กูเกิล (Google) เตรียมที่จะทำลายข้อมูลผู้ใช้งานในโหมด ‘ท่องเว็บแบบไม่ระบุตัวตน’ หรือ Incognito Mode หลังถูกฟ้องเป็นคดีความ โดยบริษัทได้เก็บข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2016 แม้ว่าบริษัทจะยืนยันว่าไม่ได้นำไปใช้งานเพื่อระบุตัวตนของผู้ใช้งานก็ตาม
Google เตรียมที่จะทำลายข้อมูลผู้ใช้งานในโหมดท่องเว็บแบบไม่ระบุตัวตน หรือ Incognito Mode หลังบริษัทได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา แม้ว่าบริษัทจะกล่าวว่าข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถที่จะสืบถึงการใช้งานของผู้ใช้งานได้ก็ตาม
ผู้ใช้งานที่ฟ้อง Google ชี้ว่ายักษ์ใหญ่ไอทีรายนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงเก็บ Cookies แม้ว่าผู้ใช้งานจะใช้งาน Incognito Mode หรือโหมดการท่องเว็บแบบไม่ระบุตัวตนในเว็บเบราว์เซอร์อื่น ซึ่งทำให้บริษัทสามารถรู้ถึงพฤติกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหารโปรด งานอดิเรก พฤติกรรมการซื้อของ จนถึงเรื่องส่วนตัวได้
นอกจากนี้ในคดีดังกล่าวยังมีอีเมลภายในของ Google ที่ถูกนำไปใช้ในคดีแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ที่ใช้โหมดท่องเว็บแบบไม่ระบุตัวตนนั้นได้ถูกติดตามจากพฤติกรรมการค้นหาและการโฆษณาเพื่อที่จะวัดปริมาณการเข้าชมเว็บและใช้วัดผลในการขายโฆษณา
ข้อมูลการใช้งาน Incognito Mode นั้นถูกเก็บตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมานั้นมีระดับหลายพันล้านข้อมูล
Jorge Castaneda โฆษกของ Google กล่าวในแถลงการณ์ว่า บริษัทยินดีที่จะยุติคดีนี้ และยินดีที่จะลบข้อมูลทางเทคนิคเก่าๆ ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับบุคคลใดๆ และบริษัทไม่ได้นำข้อมูลไปใช้เพื่อระบุตัวตน
ไม่เพียงเท่านี้ในการยอมความ Google จะต้องเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการรวบรวมข้อมูลใน Incognito Mode ช่วง 5 ปีหลังจากนี้ และในโหมดดังกล่าวบริษัทจะต้องบล็อกคุกกี้ของบุคคลที่สามเป็นค่าเริ่มต้นรวมถึงต้องแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบถึงการเก็บข้อมูลว่ามีอะไรบ้าง
โดยประเด็นดังกล่าวตามหลังมาจากที่ Google ได้ยอมความในคดีความที่ถูกฟ้องร้องหมู่ในกรณีความเป็นส่วนตัว ซึ่งคดีความได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งทนายของโจทก์ประเมินว่าความเสียหายนั้นอยู่ในช่วง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ดีคดีความดังกล่าว แม้ผู้ใช้งานจะไม่ได้รับความเสียหาย แต่คดีความดังกล่าวถ้าหากมีผู้เสียหายก็สามารถที่จะฟ้องร้องรายบุคคลเพื่อเรียกค่าเสียหายกับ Google ได้
ประเด็นเรื่องของความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานนั้นได้ถูกยกเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำข้อมูลของผู้ใช้งานมาวิเคราะห์การใช้งาน ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งนั้นต้องยอมความในเรื่องดังกล่าว และมีการจ่ายค่าเสียหาย เช่น กรณีที่ Facebook ต้องจ่ายเงินในกรณีของ Cambridge Analytica หรือแม้แต่กรณีของ Google ในครั้งนี้