ตอนนี้หลายประเทศพยายามที่จะดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป มากขึ้น หลังจากที่เคยเอาแต่พึ่งพาจีน ขณะที่ อินเดีย ที่ปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่บริษัทไอทีหลายรายย้ายมาใช้เป็นฐานการผลิต ทำให้อินเดียมีความหวังที่จะขึ้นเป็นประเทศ Top 5 ของโลกด้านการผลิตชิป
Ashwini Vaishnaw รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ รถไฟ และการสื่อสาร ของอินเดีย ประกาศว่า อินเดียต้องการเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจากการรายงานของ เทรนด์ฟอร์ซ ระบุว่า ปัจจุบัน 5 ประเทศที่ผลิตชิปได้มากที่สุดของโลก ได้แก่
- ไต้หวัน (46%)
- จีน (26%)
- เกาหลีใต้ (12%)
- สหรัฐอเมริกา (6%)
- ญี่ปุ่น (2%)
หลังจากที่ความตึงเครียดของสหรัฐฯ – จีนไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงในเร็ววัน ทำให้หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทไอทีต้องการลดการพึ่งพาจีน ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ โดยล่าสุด ควอลคอมม์ (Qualcomm) บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดศูนย์ออกแบบใหม่ในเมืองเจนไน โดยโรงงานจะเน้นการออกแบบเทคโนโลยีไร้สายและสร้างงาน 1600 ตำแหน่งในประเทศ
“อุตสาหกรรมชิปเป็นตลาดที่ซับซ้อนมาก และเราคิดว่าในอีกห้าปีข้างหน้า เราจะเป็น Top 5 ประเทศเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก เนื่องจากมั่นใจว่าอินเดียเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้” Ashwini Vaishnaw กล่าว
นอกจากการลงทุนของควอลคอมม์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียพึ่งเปิดตัวโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ 3 แห่ง หนึ่งในโรงงานเหล่านั้นเป็นการร่วมทุนระหว่าง Tata Electronics และบริษัท PowerChip Semiconductor Manufacturing Corp. ของไต้หวัน โดยมีเป้าหมายคือการสร้างชิปเซมิคอนดักเตอร์ตัวแรกของอินเดียภายในปี 2026
ทั้งนี้ Ashwini Vaishnaw คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 7 ปีข้างหน้า และบริษัททั่วโลกกำลังมองว่าอินเดียเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการตัดสินใจลงทุนครั้งต่อไป และตอนนี้รัฐบาลกำลังตรวจสอบข้อเสนอการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศรวมมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์