตร์กันมากขึ้น มีทั้งแบบดาวน์โหลดฟรีและจ่ายเงิน ขึ้นอยู่กับใครจะกำหนดกลยุทธ์การตลาดและรูปแบบที่จะมาซัพพอร์ตธุรกิจเดิมของตัวเองผ่านแอพฯ ไว้อย่างไร 

 

นิตยสาร mars คือหัวหนังสืออันดับต้นๆ ที่เริ่มต้นพัฒนาแอพฯ

เริ่มจากให้โหลดอ่านฟรีเมื่อ 2 ปีก่อน มียอดดาวน์โหลดเติบโตต่อเนื่อง จนกระทั่งเริ่มหันมาเก็บค่าดาวน์โหลดแต่กระแสตอบรับแอพฯ ก็ไม่ได้น้อยลงสักเท่าไร  

เบื้องหลังความสำเร็จ ประกอบด้วยส่วนผสมทางการตลาดและงานสร้างสรรค์ ที่ทำให้คอนเทนต์จากรูปกระดาษสนุกและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อพัฒนาเป็นดิจิตอล และที่ขาดไม่ได้คือ ความเป็นคอนเทนต์ที่ยังคงคุณค่าภายใต้โพสิชันนิ่งของหนังสือที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้น

“mars เกิดเร็วและออกเป็นแอพฯ นิตยสารเจ้าแรกในประเทศไทยที่เป็น Interactive จริงๆ” 

กมลวรรณ ดีประเสริฐ อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสารมาร์ส พัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นผู้พัฒนาแอพฯ เริ่มจากพัฒนาแอพพลิเคชั่นของมาร์ส จนได้รับความนิยม ปัจจุบันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วยการตั้งบริษัทรับพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้กับสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ และไทยเดย์ด็อทคอม รวมถึงแบรนด์ดังอีกมากมายภายใต้บริษัท ดิจิทอลล ประเทศไทย จำกัด  www.digitall-media.com  ซึ่งเธอมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

เธอเล่าถึงวิธีการทำตลาดของมาร์สในการขยายช่องทางจากแผงหนังสือไปสู่แอพสโตร์ ว่า 

“พอคิดจะทำแอพฯ กรณีนิตยสารต้องเริ่มตั้งแต่กองบรรณาธิการก่อนเลย เพราะเราต้องรู้จักคนอ่านของเราและการจะปรับเปลี่ยนรูปแบบสื่อ ก็ต้องทำให้บุคลิกของหนังสือคงอยู่ ผู้อ่านเห็นแล้วสัมผัสได้ถึงบุคลิกแม้จะอ่านผ่านสื่อใหม่ พื้นฐานที่สุดก็คือเราต้องรู้ว่าเราจะทำออกมาให้ใครอ่านและทำไมเขาถึงจะอ่าน” 

การพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ดีไซน์หนังสือบนแอพฯ จะหน้าตาเหมือนกับในหนังสือทุกอย่าง เพราะไม่อย่างนั้นคำว่าดิจิตอลก็ไม่มีความหมายอะไร  

“เมื่ออุปกรณ์ (iPad) ทำอะไรได้มากมาย เราก็ควรนำลักษณะพิเศษของอุปกรณ์มาผสมเพื่อทำให้เนื้อหาที่นำเสนอแตกต่างจากที่นำเสนอในหน้ากระดาษหรือเว็บไซต์ และต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้อ่านว่ามีพฤติกรรมอย่างไรเมื่อใช้อุปกรณ์นี้ในการอ่าน”  

กมลวรรณ เล่าว่า ปกติถ้าคนอ่านผ่านเว็บไซต์จะมีโอกาสที่จะเบราส์กระจายไปหมด เรียกว่าออกนอกพื้นที่เนื้อหาที่นำเสนอ แต่พอเป็นแอพฯ คนเสพจะใช้งานทีละแอพฯ เป็นพฤติกรรมการเสพสื่อที่ต่างไป ถ้าเบราส์กระจายไปเหมือนในเว็บเนื้อหาตรงหน้าก็จะถูกละเลย ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่โดยปกติคนใช้แอพฯ จะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดาวน์โหลดครั้งแรก จากนั้นก็อาจจะนำไปอ่านที่ไหนก็ได้ ทำให้การอ่านจะวนเวียนอยู่ในแอพฯ เต็มที่ ถ้าไม่ถูกใจก็เปลี่ยนไปดู แอพฯ อื่นแทน

