ใส่ยีนส์ลีวายส์ สวมรองเท้าไนกี้ แล้วอย่าลืมหูฟัง “Beats” ด้วยล่ะ

มาแล้ว… วัฒนธรรม “หูฟัง” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าวัยรุ่นยุคนี้มีวัฒนธรรมร่วมกัน ใส่ยีนส์ลีวายส์ สวมรองเท้าผ้าใบไนกี้ คว้าหมวกและกระเป๋าแบ็กแพ็กเท่ๆ พร้อมด้วยเครื่องเล่นเพลงและหูฟัง Beats 

เราสามารถพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าคนยุคใหม่โดยเฉพาะวัยรุ่น มีหูฟังเป็นเพื่อน หลายคนติดหูฟังเพราะต้องการปลีกวิเวก ตัดปัญหาเสียงวุ่นวายอันไม่พึงประสงค์รอบข้าง (จนบางครั้งอาจถูกมองว่าเป็นพวกต่อต้านสังคม) โดยเฉพาะเวลาเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนทั้งหลาย หลายคนติดหูฟังเพราะหลงใหลคลั่งไคล้ในเสียงเพลงที่ถ่ายทอดผ่านหูฟังนั้นๆ และต้องการผ่อนคลายจากความตึงเครียดต่างๆ โดยมีดีไซน์บนใบหูเป็นตัวบ่งบอกอัตลักษณ์

แม้จะมีหูฟังยอดนิยมหลายแบรนด์ แต่ครั้งนี้โฟกัสไปที่ Monster Beats by dr.Dre หรือเรียกสั้นๆ ว่า Beats by Dre หูฟังแบรนด์ดังผลงานร่วมของ Monster Cable และ dr.Dre จากสหรัฐอเมริกาที่สร้างกระแสหูฟังคุณภาพมาสู่กลุ่มแมสได้อย่างน่าสนใจ แม้จะเพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2551 ก็ตาม และในปี 2553 ขายหูฟังไปกว่า 1.3 ล้านอัน มากกว่ายอดขายในปี 2552 ถึง 2 เท่า และกลายเป็น Fashion Electronics ระดับท็อปที่มีพลัง Celebrity หนุนหลัง

 

กำเนิด Beats

เกิดจากไอเดียในการทำธุรกิจง่ายๆ ของ dr.Dre ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Eminem และ 50 Cent และ Jimmy Lovine ที่ว่า “สิ่งหนึ่งที่เขาคิดต่างคือ ไม่ใช่เพราะยอดขายซีดีตกต่ำหรือการดาวน์โหลดเพลงดิจิตอลได้ฆ่าอุตสาหกรรมเพลง แต่เป็นเพราะคุณภาพเสียงที่ย่ำแย่ไม่เหมือนกับผลงานที่ผลิตในสตูดิโอซึ่งทั้งศิลปินและโปรดิวเซอร์ต่างทำงานหนักเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นเขาจึงต้องการให้คนได้ยิน ได้ฟังดนตรีในแบบที่เขาทำจริงๆ” 

แม้แต่ไอพอดก็ให้คุณภาพเสียงที่ลดต่ำลงจากคุณภาพเสียงต้นตำรับราว 20-25% นั่นหมายความว่าแม้ค่ายเพลงจะทุ่มทุนด้านเทคโนโลยีเพียงใด แต่ผู้ฟังก็กลับได้รับไปไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งผู้บริโภคไม่น้อยก็รู้สึกเช่นนั้น และนี่คือช่องว่างและโอกาสทางการตลาดที่เขามองเห็นกับกลุ่ม Sound Geek ที่มีอยู่ 

อีกด้านผู้บริโภคเองก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่มี แต่มีแล้วต้องส่งเสริมภาพลักษณ์และความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วย กอปรกับฮิพฮอพซึ่งเป็นแนวเพลงที่ได้รับความนิยมทั่วโลก และ Dr.Dre เองก็เปรียบเสมือนเจ้าพ่อในวงการ จึงส่งเสริมให้ Beats รุ่งเรือง กลายเป็นหูฟังเทพของใครหลายคน

Beats ยังเด่นที่โลโก้ตัว b สีแดง ผลิตภัณฑ์ออกแบบโดย Robert Brunner ซึ่งเคยทำงานด้านออกแบบที่ Apple มาก่อน ด้วยการคุม Look&Feel ให้ดูสวยงาม ทันสมัย       

