ต่าง Gen ก็มูต่างกัน! ล้วงลึกพฤติกรรมการ ‘มูเตลู’ ของคนไทย ที่ไม่ใช่ความงมงายแต่เป็น ‘วิถีชีวิต’

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ มูเตลู เป็นอะไรที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน เพราะการมูถือเป็น เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกเจนจะมูเหมือนกัน ไปดูอินไซต์การมูของคนไทยที่ศึกษาโดย สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ว่าแต่ละเจนมีความเชื่ออย่างไร และ แบรนด์ จะนำไปปรับใช้กับการทำการตลาดได้อย่างไรบ้าง

88% เชื่อเรื่องมู และมูเพื่อจะรวย

จากคำตอบของผู้เข้าร่วมทำแบบทดสอบกว่า 1,200 คน ทั่วประเทศไทย พบว่า กว่า 88% เชื่อเรื่องการมู และกว่า 52% มองว่า การมูเป็น เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และแม้ว่าคนไทยจะเน้นเรื่องครอบครัวเป็นศูนย์กลาง แต่ 65% ขอพรเพื่อตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่คิดถึงครอบครัว แต่อาจจะมีปัญหาบางอย่าง ความปรารถนาบางสิ่งที่ไม่สามารถบอกใครได้ เลยมาขอกับการมู

ที่น่าสนใจคือ อันดับ 1 ในการขอก็คือ เรื่องเงิน (44%) ตามด้วย เรื่องโชคลาภ (17%) ซึ่งก็ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินอยู่ดี ตามด้วยการมูเรื่อง สุขภาพ (12%) ส่วนการมูเรื่อง การงาน มีเพียง 8% เท่านั้น เนื่องจากคนไทยมองว่า การทำงานเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับการนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงกับผู้ชายก็มีความต้องการการมูที่ต่างกัน โดยผู้ชายมีแนวโน้มที่จะต้องการผู้รับฟัง แต่ผู้หญิงต้องการการฟันธง

“พฤติกรรมการมูสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ เขามองว่าเขาไร้ที่พึ่ง การมูเตลูจึงเป็นเสมือนครึ่งยึดยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นเครื่องเสริมความมั่นใจ” กรรณ ทองศรี ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ กล่าว

ต่างเจนก็มูต่างกัน

แม้ว่าจะเชื่อเรื่องมูเหมือนกัน แต่ใช่ว่าแต่ละเจนจะใช้วิธีมูเหมือน ๆ กัน โดย Gen X #มูแบบtraditional โดยคนที่อยู่ในช่วงอายุ 43 – 58 ปี เน้นเรื่องการ สวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญทำทาน โดยมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็น Booster หรือเป็นตัวช่วย Top up ความพยายาม เสริมความหวังและกำลังใจให้แก่ตนเอง และด้วยช่วงอายุที่มากขึ้น ทำให้ชาว Gen X มีการมูเตลูเพื่อ ขอเรื่องสุขภาพมากกว่า เจนอื่น ๆ เพราะการมีสุขภาพที่ดี คือการเพิ่มความมั่นใจว่าชีวิตจะไม่สะดุด สามารถลุยงานและเอ็นจอยชีวิตได้อย่างเต็มที่ และยังลดความเสี่ยงในการเป็นภาระของคนรอบข้างอีกด้วย

Gen X เติบโตในช่วงเริ่มต้นทุนนิยมในไทย เน้นการยึดหลักปฏิบัติและธรรมเนียมที่มีมาแต่รุ่นก่อน และมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องนี้ภูมิใจ และยืนหนึ่งเรื่องความพยายาม ทำให้การมูเป็นตัวเสริมความพยายามที่ทำ” ดวงแก้ว ไชยสุริวิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ กล่าว

Gen Y มูหมดไม่สนลูกใคร

Gen Y มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวคือ เปิดรับ และ ปรับตัวเก่ง โดยเปิดกว้างให้กับความศรัทธาแบบไร้ขีดจำกัด ได้ทุกศาสนาและความเชื่อ ขอแค่มอบผลลัพธ์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการแบบเฉพาะเรื่องได้ โดย Gen Y เอง ถือเป็นช่วงอายุที่เป็นวัยสร้างตัว จึงมักได้ชื่อเล่นว่าเป็น เดอะแบก มีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่และครอบครัวของตัวเอง ดังนั้นจึงโฟกัสกับ การเงินและการงานมากกว่าเจนอื่น เพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าในชีวิต

“คนในช่วงอายุ 27 – 42 ปี เติบโตมาในช่วงจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นยุครอยต่อระหว่าง analog-to-digital จึงมีการเปิดรับและปรับตัวกับสิ่งใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี” พร้อมพร สุภัทรวณิช รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลุยทธ์ กล่าว