เธอใช้หลักการที่สอดคล้องกับแนวคิดของสตีฟ จ็อบส์ ในการดีไซน์แอพฯ สำหรับ iPad โดยกำหนดว่าการค้นหาข้อมูลหรือเนื้อหาเพิ่มเติมที่ซ่อนไว้ในอพฯ ควรจะต้องซัพพอร์ตให้ค้นพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ด้วยการแตะเพียงไม่กี่ครั้งหรือมีขั้นตอนน้อยที่สุด 

“เพราะฉะนั้นเวลาออกแบบแอพฯ เราต้องตีโจทย์ให้เข้าใจคนอ่าน จากแนวตั้งเขาจะอ่านไปอย่างไร ถ้าพลิกไปแนวนอนยังเป็นเรื่องเดิมไหม หรือจะไปเจอกับเนื้อหาอะไร คิดถึงความต่อเนื่องในการอ่าน ต้องทำให้เข้าใจง่าย หรือไปตามแนวที่เราออกแบบไว้”

การทำให้ผู้อ่านเดิมตาม ต้องไม่ใช่ออกแนวบังคับ แต่ต้องลื่นไหลไปเองโดยธรรมชาติ เรียกว่าจะทำแอพฯ ให้เวิร์คก็ต้องเข้าใจทั้งกลุ่มผู้อ่านของตัวเอง และเข้าใจพฤติกรรมคนใช้แท็บเล็ตไปพร้อมกัน 

“อย่างที่บอกไว้ กองบรรณาธิการจะมีส่วนช่วยมากในการชี้ทางคนอ่าน เพราะเป็นคนเรียบเรียงเนื้อหาก่อนที่ฝ่ายศิลป์จะไปจัดวาง การออกแบบหนังสือซับซ้อนรายละเอียดเยอะ ต้องหาวิธีคิดให้คนอ่านแตะอ่านได้ถูก เพราะคนอ่านบางคนอาจจะตามไม่ทัน เช่น อ่านแนวตั้งให้จบก่อนแล้วค่อยหมุนไหม หมุนแล้วกลายเป็นแกลเลอรี่ดีหรือเปล่า หรือถ้าหมุนระหว่างที่ยังอ่านไม่จบจะเป็นอะไร ดูแล้วจะเข้าใจไหม”

สำหรับส่วนผสมที่ควรมี เธอแนะนำว่าให้คิดไว้ว่าแอพฯ เหมือนเว็บไซต์บวกทีวีบวกหนังสือ แต่ดีกว่าเว็บไซต์ตรงที่ถ้าชี้ทางคนอ่านให้ดี คนอ่านจะไม่ออกไปไหน หรือวางโครงสร้างเนื้อหาดีๆ เขาจะอ่านตาม เพราะแอพฯ ไม่มีสิ่งเร้าเท่าเว็บ และการดีไซน์ต้องล้อไปกับบุคลิกของหนังสือ 

“อย่างกรณีของมาร์ส ก็ไม่จำเป็นต้องดีไซน์ตามแบบแผนหรือรูปแบบการอ่านที่ควรจะเป็นก็ได้ เพราะมาร์สมีบุคลิกขี้เล่น ชอบค้นหา เพราะฉะนั้นการดีไซน์แนวตั้งแนวนอนให้พลิกระหว่างอ่านอาจจะนำไปสู่เรื่องใหม่เลยก็ยังสามารถทำได้ แต่ที่ลองทำแล้วไม่เวิร์คก็มี เช่น จัดหน้าคู่เหมือนเวลาเราอ่านหนังสือ หรือถ้ามีเรื่องเกี่ยวเนื่องกับเรื่องหลักพออ่านเรื่องหลักในแนวตั้งอยู่พลิกเป็นแนวนอนปุ๊บกลายเป็นเรื่องประกอบแบบนี้ก็ไม่ เพราะเนื้อหามันโดดเกินไป ก็ต้องหาลูกเล่นที่พอเหมาะ ไม่นิ่ง” 

 