ในระยะเวลาไม่นานได้พัฒนาหูฟังมาให้รองรับความต้องการฟังเพลงในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับหลักการพัฒนาหูฟังแบรนด์อื่นๆ โดยเป็นการพัฒนาฟังก์ชันควบคู่ไปกับแฟชั่นอย่างกลมกลืน เพื่อกระตุ้นแรงปรารถนาของผู้บริโภค

Brain Dunn ซีอีโอของ bestbuy.com ถึงกับบอกว่า Beats เป็น ลีวายส์ 501 สำหรับเจนเนอเรชั่นนี้และต่อไป 

NPD Group บริษัทด้านวิจัยการตลาดรายงานว่าแม้ปริมาณยอดขายจะไม่ติด 5 อันดับแรกของหูฟัง แต่หากคิดเป็นมูลค่าแล้วอยู่อันดับ 4 หรือมีส่วนแบ่งการตลาด 9% นับว่าไม่เลวกับแบรนด์ที่มีอายุเพียง 4 ปี โดยอันดับ 1 เป็นของ Sony 23% Skullcandy 14% และ Bose 12% 

 

ของปลอมระบาด 

บทพิสูจน์ความดังของแบรนด์ประการหนึ่งคือสินค้าลอกเลียนแบบ Beats ของปลอมแพร่ระบาด หูฟังแบบอินเอียร์ที่อ้างกันว่าก๊อบเกรด  A ราคาอยู่ที่ 750 บาท มิหนำซ้ำบางรายยังเก่งกล้าออกรุ่นที่ Beats ไม่ได้ทำออกมาวางขายกันเกร่ออีกต่างหาก ขณะที่ของจริงราคาหลายพันบาท

“ผมยอมซื้อนะ เพราะคุณภาพเสียงใช้ได้” กราฟิกดีไซเนอร์รายหนึ่งบอกถึงเหตุผลที่เลือกซื้อหูฟัง Beats แม้จะเป็นของปลอมก็ตาม 

แผงลอยที่สยามสแควร์ มาบุญครอง คลองถม บ้านหม้อ ล้วนเป็นแหล่งที่พบ Face Beats วางขายกันเกลื่อน ในสนนราคาที่ต่ำกว่าของจริงราว 60-70% รวมถึงตามเว็บไซต์ช้อปปิ้ง ออนไลน์ต่างๆ ด้วย ที่อ้างว่าเป็นของก๊อบเกรด A++ ขณะที่ของหิ้วบางรุ่นเช่นสตูดิโอมีสนนราคาเฉียดหมื่นบาท แม้จะถูกกว่าเครื่องศูนย์แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นของปลอม เพราะของจริงราคา 15,000 บาท 

ในแฟนเพจถึงกับให้ความรู้เกี่ยวกับ Fake Beats กันเลยทีเดียว ว่าเว็บไซต์ไหนขายของปลอมและเว็บไซต์ไหนเป็นดีลเลอร์ที่ได้รับลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายพร้อมการรับประกันสินค้าอยู่ถูกต้อง 

 

หูฟังซูเปอร์สตาร์

คำถามคือ แล้วทำไม Beats ถึงดังขึ้นมาได้ ???

Beats เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก จากสหรัฐอเมริกา ภายใต้กลยุทธ์ Celebrity Endosement  ซึ่งไม่มีแบรนด์ใดในตลาดนี้เคยใช้มาก่อน โดยมีเซเลบริตี้แถวหน้าอย่างจัสติน บีเบอร์ เลดี้ กาก้า ร่วมโหมโรง อย่าลืมว่าพลังของซูเปอร์สตาร์เหล่านี้แค่ขยับตัวทำอะไร แฟนคลับก็ตอบรับบูชาด้วยเสียงแซ่ซ้องก้องโลกแล้ว         

เซเลบริตี้หลายคนห้อยติดคอ สวมติดหูออกงานอีเวนต์และปรากฏในรายการทอล์กโชว์หลายรายการ ด้วยโลโก้และดีไซน์ที่สะดุดตาย่อมทำให้คนดูเกิดความอยากรู้อยากเห็นได้ไม่ยาก และนั่นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ Beats โด่งดังและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญของเขาในวงการก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้บรรดาเซเลบริตี้พร้อมใจกันร่วมสร้างหูฟังในแบบฉบับของตัวเอง 

