KBTG ชูกลยุทธ์ 3 ปี ‘Human-first x AI-first Transformation’ เพื่อยกระดับการบริการในเครือธนาคารกสิกรไทย

กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ชูกลยุทธ์ 3 ปีข้างหน้า ‘Human-first x AI-first Transformation’ หรือการขยายศักยภาพขององค์กรด้วยปํญญาประดิษฐ์โดยคงมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง และยังเตรียมงบลงทุนสูงสุดถึง 9,000 ล้านบาท เป้าหมายสำคัญคือเพื่อยกระดับการบริการในเครือธนาคารกสิกรไทย 

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้กล่าวถึงการทำ Transformation ขององค์กรอย่าง KBTG ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลากร หรือแม้แต่เทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่ปี 2019 และสามารถบรรลุเป้าหมายได้ภายในปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งไวกว่ากำหนดถึง 2 ปี

ผลลัพธ์ที่ได้คือ ระบบไอทีของธนาคารกสิกรไทยมีเสถียรภาพมากที่สุดเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน มีเปอร์เซ็นต์ความพร้อมในการให้บริการของระบบมากถึง 99.99% รองรับธุรกรรมทางการเงินถึง 23.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 35% ของธุรกรรมทางการเงินในประเทศไทย

การยกระดับสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีให้ทันสมัย การปรับระบบการทำงานด้วย Agile และ Automation การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือแม้แต่การขยายองค์กรออกไปยังภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

สำหรับกลยุทธ์ 3 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ KBTG ตั้งเป้าที่จะขยายศักยภาพขององค์กรด้วยปํญญาประดิษฐ์ (AI) โดยคงมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง เรียกว่า Human-first x AI-first Transformation เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ภาพจาก KBTG

กลยุทธ์ Human-first x AI-first Transformation ของ KBTG ประกอบไปด้วย

  1. ขยายขีดความสามารถด้านไอทีและเทคโนโลยีสู่ระดับโลก
  2. ตั้งเป้าเป็น AI-First Organization ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI รวมถึงปรับกระบวนการทำงานภายในองค์กร
  3. เพิ่มความสามารถในการผลิตด้วย Machine Learning และ AI รวมถึง Data (M.A.D) โดยตั้งเป้าหมายที่ 100,000 Man Days และทำงานเร็วขึ้น 2 เท่าภายใน 3 ปี
  4. เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถด้าน AI ให้กับพนักงาน KBTG รวมไปถึงบุคคลทั่วไป
  5. Transform สู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีระดับภูมิภาคแบบเต็มตัว
  6. พัฒนา KBTG ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีฝีมือและใฝ่ฝันที่จะเติบโตในสายงานเทคโนโลยี

นอกจากนี้ KBTG ได้เตรียมงบลงทุนอีกประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท โดยเน้นไปที่การยกเครื่องระบบเครดิตจากต้นน้ำยันปลายน้ำ (Rearchitect E2E Credit), แพลตฟอร์มบริหารความมั่นคั่ง (Wealth Platform), AI, Credit Card และ Infrastructure as a Service ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างไอทีพื้นฐาน

สำหรับเทคโนโลยีที่ KBTG ได้นำ AI เข้ามาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ระบบเปรียบเทียบใบหน้า (Face Recognition) และยืนยันหน้าจริง (Face Liveness) ระบบตรวจสภาพรถยนต์แบบอัตโนมัติเพื่อประเมินความเสียหายจากรูปภาพ สำหรับธุรกิจประกัน ซื้อขายรถยนต์มือสอง และอื่นๆ

แผนการดังกล่าวของ KBTG เรืองโรจน์ มองว่าหลายๆ ส่วนนั้นเพื่อที่จะยกระดับการบริการของเครือธนาคารกสิกรไทย และการที่จะนำเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาได้ต้องลงไปฟังเจ้าหน้าที่ที่ทำงานจริง ว่ามีปัญหาติดขัดในส่วนไหน เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีที่พัฒนาไปแก้ปัญหา หรือทำ Transformation

นอกจากนี้ เรืองโรจน์ ยังได้กล่าวถึงเรื่องของการ Transformation ว่าเปรียบได้เป็นเหมือนกับการผจญภัยที่ไม่มีวันสิ้นสุด