คิดอย่างไรก่อนขายแอพฯ

แอพพลิเคชั่นของมาร์ส เริ่มจากเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีเมื่อ 2 ปีก่อน ก่อนที่ iPad จะเข้ามาขายในไทยอย่างเป็นทางการ

“เริ่มแรกเราให้ดาวน์โหลดฟรี แต่เราต้องมีค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้ จะไม่ทำก็ไม่ได้เพราะมองดูแล้วแนวโน้มนิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์มาทางนี้หมดไม่เลือกก็ต้องเดิน เราก็ให้ฝ่ายศิลป์ในกองบรรณาธิการลองหัดทำ ซึ่งเขาคือคนกลุ่มแรกที่มีโอกาสลองทำและทำได้ แล้วก็มีพัฒนาการที่ดี จากวันที่เริ่มทำ คนยังไม่เข้าใจว่าแอพฯ คืออะไร ตอนนี้ใครๆ ก็หันมาทำแอพฯ ทุกวันนี้มาร์สใช้ทีมงานชุดเดียวกันทำกราฟิกในนิตยสารและทำแอพฯ ด้วย โดยมีทีมงานดิจิทอลลเป็นผู้วางรากฐานไว้ให้” 

ในแง่ของธุรกิจแอพฯ มาร์สก็เติบโตต่อเนื่อง ภายใน 12 เดือนแรกมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 5 หมื่น และมียูสเซอร์ใหม่ที่เข้ามาดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นเป็นพันรายทุกสัปดาห์  

“เฉพาะอาทิตย์แรกที่มาร์สเปิดดาวน์โหลด (ตุลาคท 2553) จำได้เลยว่ามียอดดาวน์โหลด 2,479 ราย ทั้งที่ตอนนั้นแอปเปิลยังไม่วางจำหน่ายไอแพดอย่างเป็นทางการในประเทศไทยด้วยซ้ำ ส่วนตอนนี้เชื่อว่ามีดีไวซ์อยู่ในไทยเป็นหลักแสน และเกิน 50% ของคนใช้ iPad ในไทยมีแอพฯ มาร์สอยู่”  

ยอดดาวน์โหลดแอพฯ มาร์ส ในช่วงที่ iPad 2 เปิดตัวในไทย สถิติพุ่งขึ้นจากช่วงปกติ 2-3 เท่าตัว เนื่องจากเป็นแอพฯ ที่มีคนให้คะแนนและได้รับการแนะนำอันดับต้นๆ และคอมเมนต์ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นแอพฯ ที่เป็นอินเตอร์แอคทีฟจริงๆ ไม่ใช่แค่อีบุ๊ก หรือพีดีเอฟไฟล์ และแอปเปิลเองก็เลือก mara on iPadเป็นแอพฯหนึ่งที่นำมาโชว์ที่หน้าร้าน 

“การที่มีคนให้คะแนนอันดับต้นๆ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกดาวน์โหลด ยอดดาวน์โหลดมาร์สน่ากลัวเพราะขึ้นตามจำนวนอุปกรณ์ นี่แหละที่เป็นเหตุผลให้เราต้องแนะนำให้เก็บเงินค่าดาวน์โหลด”

เนื้อหาที่ลงในแอพฯ ของมาร์สจะแตกต่างจากที่ลงในนิตยสารบางส่วน โดยคำนึงถึงความพอใจของผู้อ่านเป็นหลัก มีไฮไลต์ของเบื้องหลังแฟชั่นปกเป็นจุดขาย และเปลี่ยนโมเดลจากที่ให้ดาวน์โหลดฟรีมาเก็บค่าบริการ โดยกำหนดราคาขั้นต่ำที่ 1.99$ 

สำหรับต้นทุนในการพัฒนาแอพฯ ของมาร์ส นอกเหนือจากต้นทุนการผลิตแล้วยังมีต้นทุนในการเผยแพร่ซึ่งแปรผันตามยอดดาวน์โหลดแอพฯ แต่อย่างไรโมเดลการหารายได้ของมาร์สก็ยังใช้หลักการเดียวกับนิตยสารทั่วไปในไทย คือ หากำไรจากการขายโฆษณาเป็นหลัก การผลิตทุกเล่มคือต้นทุน ผู้อ่านกำไร