Gen Z มูนะแต่ไม่ (ค่อย) แสดงออก

สำหรับการมูแบบ Gen Z จะเป็นการ blend in แบบเนียน ๆ จะไม่ใช่การใส่เครื่องรางของขลังแบบเด่น ๆ แต่จะอยู่ในรูปแบบของ แฟชั่นและสีสันในชีวิตประจำวัน ใช้เพื่อเป็น Gimmick ทั้งในด้านการซัพพอร์ตและฮีลใจนั้น ไม่ว่าจะเป็นการ ใส่เสื้อผ้าสีมงคล เครื่องประดับมงคลชิ้นเล็ก ๆ หรือตั้ง วอลเปเปอร์บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 11 – 26 ปี เติบโตในยุคดิจิทัลพร้อมปรับเปลี่ยน เพื่อสิ่งใหม่ ๆ และเอ็นจอยชีวิตได้ทุกสถานการณ์

โดย Gen Z จะเน้นมูไปที่ การงานและการเรียน เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังอยู่ทั้งในวัยเรียนและกำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการค้นหาตัวเอง เลือกทางเดินในการมีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง เพื่ออนาคตที่สดใสและชีวิตที่ดีกว่าเดิม

Gen Z เน้นมูแบบ blend in เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน มองการมูเป็น Gimmick เป็นลูกเล่น สีสัน เสริมพลังใจและใช้เป็น Topic ในการไปคุยกับเพื่อน ๆ ได้ ไม่ใช่แค่สร้างความมั่นใจแต่ยังเพิ่มเรื่อง Relationship ได้” 

แบรนด์จะทำอย่างไรมัดใจสายมู

จากผลสำรวจดังกล่าวจะเห็นว่าผู้บริโภคเปิดใจกับการมูมาก และการมูก็มีผลต่อเรื่องการตัดสินใจจะซื้อสินค้า เพราะนอกจากฟังก์ชันนอลที่ลูกค้ามองหา เรื่องมูจะเข้ามาช่วยเรื่องอีโมชันนอล ดังนั้น จะเห็นว่าแบรนด์ใหญ่ ๆ ลงมาทำการตลาดเรื่องมู แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แบรนด์ก็ต้องทำให้เหมาะกับแบรนด์ และจะจับ Gen ไหนต้องชัดเจน

สำหรับ Gen X อาจจะเน้นการส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพเป็นหลัก โดยสามารถเพิ่มความน่าสนใจและคุณค่าในแง่ของความสุขทางใจ ด้วยกิจกรรมมูเตลูที่พวกเขาคุ้นเคย เช่น กิจกรรมเดิน-วิ่ง 9 วัด ให้คน Gen X ได้สวดมนต์ ทำบุญขอพรและได้ออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน หรือจัดทำ Packaging บทสวดมนต์/บทอวยพรมงคล ที่ช่วยให้สามารถสวดเพิ่มกำลังใจได้ทุกที่ทุกเวลา แต่แบรนด์ควรคำนึงถึงขอบเขต และความเหมาะสมตามธรรมเนียมและวิถีปฏิบัติที่ชาว Gen X ยึดถือด้วย

ดวงแก้ว ไชยสุริวิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ (ซ้าย), กรรณ ทองศรี ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ (ตรงกลาง), พร้อมพร สุภัทรวณิช รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลุยทธ์ (ขวา)

ส่วน Gen Y มีนิสัยเปิดกว้าง ชอบลองของใหม่ ชอบโพสต์และแชร์ชีวิตแบบฮิป ๆ ของตัวเอง ดังนั้น แบรนด์อาจ recommend การมูแบบใหม่ ๆ ที่ไม่มีมาก่อน โดยยึดหลัก จุดประสงค์ชัด ประสบการณ์ใหม่ ถ่ายรูปสวย เช่น “Meet and Mu” ทริปมูเตลูที่เน้น new spot ทั้งในและนอกประเทศ พร้อมการ tie-in สินค้าหรือบริการของแบรนด์ นอกจากจะได้มูตามศรัทธาแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้เที่ยวและพบปะเพื่อนใหม่ ๆ คอเดียวกัน และยังได้รูปสวย ๆ ไปโพสต์ได้ด้วย แต่ท้ายที่สุดแบรนด์ควรระวังความถูกต้องชัดเจนของข้อมูลต่าง ๆ เพราะคนเจนนี้ชอบค้นหา และแชร์ข้อมูลกับคนรอบข้าง

มูแบบมินิมอล หรือ มูแบบไม่ตะโกน คือ มอบความสนุก ความมั่นใจ ไม่ใช่ขายความเชื่อ จะถูกจริตชาว Gen Z ที่สุด แบรนด์สามารถเพิ่มโอกาสในการเชื่อมต่อกับคน Gen Z ได้ด้วยการเสริมเรื่องราวมูเตลูที่ ดูดีมีสไตล์ และ เอ็นจอยร่วมกันกับเพื่อน ๆ ให้กับสินค้าหรือบริการ เช่น จัดแพ็กสินค้าสีมงคล สำหรับทุก ๆ วัน หรือ สติกเกอร์รวมพลังเทพครบเซต อีกหรือทำสินค้าแฟชั่น/ accessories หรือกลุ่มบิวตี้ ที่มี สีมงคลพาสเทล เสริมความสนุกและความมั่นใจ ให้กับพวกเขาทั้งในชีวิตประจำวันและโลกออนไลน์