มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์แห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเฉิงตู ได้จัดทำดัชนีความมั่งคั่งและรายได้ของครัวเรือนชาวจีน รวมถึงดัชนีหนี้ในครัวเรือน พบว่ารายได้และความมั่งคั่งของครัวเรือนในแดนมังกรลดลง และยังไม่กลับสู่สภาวะปกติแต่อย่างใด
ดัชนีความมั่งคั่งและรายได้ของครัวเรือนชาวจีน มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์แห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเฉิงตู เป็นผู้จัดทำ พบว่าดัชนีดังกล่าวในไตรมาส 4 ของปี 2023 ยังลดลงต่อจากไตรมาส 3 แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของชาวจีนยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ
โดยดัชนีดังกล่าวถ้าหากมีตัวเลขเกินกว่า 100 จะหมายถึงชาวจีนมีความมั่งคั่งและรายได้ครัวเรือนมากขึ้น อย่างไรก็ดีตัวเลขดัชนีในไตรมาส 4 สิ้นสุดเดือนธันวาคมอยู่ที่ 96.1 และ 94.1 ตามลำดับ ลดลงจากไตรมาส 3 ของปี 2023 ติดต่อกัน
ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 61% ยังชี้ว่ารายได้ของครอบครัวยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ขณะที่ประมาณ 10% รายงานว่ารายได้ลดลงอย่างมาก ในขณะที่อีก 10% กล่าวว่ามีรายได้ลดลงเล็กน้อย
ขณะที่ดัชนีหนี้ครัวเรือนที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดทำ โดยดัชนีดังกล่าวถ้าหากมีตัวเลขเกินกว่า 100 จะหมายถึงชาวจีนมีหนี้ครัวเรือนมากขึ้น โดยดัชนีดังกล่าวล่าสุดอยู่ที่ 103.4 ลดลงจากไตรมาส 4 ของปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ 113.7 แสดงให้เห็นว่าสภาวะหนี้ครัวเรือนถือว่าผ่อนคลายลงบ้าง ซึ่งถือเป็นข่าวดีเล็กๆ ของเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลานี้
อย่างไรก็ดีผลสำรวจครัวเรือนโดยให้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยครัวเรือนที่มองว่าเศรษฐกิจดีขึ้นลดลงเหลือแค่ 22% เท่านั้น ลดลงจากผลสำรวจในไตรมาส 1 ซึ่งอยู่ที่ 31.3%
ปัญหาด้านเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลกระทบจากอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลต่อชนชั้นกลางจีนที่มีอยู่มากกว่า 400 ล้านคนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่หดตัวลงไม่ต่ำกว่า 2 ไตรมาสติดต่อกัน หรือแม้แต่สินค้าฟุ่มเฟือยหลายชนิดที่ชนชั้นกลางจีนอย่างสินค้าหรู ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว
ดัชนีสำรวจความมั่งคั่งและรายได้ครัวเรือนของมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์แห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ถือเป็นมาตรวัดที่ใช้เพื่อดูสภาวะชนชั้นกลางของจีนว่ามีความเป็นอยู่เช่นไร โดยครอบครัวที่ได้ทำแบบสอบถามนั้นจะต้องมีมูลค่าทรัพย์สินและสินทรัพย์ทางการเงินรวมกันโดยเฉลี่ย 1.49 ล้านหยวน ในขณะที่รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 159,000 หยวน
ในรายงานดังกล่าวยังชี้ว่า “ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและครัวเรือนที่มีประชากรวัยกลางคนมีความคาดหวังเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ต่ำ และเป็นกลุ่มหลักที่ต้องการเพิ่มความเชื่อมั่นในอนาคต” ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลจีนที่จะต้องออกมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ได้
ที่มา – South China Morning Post