“ถ้าเราไม่ขายทุกหน่วยดาวน์โหลดจะเป็นต้นทุน ซึ่งในกรณีของมาร์สนั้นต้นทุนเริ่มสูงจนมีแนวโน้มจะไม่สัมพันธ์กับรายรับ แต่ถ้าจะให้จ่ายเงินก็ต้องทำให้ผู้อ่านแฮปปี้ เราจึงให้ดาวน์โหลดเล่มปัจจุบันฟรี แต่ถ้าจะอ่านเล่มย้อนหลังต้องจ่าย โมเดลนี้ได้ผล ช่วยลดต้นทุนและสร้างรายได้ระดับหนึ่ง ฝ่ายคนอ่านก็คุ้มเพราะเท่ากับเหมือนได้พรีวิวฟรีหนึ่งเดือนเต็มๆ ชอบค่อยซื้อ”   

กมลวรรณ บอกว่า โมเดลของหนังสือแต่ละเล่มไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางเล่มอาจจะทำแอพฯ ออกมาแล้วขายเลย โดยอาจจะทำตลาดด้วยการให้ทดลองดาวน์โหลดไปอ่านฟรี 3 เดือนแรกก็ได้ 

แอพฯ ในไทยใช้กลยุทธ์ให้ดาวน์โหลดฟรีกันมาก แต่ กมลวรรณ เชื่อว่าปีนี้จะเริ่มเปลี่ยนไป เพราะจากพฤติกรรมของคนดาวน์โหลดแอพฯ เริ่มแรกจะเป็นประเภท ฟรี ดี โหลดไว้ก่อน แต่สุดท้าย แอพฯ ฟรีอันไหนดีไม่ดีก็จะเช็กได้จากยอดดาวน์โหลดที่ยังเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่มีแค่ยอดดาวน์โหลดสูงในช่วงแรกเท่านั้น 

 

จากกระดาษเป็นแอพฯ คนอ่านเป็นใคร 

กรณีของมาร์สคนอ่านกับกลุ่มคนใช้ไอที อาจจะอยู่ในกลุ่มเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่การพัฒนาไปสู่แอพฯ ก็ทำให้มาร์สขยายกลุ่มคนอ่านเพิ่มขึ้น เพราะคนที่เข้ามาดาวน์โหลดมีทั้งกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยอ่านมาร์สเลย แต่ด้วยความที่ในตลาดไม่มีแอพฯ ที่เป็นอินเตอร์แอคทีฟเหมือนมาร์ส คุณภาพที่แตกต่างทำให้ยอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่มีสะดุด

อีกส่วนคือกลุ่มผู้อ่านเดิม เพราะตอนทำตลาดว่าจะมีแอพฯ มาร์สก็ใช้การตลาดแบบปากต่อปาก และโปรโมตเฉพาะสื่อในเครือ เช่น ลงโฆษณาในหนังสือตัวเอง ทำวิดีโอคลิปในเอเอสทีวี เฟซบุ๊ก หน้าเว็บแมเนเจอร์ออนไลน์ มีนอกเครือเล็กน้อยก็ตรงขึ้นจอของพานาโซนิคที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์เท่านั้น

จริงๆ แล้วการจะขายแอพฯ โดยโฆษณาปากต่อปาก ในมุมมองของกมลวรรณเชื่อว่า บางทีอาจจะไม่พอ อย่างไรก็ควรต้องมีการทำประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม แต่ในกรณีของมาร์สโชคดีที่สื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างและหลากหลายเพราะมีหลายสื่อและเป็นสื่อที่ได้รับความนิยม แต่ถ้านิตยสารมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องทำตลาดก็ได้ แค่แจ้งไปที่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง ขึ้นอยู่กับการตีโจทย์ให้ถูกว่าลูกค้าเป็นใคร

