“ออนิกซ์” ลงทุน 4,800 ล้านรีโนเวต-เปิดใหม่ 4 โรงแรมไทย มองท่องเที่ยวฟื้นแต่เศรษฐกิจซบ ต้องระมัดระวังสูง

ออนิกซ์
“ยุทธชัย จรณะจิตต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป
  • “ออนิกซ์” เครือโรงแรมขนาดกลางสัญชาติไทย เตรียมแผนลงทุนปี 2568 มูลค่ารวม 4,800 ล้านบาท รีโนเวตโรงแรม 2 แห่ง และก่อสร้างใหม่ 2 แห่ง
  • ปี 2567 ตั้งเป้ารายได้ทะลุ 9,400 ล้านบาท เติบโต 19% เป้าทำกำไรสุทธิมากกว่า 1,800 ล้านบาท เติบโต 28%
  • มองภาคท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวดีมาก นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเป็นอันดับ 1 ในตลาด แต่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังซบเซา ทำให้การลงทุนต้องระมัดระวัง

“ยุทธชัย จรณะจิตต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทภายใต้กลุ่มบริษัทอิตัลไทย ประกาศแผนการลงทุนช่วงปี 2568 ตั้งงบลงทุนรวม 4,800 ล้านบาท เพื่อรีโนเวตและก่อสร้างโรงแรมใหม่ 4 แห่ง ดังนี้

  1. รีโนเวต โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต มูลค่าการลงทุน 300 ล้านบาท
  2. ก่อสร้าง โรงแรมโอโซ่ กรุงเทพฯ จำนวน 250 ห้อง (ที่ดินผืนเดียวกับโรงแรมอมารี กรุงเทพฯ ย่านประตูน้ำ) มูลค่าการลงทุน 800 ล้านบาท
  3. รีโนเวต โรงแรมอมารี ภูเก็ต (หาดป่าตอง) มูลค่าการลงทุน 1,000-1,500 ล้านบาท
  4. ก่อสร้าง โรงแรม EQ Phuket พูลวิลล่าจำนวน 150 ห้อง บนที่ดินขนาด 32 ไร่หน้าหาดกะตะ มูลค่าการลงทุน 2,000 ล้านบาท
ออนิกซ์
โรงแรมอมารี ภูเก็ต เตรียมจะรีโนเวตในปี 2568

โดยโครงการที่น่าสนใจคือโรงแรม “EQ Phuket” เพราะจะเป็นโครงการร่วมลงทุน (JV) กับกลุ่มทุนจากมาเลเซียผู้เป็นเจ้าของโรงแรมหรู “EQ Kuala Lumpur” ถือเป็นโครงการแรกที่ออนิกซ์อยู่ในฐานะเจ้าของร่วม และไม่ได้ใช้เชนโรงแรมของตนเองในการบริหาร แต่เลือกที่จะใช้เชนโรงแรมของบริษัทอื่น

“โครงการนี้เราจะเป็นแลนด์ลอร์ดเพราะเป็นที่ดินของเราเอง นำมาทดลองโมเดลธุรกิจที่มีผู้ร่วมลงทุนและเป็นผู้บริหารโรงแรมให้เรา ซึ่งทำให้เราประหยัดงบลงทุนและลดความเสี่ยง” ยุทธชัยกล่าว “เราเลือกกลุ่ม EQ เพราะเขามีสถิติที่ดีในการบริหาร EQ Kuala Lumpur และเจ้าของยังคงบริหารเอง ทำเอง และมีแพสชั่นที่จะมาเริ่มลงทุนในประเทศไทย”

 

ท่องเที่ยวบูมสุดขีด “ออนิกซ์” ตั้งเป้าปี’67 รายได้โต 19%

สำหรับเครือออนิกซ์เป็นเครือโรงแรมที่มีทั้งการลงทุนเอง และรับจ้างบริหารให้กับเจ้าของ โดยมีแบรนด์โรงแรมและเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ 4 แบรนด์เพื่อตอบสนองลูกค้า ได้แก่ อมารี (Amari), โอโซ่ (OZO), ชามา (Shama) และ โอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ (Oriental Residence)

