“มหกรรมบ้านคอนโด” หวังกระตุ้นยอดขายต้นปี’67 ไฟต์บังคับ “เศรษฐกิจ K-Shape” เอื้อตลาดบ้านหรู

มหกรรมบ้านคอนโด
  • วนกลับมาอีกครั้งสำหรับงานประจำปีของภาคอสังหาฯ “งานมหกรรมบ้านและคอนโด” ครั้งที่ 45 หวังยอดขายในงานเติบโต 10% จากปีก่อน จับเทรนด์ผู้บริโภคกลับมานิยมเดินงานอีเวนต์ ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วมเพียบ
  • ด้านภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี 2567 ยังเป็นไปตามภาวะ “เศรษฐกิจ K-Shape” ไฟต์บังคับตลาดบนกับล่างสวนทาง บ้านยิ่งแพงยิ่งขายดี ขณะที่ที่อยู่อาศัยราคาต่ำ 4 ล้านบาทขายยาก จากแบงก์เข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อบ้าน

“ภูมิภัทร พรหมมา” ประธานคณะกรรมการจัด “งานมหกรรมบ้านและคอนโด” ครั้งที่ 45 แถลงความคืบหน้าการจัดงานในครั้งนี้ที่จะมีขึ้นวันที่ 21-24 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พบว่า ยอดจองบูธภายในงานมีการจองแล้วกว่า 90% และคาดว่าจะปิดยอดเต็มทั้งงานได้ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

งานครั้งนี้น่าจะมีผู้ประกอบการร่วมออกบูธกว่า 150 บริษัท รวมโครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 1,000 โครงการ และคณะกรรมการฯ ทุ่มงบด้านการตลาดไปกว่า 7 ล้านบาทเพื่อประชาสัมพันธ์ดึงผู้บริโภค โดยปีนี้มีไฮไลต์จับแจกของรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท รางวัลใหญ่ที่สุดคือ รถยนต์ MG 5C

มหกรรมบ้านคอนโด
บรรยากาศงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 44

ภูมิภัทรกล่าวว่า เป้าหมายงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 45 หวังยอดขายภายในงานสูงขึ้นกว่าปีก่อน 10% ซึ่งปีที่แล้วมียอดจองในงานไปกว่า 4,000 ล้านบาท และปีนี้ยังวางเป้าทราฟฟิกเข้างานรวม 4 วันจะอยู่ระหว่าง 50,000-80,000 คน

คณะกรรมการจัดงานยังพบเทรนด์ที่น่าสนใจคือ ปีนี้บูธผู้ประกอบการในงานเป็นกลุ่ม “รายใหญ่” เข้ามาจองบูธถึง 40-50% ของพื้นที่จัด จากปกติรายใหญ่จะเข้ามาประมาณ 30% เท่านั้น

ภูมิภัทรคาดว่า เกิดจากวิธีการทำตลาดของรายใหญ่เปลี่ยนไป ไม่เน้นการจัดอีเวนต์แยกเฉพาะของบริษัท แต่เลือกเข้าร่วมในงานมหกรรมบ้านและคอนโดที่เป็นงานรวมผู้ประกอบการ ซึ่งอาจเกิดจากการทำต้นทุนได้ดีกว่าการจัดอีเวนต์เฉพาะของตนเอง โดยปีนี้ Top 3 ผู้ประกอบการที่จองพื้นที่งานไว้ใหญ่ที่สุด ได้แก่ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และ แสนสิริ ตามลำดับ

ยอดจองบูธที่คึกคักขึ้นมีแรงขับเคลื่อนอีกส่วนหนึ่งจากเทรนด์การตลาด ช่วงที่ผ่านมาต้นทุนการตลาดออนไลน์สูงขึ้นมาก ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มเปลี่ยนกลับมาใช้งบกับอีเวนต์ออฟไลน์ สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่กลับมาชอบเดินงานอีเวนต์เช่นกัน ภูมิภัทรจึงเชื่อว่ายอดขายปีนี้น่าจะเติบโต