“แรกๆ ถ้าฟรีคนจะดูจากพรีวิว ดูคอมเมนต์ ว่าจะโหลดอะไร พอรู้ตัวว่าดีไวซ์มีความจุจำกัดก็จะค่อยลบทิ้งทีหลัง วิธีการที่เราจะให้ลูกค้าดาวน์โหลดต่อไป ไม่ลบทิ้ง หรือทำให้เกิดรีเทิร์นคัสโตเมอร์ ก็คือการรักษาและพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องของอินเตอร์แอคทีฟที่เราเชื่อว่ามันจะเป็นมาตรฐานของแอพฯ นิตยสารทั่วไปไว้ให้ได้ จากนั้นก็ดูว่าแอพฯ ของคุณจะต่างจากเจ้าอื่นอย่างไร หาบลูโอเชี่ยนให้ตัวเอง ถ้าเรามีแนวทางชัดเจนยิ่งเจ้าใหญ่ลงมาเล่นก็ไม่ต้องกลัวเพราะจะทำให้เรายิ่งเด่นชัดขึ้นอีก สำหรับมาร์ส ความเป็นอินเตอร์แอคทีฟมีครบ มีคลิปเบื้องหลังเซตแฟชั่นเป็นจุดขายที่หาดูในหนังสือไม่ได้ และยังมีบุคลิกขี้เล่นที่ยังมีอะไรซ่อนอยู่ให้คนอ่านสนุกทุกครั้งที่ได้อ่าน” กมลวรรณสรุปจุดขายของมาร์ส 

 

ดิจิตอลลมูลค่าเพิ่มจากแอพฯ สู่ แบรนด์แอพฯ

จากบทบาทในการพัฒนาแอพฯ นิตยสารรุ่นบุกเบิก วันนี้ กมลวรรณสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร โดยแยกตัวออกมาตั้งทีมนักพัฒนาแอพฯ โดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อบริษัท ดิจิทอลล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีจุดแข็งในฐานะ “บริษัทที่จะทำสื่อไปให้ถึงคนอ่าน” 

โดยผลงานชิ้นแรกที่พัฒนาในนามของบริษัทเอง คือ หนังสือธรรมะของหลวงตาบัว 

“แอพฯ Luangta Buaจุดเริ่มต้นมาจากหนังสือเรื่อง ไม่มาเกิดมาตายเรียกว่า “ชาติสุดท้าย” หนังสือสำหรับงานพระราชทานเพลิงสังขารหลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน ซึ่งเรานำมาทำเป็นอินเตอร์แอคทีฟ เผยแพร่เป็นธรรมทาน

แม้จะแทบไม่ได้ประชาสัมพันธ์ยอดดาวน์โหลดของแอพฯ หลวงตายังเพิ่มขึ้นนับจากที่เผยแพร่ครั้งแรก (มิถุนายน 2554) ถึงปัจจุบัน ซึ่ง กมลวรรณ บอกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะหลวงตามีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และในท้องตลาดแทบไม่มีหนังสือธรรมะในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟอยู่เลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าการนำหนังสือขายดีมาทำแอพฯ แล้วจะขายดีเสมอไป เพราะแค่หนังสือก็มีไฟล์พีดีเอฟให้ดาวน์โหลดอ่านฟรีเยอะอยู่แล้ว แต่อุปกรณ์อย่าง iPad ที่ทำให้งานตอบโจทย์ผู้ใช้ได้ดีขึ้น

“อุปกรณ์ช่วยได้ทำไมเราไม่ทำ ในแอพฯหนังสือหลวงตา เราก็ดีไซน์ไอคอนให้เกี่ยวกับธรรมะ ใช้ไอคอนหอไตร ธรรมจักร ดูกลมกลืนและน่าอ่าน ตีโจทย์แบบนึกถึงคนอ่าน วางเลย์เอาต์ให้เคลียร์สะอาดตา ใช้ตัวอักษรใหญ่ อธิบายทุกอย่าง เพราะเราคิดว่าคนอ่านเป็นผู้ใหญ่ ดูภาพสารบัญแล้วจิ้มเข้าไปเลย ไม่มีอะไรต้องเดา”

การดีไซน์แอพฯ ตามโจทย์ของกลุ่มเป้าหมาย เป็นจุดแข็งของดิจิทอลลที่ต้องการทำให้ทุกคนเชื่อและเห็นด้วยตัวผลงานว่า บริษัทนอกจากพัฒนาแอพฯ ได้เหมือนนักพัฒนาทั่วไปแล้วยังมีจุดแข็งที่แตกต่างตรงที่การตีโจทย์ของสื่อแต่ละประเภทให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายเพื่อทำให้ แอพฯ นั้นเกิดประสิทธิภาพในการใช้ 

