“ธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้า จริง ๆ แล้วไม่เคยทำตามใจผู้บริโภคเลย ทำตามใจตัวเองอย่างเดียว” นพพร วิฑูรชาติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (เอสเอฟ) บอกขำๆ ก่อนยกตัวอย่างให้ฟังต่อว่า
“ไม่ต้องเซอร์เวย์หรอกครับ สมัย 10 กว่าปีก่อนประเทศไทยไม่มีไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วยซ้ำ ไม่ต้องไปถามผู้บริโภคหรอกว่าถ้ามีห้างที่มีของเยอะๆ ให้คุณต้องเข็นของเอง จ่ายตังค์เองเอาไหม ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครเอา วิธีคิดเริ่มแรกคือ ถ้าเกิด Success Model ที่เมืองนอกมันก็ต้อง Success ที่อื่น เพราะพฤติกรรมคนใกล้เคียงกัน อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน” นี่คือความเชื่อของนพพร
กรณีการเกิดขึ้นของเมกา บางนา ที่กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 5 เดือน 5 ปี 2555 หลังจากต้องเลื่อนมาจากกำหนดเดิมวันที่ 11 เดือน 11 ปี 2011 (2554) เพราะน้ำท่วมใหญ่ก็เช่นเดียวกัน นพพรบอกว่าไม่ได้คิดที่จะทำมาก่อน บังเอิญมีโจทย์ว่าอิเกีย (IKEA) อยากจะเข้ามาเปิดในเมืองไทย เมื่อเป็นกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ก็ต้องมีแม่เหล็กของศูนย์หลายตัว วิธีก็คือหาที่ใหญ่ๆ ทำที่จอดรถเยอะๆ ให้เข้าออกสะดวก พร้อมกับยืนยันว่าไม่ต้องจ้างบริษัทมาถามผู้บริโภคว่าจะไปไหมถ้ามีศูนย์
“เซอร์เวย์ถ้าจะทำ ดูแค่กำลังซื้อถึงหรือเปล่า ปริมาณคนพอไหม แต่ไม่ต้องไปถามว่าเขาชอบหรือเปล่า ในฐานะผู้พัฒนาเราต่างหากมีหน้านำธุรกิจเข้าสู่วงการโดยเอ็ดดูเคทลูกค้าให้รู้จักประสบการณ์ใหม่และความทันสมัย”
ไม่ใช่แค่เมกา บางนา Many Malls หรือศูนย์การค้าหลายๆ รูปแบบที่นพพรพัฒนามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ คอมมูนิตี้มอลล์ หรือเมกามอลล์ ล้วนเกิดขึ้นด้วยความเชื่อแบบเดียวกันนี้
นพพร พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็น Trend Setter ในธุรกิจค้าปลีก ได้ฉายาพ่อมดไลฟ์สไตล์มอลล์ก็เพราะเป็นผู้นำรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดไทย การพัฒนาโครงการของเขามีโจทย์อยู่ 2 แบบ หนึ่ง-มีที่ดินมาเสนอแล้วค่อยคิดว่าจะทำอะไรดี สอง-ดูว่าตรงไหนอยากไป ก็เช็กดูรัศมีของพื้นที่ว่ามีคนเกิน 5 หมื่น หรืออย่างน้อย 2 หมื่นหลังคาเรือนไหมสำหรับคอมมูนิตี้มอลล์ แบบแรกนพพรบอกว่าคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเสมอ ส่วนแบบที่สองคือหลักการทั่วๆ ไป
แต่การพัฒนาโครงการให้สำเร็จต้องยกให้ประสบการณ์ของเขา ทั้งจากชีวิตส่วนตัวที่เติบโตคุ้นเคยมากับธุรกิจตลาดสดจากรุ่นปู่ ทำตลาดสดมีนบุรี มีที่ดินสะสมจนไปเข้าตาห้างจัสโก้ของญี่ปุ่นซึ่งเคยบูมมากในไทย เป็นห้างแรกที่มีที่จอดรถหน้าห้างให้ลูกค้าจอดรถลงมาซื้อของสะดวก กับประสบการณ์การเป็นพนักงานในเครือเอสซีจีที่ทำให้เข้าใจระบบและเคารพในกติกาทางธุรกิจที่ต้องทำตามข้อตกลงและซื่อสัตย์ ทำให้จัสโก้ญี่ปุ่นชวนร่วมทุน ส่งตัวไปดูงานด้านค้าปลีกจนเขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ และหันมาพัฒนาโครงการค้าปลีกของตัวเองหลายต่อหลายโครงการต่อมาในภายหลัง
“สิ่งที่ผมได้จากการทำงานที่เอสซีจีคือเรื่องการจัดการ ซึ่งในยุคผมพนักงานใหม่จะได้รับการกล่อมเกลา สร้างวัฒนธรรมองค์กร ทุกคนมองภาพเดียวกันออกว่าบริษัทคืออะไร เข้าใจว่าพนักงาน ผู้ถือหุ้น คืออะไรมีความหมายอย่างไร บวกกับส่วนตัวเป็นคนชอบท่องเที่ยวเดินทาง ชอบช้อปปิ้งเดินได้ทั้งวัน นิสัยชอบของสวยๆ งาม จนผู้หญิงชอบให้เดินเป็นเพื่อนช้อปปิ้ง ตอนญี่ปุ่นเข้ามาแถบนี้เจอแต่เถ้าแก่สไตล์คนจีน พอมาเจอเจ้าของที่สไตล์พนักงานเครืออย่างเราก็คุยรู้เรื่อง เข้าใจการทำธุรกิจสัญญาเป็นสัญญา ผมก็เชื่อคนง่าย เขาให้ไบเบิลมาเขียนว่าต้องทำอะไรก็ทำตามหมดแล้วก็ประสบความสำเร็จดี เขาก็ส่งเราไปเทรนที่ญี่ปุ่นที่อเมริกาเสร็จแล้วก็ทำงานกับเขา ทำธุรกิจร่วมกัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นขยายกันมาเรื่อยๆ”
นพพร จึงกลายเป็นเจ้าของฉายาเทรนด์เซตเตอร์ของธุรกิจค้าปลีกในวันนี้ ด้วยองค์ประกอบที่มีครบ 3 ด้านในตัวก็คือ แบ็กกราวนด์จากธุรกิจครอบครัว ลักษณะนิสัยความชอบส่วนตัว และรูปแบบการจัดการองค์กรอย่างมืออาชีพ ตามที่เขาเล่ามานั่นเอง