 

“เศรษฐกิจ K-Shape” ยิ่งแพงยิ่งขายดี

ด้านตลาดอสังหาฯ ปี 2567 จะเป็นอย่างไร “พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มองว่า ตลาดอสังหาฯ จะล้อตามกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจไทยเวลานี้ยังเป็นลักษณะ K-Shape คนระดับบนฟื้นตัวดีและมีกำลังซื้อ แต่คนระดับกลางลงมากำลังซื้อจะยังซบเซา

“เศรษฐกิจเป็น K-Shape จริงๆ ตัวเคขาบนคนรวยยิ่งรวย ท่องเที่ยวดี โรงแรมแน่น จองกันเต็มจนถึงสงกรานต์แล้ว แต่ถ้าไปถามตัวเคขาล่าง พรุ่งนี้แย่ยิ่งกว่าวันนี้” พรนริศกล่าว

นั่นทำให้ปัจจุบันกลุ่มผู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 4 ล้านบาทติดปัญหาในการกู้ซื้อบ้าน เพราะธนาคารพาณิชย์เข้มงวดมากในการอนุมัติสินเชื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้ไม่สูงมากนัก ตามภาวะเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงเกิดหนี้เสีย

“ยิ่งถ้าลูกค้าทำงานในบริษัทที่มีปัญหา เช่น ขาดทุนติดกัน 2 ปี ถึงแม้มีประวัติส่วนตัวดีแต่แบงก์ก็ไม่ให้ลูกค้ากู้ เพราะเขาไม่รู้ว่าคุณจะถูกปลดออกเดือนหน้าหรือเปล่า แบงก์เขาดูลึกขนาดนี้แล้ว ทำให้กู้ผ่านยาก” พรนริศกล่าว

ผู้ประกอบการจึงต้องเบนเข็มไปขายสินค้าให้กลุ่ม ‘เคขาบน’ ซึ่งเป็นตลาดที่ขายและโอนง่ายกว่า “ปีนี้ยิ่งแพงยิ่งขายดี” พรนริศกล่าว

 

หวังมาตรการรัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาภาระ

ด้าน “วสันต์ เคียงศิริ” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่จีดีพีไทยปี 2567 ที่คาดการณ์ขณะนี้ก็ยังถือว่าต่ำกว่าที่ควร (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโต 1.8% ส่วนคาดการณ์ปี 2567 น่าจะเติบโต 2.8%)

ทำให้ปีนี้น่าจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐออกมาอีก จากปัจจุบันมีเพียงโครงการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ออกมากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย

“วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดตอนนี้ ผมว่าคือการให้คนมีตังค์ออกมาใช้ตังค์ และเป็นนโยบายที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมากเลย อาจจะให้ incentive (แรงจูงใจ) สักหน่อยเพื่อให้เขาจับจ่าย” วสันต์กล่าว โดยเสริมว่าหากมีมาตรการเกี่ยวกับภาคอสังหาฯ ก็ยินดี เพราะภาคอสังหาฯ เองมีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 8-9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6% ของจีดีพีประเทศ และหากรวมกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ จะถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเป็น 12% ของจีดีพีประเทศ

วสันต์เชื่อว่าปี 2567 นี้ภาคอสังหาฯ ก็ถือว่ายังไม่อยู่ในวิกฤตที่สุด เพราะหากจับตลาดลูกค้าที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ก็จะยังขายได้

“ตอนนี้ยังไม่แย่เท่าปี 2540 นะ เพราะสมัยนั้นแบงก์พาณิชย์หยุดปล่อยสินเชื่อบ้านกันเกือบทั้งตลาดเลย เพราะทุกคนสภาพแย่กันหมด ยุคนี้ถ้าเจอลูกค้าที่ประวัติพร้อม แบงก์ก็ยังพร้อมปล่อยสินเชื่อให้เลย และอยากอัดวงเงินให้มากกว่า 100% ด้วย” วสันต์กล่าวปิดท้าย