ปัจจุบันมีโรงแรมในเครือทั้งหมด 40 แห่ง สัดส่วน 53% อยู่ในประเทศไทย ส่วนที่เหลือ 47% อยู่ในต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย จีน ฮ่องกง ลาว มัลดีฟส์

โรงแรมโอโซ่ พัทยาเหนือ

ยุทธชัยกล่าวว่า ปี 2567 ถือเป็นเป็นปีที่ดีมากของการท่องเที่ยว ทำให้ออนิกซ์คาดว่าจะทำรายได้มากกว่า 9,400 ล้านบาท เติบโต 19% จากปีก่อน และทำกำไรสุทธิมากกว่า 1,800 ล้านบาท เติบโต 28% จากปีก่อน

“สายการบินกลับมาบินเกิน 50-60% ของจำนวนเที่ยวบินเดิมก่อนโควิด-19 แล้ว และพอเข้าไตรมาส 2 คนจีนเริ่มกลับมาเที่ยวเมืองไทย จนตอนนี้เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ในเครือออนิกซ์ รองลงมาอันดับ 2 คือคนไทย และอันดับ 3 คือรัสเซีย” ยุทธชัยกล่าว “ไตรมาสแรกเราทำรายได้ทะลุเป้าไป 19-20% เลย ถือว่าได้ตุนรายได้ไว้ก่อน ปัจจุบันอัตราการเข้าพักของเราทุกโรงแรมในไทยแตะ 80-85% หมด”

ออนิกซ์
ชามา เลควิว อโศก เซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ในเครือออนิกซ์

ส่วนโรงแรมที่กำลังจะก่อสร้างเสร็จและเปิดบริการภายในปี 2568 ของเครือออนิกซ์มีทั้งหมด 9 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศมาเลเซีย 3 แห่ง จีนและฮ่องกง 2 แห่ง ไทย 2 แห่ง ลาว 1 แห่ง และศรีลังกา 1 แห่ง ตัวอย่างโรงแรมที่จะเปิดบริการเร็วๆ นี้ เช่น

  • โอโซ่ เมดินี ประเทศมาเลเซีย – โรงแรมแบรนด์โอโซ่แห่งที่ 5 ของเครือ เตรียมเปิดไตรมาส 2/2567
  • อมารี โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา – อาคารสูง 27 ชั้น ห้องพัก 167 ห้อง เตรียมเปิดไตรมาส 4/2567
  • อมารี เวียงจันทน์ ประเทศลาว – โรงแรมแห่งที่ 2 ของเครือในลาว ห้องพัก 248 ห้อง เตรียมเปิดไตรมาส 4/2567
  • อมารี เดอะไทด์ บางแสน ประเทศไทย – โรงแรมตรงข้ามหาดบางแสน ห้องพัก 154 ห้อง เตรียมเปิดภายในปี 2568

 

ภาพรวมเศรษฐกิจยังต้องลงทุนแบบ ‘ระมัดระวัง’

ยุทธชัยกล่าวต่อว่า ถึงแม้การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดี แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังทำให้ต้องระมัดระวังการลงทุน มีการชะลอเวลาออกไปบ้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยสูง หนี้สาธารณะสูง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ตตามนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยุทธชัยมองว่าโครงการนี้น่าจะเป็น ‘การกระตุ้นระยะสั้น’ ให้กับเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ แต่มองระยะยาว ผลจากโครงการจะเป็นภาระหนี้สาธารณะของประเทศมากกว่า

“เศรษฐกิจไทยปีนี้แย่มาก จีดีพีอาจจะไม่ถึง 2% พอดีในเครือเรามีธุรกิจก่อสร้างด้วย ทำให้เราเห็นว่าตลาดแย่มาก จากงบเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้าไป 6 เดือน ซ้ำเติมจากช่วงโควิด-19 ที่แย่มาแล้ว 3 ปี แล้วยังมีสงครามทำให้ต้นทุนการก่อสร้างทุกอย่างพุ่งขึ้นมาอีก ผมว่ารวมๆ แล้วเศรษฐกิจไทยจะยังท้าทายไปแบบนี้อีก 2-3 ปี” ยุทธชัยกล่าว