ทุกวันนี้นอกจากทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการทำแอพฯ บนไอแพดให้กับสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ และไทยเดย์ด็อทคอม ซึ่งมีผลงานที่เผยแพร่แล้ว ได้แก่ นิตยสาร mars, Celeb Online และแอพฯ รับชมโทรทัศน์ ASTV และยังมีแอพฯ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกหลายสื่อ อาทิ นิตยสาร POSITIONING นิตยสารผู้จัดการ 360องศา และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360องศารายสัปดาห์ ฯลฯ 

ดิจิทอลลยังรับพัฒนาแอพฯ ของสื่อให้กับแบรนด์สินค้าชั้นนำของประเทศหลายต่อหลายบริษัท ภายใต้การทำงานของทีมงานร่วม 10 คน 

“ตอนนี้บทบาทของเราคือ เป็นเทรนเนอร์ให้มาร์สและสื่ออื่นๆ ในเครือ ขณะเดียวกันก็รับผลิตสื่ออินเตอร์แอคทีฟให้กับองค์กรต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยทำแอพฯ มาก่อน เราต้องอธิบายให้เข้าใจว่า ต่อให้เขาจ้างทีมที่ดีและมีเทคโนโลยีดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่เข้าใจสื่อและไม่เข้าใจคนอ่าน ก็จะไม่ได้แอพฯ ที่ใช่ แต่จะกลายเป็นแมกกาซีนที่คนทำชอบเท่านั้น เพราะฉะนั้นคนจะทำแอพฯ ต้องมีเป้าหมายชัดเจนก่อนว่าจะทำเพื่ออะไร ประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ ให้สิทธิประโยชน์ลูกค้า หรืออะไร เราจะเป็นคนช่วยดีไซน์ให้ตอบโจทย์และสร้างมูลค่าเพิ่มจาก แอพฯ ให้ตอบโจทย์ตามที่แบรนด์ต้องการ”

ผลงานแบรนด์แอพฯ ที่ผ่านมาของดิจิทอลลทำให้กับหลายแบรนด์ อาทิ ทำสื่อโฆษณาอินเตอร์แอคทีฟให้กับรถยนต์ Isuzu เพื่อลงเป็นส่วนหนึ่งของแอพฯ มาร์ส  แอพฯ นิตยสาร Serenade ของ AIS คู่มือขายรถยนต์ฮอนด้าสำหรับพนักงานขาย แอพฯ นิตยสารซีเอสอาร์โครงการปลูกป่าของ ปตท. ฯลฯ

“ในเคส ปตท. เราพบว่าคนในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่รับรู้เรื่องโครงการปลูกป่าน้อยมาก พอมาทำเป็นแอพฯ ก็ตอบโจทย์พอดีเพราะกลุ่มคนเมืองคือกลุ่มหลักที่ใช้ iPad โอกาสที่ ปตท. จะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ก็ทำได้มากขึ้น คู่มือขายรถฮอนด้าก็เป็นการเปลี่ยนจากหนังสือเล่มหนึ่งกับซีดีหนึ่งแผ่นที่เซลต้องมี มานำเสนอรวมไว้ด้วยกันผ่าน iPad และยังเหมาะที่จะใช้กับลูกค้าทั้งในโชว์รูมและขายในงานมอเตอร์โชว์ที่อาจจะเข้าไม่ถึงตัวรถเพราะคนเยอะ แค่แตะจอรถก็เปลี่ยนสีเปลี่ยนมุมที่ต้องการดูได้ แถมมีดีไซน์ซ่อนข้อมูลจำเป็นให้เซลเรียกดูได้ นอกจากรถแล้ว แอพฯ ยังเหมาะกับงานขายสินค้าอีกหลายอย่างที่ต้องการนำเสนอข้อมูลเยอะๆ ให้เข้าใจได้ง่ายและน่าสนใจ รวมทั้งเพิ่มฟีเจอร์อื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบราคากับคู่แข่ง แสดงทำเล หรือให้รายละเอียดที่ต้องการนำเสนอได้มากมาย”

การพัฒนาแอพฯ จากมุมมองของดิจิทอลลคงจะบอกได้ว่า เรื่องของแอพฯ ไม่เพียงแต่ทำให้คนใช้สนุกขึ้น แต่คนพัฒนาแอพฯ ก็สามารถสนุกกับการตีโจทย์และสร้างสรรค์แอพฯ ไม่แพ้กัน