เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง เป็นชื่อที่เจริญ ชูมณี หรือ ครูเป็ด ใช้เป็นชื่อสมัยชกมวยไทยอาชีพที่เวทีมวยลุมพินี เริ่มต้นชกมวยตั้งแต่อายุ 13-14 ปี ที่บ้านเกิด อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ชกที่บ้านเกิดชนะ 20 กว่าครั้ง ก็ย้ายมาต่อยมวยต่อที่กรุงเทพฯ พร้อมกับมาเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย สังกัดค่ายเกียรติบ้านช่อง ของใหม่ เมืองพร ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน
ต่อยมวยไปเรียนไปด้วย ได้เป็นแชมป์มวยไทยจากเวทีลุมพินีครั้งแรกตั้งแต่อยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 สร้างชื่อเสียงให้ค่ายเกียรติบ้านช่อง จากเดิมมีนักมวยในสังกัด 2 คน จากนั้นมามวยสายใต้ก็ป้อนให้กับค่ายของใหม่ เมืองพร กลายเป็นค่ายมวยใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
“เกียรติบ้านช่อง เป็นชื่อที่ตั้งเป็นเกียรติกับหมู่บ้านที่ผมอยู่ชื่อบ้านช่องด่านเพราะอาจจะมีผมเป็นนักมวยคนแรกและอาจจะคนเดียวจากหมู่บ้าน อยู่กับพี่ใหม่ตั้งแต่ยังไม่มีค่ายของตัวเองต้องไปซ้อมที่ค่ายคนอื่น จนมีมวยเยอะขึ้น นักมวยมีค่าตัวสูงขึ้น จนพี่ใหม่ซื้อบ้านและทำค่ายมวยของตัวเองจนมีชื่อเสียงมีคนรู้จักเยอะ”
ครูเป็ดเป็นนักมวยรุ่นแรกๆ ที่เริ่มสร้างกระแสนักมวยปริญญา หลังจากจบ ม.6 เก็บเกี่ยวประสบการณ์มวยทั้งไทยและสากลจนโชกโชน ก็ตัดสินใจเลิกชก เข้าเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
“ชกมวยไปเรียนไป รุ่นผมเป็นรุ่นบุกเบิกที่ทำให้นักมวยได้รับการศึกษา เพราะส่วนใหญ่นักมวยไม่ได้เรียน ที่ผมเรียนก็เพราะรุ่นพี่ วันเผด็จศึก สมหมาย ซึ่งปัจจุบันเป็นทหารอากาศและเป็นโปรโมเตอร์ด้วย แนะนำว่าต้องเรียนไปด้วยแล้วแนะนำให้รู้จักอาจารย์ที่จันทรเกษม ซึ่งเอาใจใส่ด้านมวยเหมือนกัน”
มรภ.จันทรเกษม ยุคปี 2530 จึงกลายเป็นแหล่งรวมนักมวยชื่อดัง เพราะมีทั้งรุ่นครูเป็ดซึ่งร่วมรุ่นกับ อาคม เฉ่งไล้ นักมวยเหรียญทองแดงโอลิมปิก ต่อมามี สมรักษ์ คำสิงห์ วิชัย ราชานนท์ นักมวยซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นน้อง
“ถ้ามวยไทย ยุคผมดังสุด ช่วงนั้นปี 2529-2530 เพราะมวยสากลยังไม่ค่อยบูม สู้มวยไทยไม่ได้ แต่มหาวิทยาลัยส่งไปแข่งมีมวยสากลอย่างเดียว จากนั้นมามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เริ่มปั้นนักมวยเพราะทำชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยได้ ทุกมหาวิทยาลัยอยากได้ตัวนักมวย อนาคตถ้าไปทีมชาติทั้งนักเรียนและมหาวิทยาลัยก็ได้ชื่อเสียง”
หลังเรียนจบ ครูเป็ดไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต รับหน้าที่สอนและทำมวยให้มหาวิทยาลัยจนได้เหรียญ แต่อยู่ได้ปีเดียวก็ลาออก
“คิดว่าทำงานกินเงินเดือนคงไม่ได้ แล้วตอนนั้นผมก็เลิกชกแล้วเพราะอายุมากสู้เด็กรุ่นหลังไม่ได้ต่อยไปก็เสียชื่อ จากเดิมต่อยมวยไทยทีได้แสนกว่าบาท เคยไปเป็นทีมชาติต่อยให้กองทัพภาคสี่ได้ยศทหารจากสิบตรี ตอนนี้ก็เป็นสิบเอก ไปซีเกมส์ก็สู้มวยสมัครเล่นอาชีพไม่ได้ เขาเก่ง แต่ผมได้แค่มวยไทยเคยได้แค่เหรียญทองแดง อีกอย่างเป็นทีมชาติสมัยนั้นได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 300 ผมว่าไม่เหมาะสมไม่เอาดีกว่า”
ออกจากเป็นอาจารย์ กลับมาเป็นครูมวยที่โรงเรียนสอนมวยไทยของ พลตรีธันวาคม ทิพยจันทร์ เจ้าของนิตยสารภาพยนตร์บันเทิง และเจ้าของนามปากกา หมึกดำ แถวพระราม 3 ติดกับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ได้เรียนรู้ในโรงเรียนมวยไทยแห่งนี้ประมาณหนึ่งปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการสอน หลักสูตรซึ่งต่างจากหลักสูตรในมหาวิทยาลัย
แต่ก็ยังไม่ได้นำออกมาใช้งาน และเดินทางหาประสบการณ์เพิ่มไกลไปถึงสหรัฐอเมริกา เมื่อสามารถ พยัคฆ์อรุณ นักมวยรุ่นพี่แนะนำให้ลองไปดูโรงเรียนสอนมวยของเพื่อนที่อยู่เท็กซัส อเมริกา
“หลังจากเลิกทำกับนายพลฯ ผมไปอยู่อเมริกาหนึ่งปี เพราะอยากไปศึกษาหาความคิดว่าหลักสูตรการเรียนการสอนเขาเป็นอย่างไร อยากลองเอามาใช้ จนในที่สุดก็เอามาปรับใช้กับโรงเรียนมวยไทยเจริญทอง”
สิ่งที่เป็นในโรงเรียนมวยไทยแห่งนี้ จึงกลั่นกรองมาจากประสบการณ์และประยุกต์ให้เป็นรูปแบบการสอนมวยไทยที่ครูเป็ดหวังว่าจะตอบสนองผู้เรียนได้ตรงตามความต้องการ ที่ได้ทั้งเอกลักษณ์และความครบเครื่องของศิลปะป้องกันตัวแบบไทยแต่ไม่ใช่ศิลปะหรือวิทยาการที่ยากหรือเชยเกินกว่าจะเข้าถึง