เมื่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยน “ผู้นำ” ต้องเป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลง

 

เมื่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยน “ผู้นำ” ต้องเป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลง (Management  of Change)

หลายท่านที่เคยผ่านประสบการณ์ทำงาน และเคยเปลี่ยนงาน เคยถามตัวเองหรือไม่ว่าที่คุณเดินออกจากองค์กรนั้น “คุณออกเพราะองค์กร หรือ ออกเพราะคนในองค์กร”     

คงไม่แปลกที่เวลาออกจะมีการ Exit Interview คือ สัมภาษณ์ก่อนที่พนักงานจะเดินออกจากองค์กร ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นข้อมูลจริงหรืออาจไม่จริงก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งหากมองกลับกัน ถ้ามีพนักงานที่อายุงานมากกว่า 5 ปีขึ้นไปลาออกจากองค์กรโดยไม่มีเหตุผลใดๆ นั้น องค์กรนั้นคงต้องกลับมาทบทวนองค์กรหรือต้องวิเคราะห์องค์กรว่าที่ “พนักงานลาออกนั้นเป็นเพราะองค์กรหรือเพราะคนในองค์กร”

เป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องมาวิเคราะห์ให้ดี มีหลายองค์กรไม่ได้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change  Agent ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง

เราจะเห็นองค์กรหลายๆ องค์กรที่ขาดการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง จะใช้การบริหารแบบเดิมๆ และกลยุทธ์แบบเดิมๆ และคิดว่ากลยุทธ์เหล่านั้นจะประสบผลสำเร็จเสมอไป ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ทั้งหมด ผู้นำที่ดีหรือLeader ที่ดี ลองตอบคำถามเหล่านี้

องค์กรเราเกิดมาเพื่ออะไร?

องค์กรเราเกิดมาเพื่อใคร?

ทุกวันนี้เราอยู่ได้เพราะใคร?

แล้ววันข้างหน้า จะอยู่อย่างไร?

จะเห็นได้ว่า ผู้นำวันนี้ “ต้องสร้างองค์กรที่มีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง” หน้าที่ของผู้นำองค์กรจะต้องสร้างแรงบันดาลใจในคุณค่าหลักหรือ Core Value ให้จงได้ในองค์กร

เนื่องจากมีหลายองค์กรจะพบว่า ความหลากหลายในคนทำงานหรือ “Diversity Workforce” เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กร แต่ผู้นำองค์กรที่ดีนั้นจะต้องพยายามออกแบบองค์กรให้เหมาะกับบุคลิกขององค์กรตนเองให้ได้ เนื่องจากในแต่ละองค์กรจะมีหลายเชื้อชาติ หลายเพศ หลากหลายอายุ ความเชื่อและวัฒนธรรมที่หลากหลาย “Many Culture” รวมถึงกฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่นก็อาจถูกต่อต้านได้ ผู้นำที่ดีต้องไม่นึกถึงตัวเองฝ่ายเดียว ต้องให้ความสำคัญแบบองค์รวม หรือ “Holistic”

การให้ความสำคัญนั้นต้องให้ความสำคัญทั้งลูกค้าภายนอกและลูกค้าภายในด้วย ต้องเป็นนักสร้างสะพาน (Build Bridge) เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทั้งผู้ถือหุ้น (Stakeholders), ลูกค้า (Customer), สังคม (Community), พนักงาน (Employees)

“หลายๆ องค์กร ผู้บริหารมักจะมีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหรือ (Resistance to Change) อาจเป็นเพราะปัจจัยต่างๆ เช่น ความกลัว, กลัวความไม่แน่นอน (Uncertainly), การสูญเสียผลประโยชน์ส่วนตน หรือความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์”

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพราะทีมผู้บริหาร หรือโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงหรือไม่ จึงไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง จึงเกิดแรงต่อต้านขึ้นมาก ทั้งแรงต่อต้านส่วนบุคคลและแรงต่อต้านในโครงสร้างองค์กร

จะเห็นได้ว่าหลายๆ Business ที่ทุกท่านเคยรู้จักกันดี แต่ชื่อเหล่านี้กลับหายไปจากธุรกิจหรือกำลังจะตกลำดับไปจากธุรกิจ หรือเป็นตำนานไปแล้ว เช่น โกดัก ซึ่งองค์กรเหล่านี้ขาดการปฏิวัติตนเอง และวิวัฒนาการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง คือไม่มีทั้ง Evolution และ Revolution คือไม่มีการวิวัฒนาการและปฏิวัติองค์กร ดังนั้น สิ่งที่ต้องมองในการเปลี่ยนแปลงองค์กร หรือ Organizational Change คือ โครงสร้างองค์กร, เทคโนโลยีทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และคนพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

 

รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงคือการเปลี่ยนแปลงใน 3 ส่วนคือ

1. ด้านโครงสร้าง (Structure) ลำดับชั้นการบังคับบัญชา เลือกรูปแบบการจัดการ การจัดสรรอำนาจ การกระจายอำนาจ การรวมอำนาจ การออกแบบงาน 

2. ด้านเทคโนโลยี (Technology) ผู้บริหาร กระบวนการทำงาน วิธีการ และเครื่องมือ

3. ด้านบุคลากร (People) ทัศนคติ ความคาดหวัง การมีส่วนร่วมและพฤติกรรม

ลองถามและหันกลับมาดูองค์กรตนเองว่าจะเป็นองค์กรแบบตกยุค หรือเป็น Product ที่เป็นแค่ตำนานให้คนเล่าขานกันหรือให้จดจำและใช้อยู่เสมอ คำตอบอยู่ที่ว่า เมื่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป 

“องค์กรคุณจะตั้งกำแพงกั้น หรือจะลู่ตามลม คงต้องถามผู้นำว่ามี Management of Change หรือไม่ และองค์กรของคุณมี Evolution และ Revolution ทั้งปฏิวัติองค์กรและวิวัฒนาการหรือไม่”

ในครั้งต่อไปคงมีเรื่องราวดีๆ มาแลกเปลี่ยนกันอีกแน่นอน ในฉบับหน้า…