หูฟังรุ่นพิเศษร่วมกับศิลปินในแวดวงดนตรี แฟชั่น และกีฬา มีดังนี้ คือ Diddy (DiddyBeats), Lady Gaga (HeartBeats), Justin Bieber (JustBeats) และ Lebron James (PowerBeats) นอกจากนี้ยังเป็นพันธมิตรกับดีเจระดับโลกหลายราย อาทิ YelaWolf และ Drake เป็นต้น 

โดยเฉพาะ 2 แม่เหล็กหลักที่นำ Beats เข้าสู่กลุ่มแมสอย่างแท้จริง ทั้ง เลดี้ กาก้า ได้กลุ่มแฟนคลับผู้หญิงและเกย์ที่รักแนวเพลงและตัวตนตลอดจนแฟชั่นของเธอ ขณะที่จัสติน บีเบอร์ ได้กลุ่มวัยรุ่น ที่คลั่งไคล้เขา

นิตยสาร Complex ได้ให้ความเห็นไว้ว่าในบรรดาแก็ดเจ็ททั้งหมดที่ติดตัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันของคนดัง คือไอพอด แบล็คเบอร์รี่หรือไอโฟน และยุคนี้ต้องบวก Beats เข้าไปด้วย

จากข้อมูลของ NPD Group รายงานว่า การใช้เซเลบริตี้โปรโมตแบรนด์นั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหูฟังที่มีราคาต่ำกว่า 600 บาท และสูงกว่า 3,000 บาท 

เราเห็น Beats ในมิวสิกวิดีโอ ภาพยนตร์ และแคมเปญโฆษณาหลายชิ้น ในรูปแบบของ Product Placement เช่น ปรากฏอยู่ในมิวสิกวิดีโอเพลง Love Game ของเลดี้ กาก้า เมื่อปี 2552 ซึ่งมีคนดูผ่าน Youtube 83 ล้านครั้ง เช่นเดียวกับมิวสิกวิดีโอเพลง Kush ที่มีคนดูผ่าน Youtube 37 ล้านครั้ง รวมถึงปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง The Book of Eli 

ในระยะเวลาเพียง 4 ปี ก็มีแบรนด์ดังแห่มาร่วมขอทำ Brand Collaboration กันล้นหลาม หนึ่งในนั้นคือ ไนกี้ แอร์ แมกซ์ และเฟอร์รารี่ 

หลังลงทุนใน Beats Electronics LLC เมื่อสิงหาคม 2554 เอชทีซีไปได้สวย นอกจากรุ่น Sensation ที่ออกมาในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2554 แล้ว ยังส่งรุ่นอื่นๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดคือ Rezound (Verizon) สมาร์ทโฟน 4G ซึ่ง Beats ได้ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เหนือระดับให้กับเอชทีซี และทำให้มีจุดแข็งเรื่องคุณภาพเสียงเพิ่มขึ้นด้วย 

ส่วนเอชพี ออกแล็ปท็อปที่มาพร้อมกับระบบเสียงของ Beats และทำให้เกิดกระแสเรียกร้องหาแท็บเล็ตที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันนี้

 

วัฒนธรรมหูฟัง 

หูฟังแบรนด์อื่นๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น Bowers & Wilkins, AKG, Skullcandy, Shure Grado, Alessandro, Audio-Technica, Koss, Ultrasone, Denon, Bose, Skullcandy, Sony, Ultimate-Ear, Goldring, Westone, Klipsch, Nuforce, Beyerdynamic และ Marshall เป็นต้น

มีการรวมกลุ่มที่ชัดเจน ศัพท์แสงที่ใช้และรู้กันเฉพาะกลุ่ม เช่น “อาวุธประจำกาย” หมายถึง หูฟังที่แต่ละคนมีคือแบรนด์และรุ่นใดบ้าง บางคนมีหูฟังในครอบครองหลายสิบรุ่น บางคนซื้อเดือนละ 5 รุ่นก็มี 

“เบิร์น อิน” ใช้กับหูฟังใหม่ ด้วยการเปิดไปเรื่อยๆ ทำให้แผ่นไดอะเฟรมเข้าที่เข้าทาง และทำให้หูฟังมีประสิทธิภาพ