หากเอ่ยถึงชื่อ “แฟร์เท็กซ์” ค่ายมวยไทยในตำนานของ บรรจง บุษราคัมวงษ์ หรือคนทั่วไปที่มักเรียกกันจนคุ้นหูว่า “เสี่ยบรรจง” ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงมวยไทย ซึ่งเขาก่อตั้งธุรกิจค่ายมวยไทยมาตั้งแต่ปี 2513 ด้วยการเริ่มต้นเปิดค่ายมวยย่านสวนพลูควบคู่กับทำธุรกิจเสื้อผ้าซึ่งเป็นธุรกิจเดิมของครอบครัวไปด้วย
“ผมทำค่ายมวยมาตั้งแต่ 40 ปีก่อน ทำพร้อมกับธุรกิจเสื้อผ้า แต่ตอนนั้นไม่ได้ทำเป็นธุรกิจจริงจังแต่ทำเพราะความชอบส่วนตัว” เสี่ยบรรจงเล่า และบอกว่าการทำค่ายมวยที่ผ่านมานั้นพบแต่ภาวะขาดทุนมาตลอด แต่ด้วยความชอบจึงไม่คิดเลิกล้ม จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนเรื่องธุรกิจเสื้อผ้าส่งออกซึ่งเป็นธุรกิจหลักเนื่องจากพบปัญหาเรื่องการค้าเสรีในปี 2548 ที่ส่งผลให้มีคู่แข่งจำนวนมากขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนมารุกเรื่องค่ายมวยอย่างจริงจังพร้อมยกระดับให้มีมาตรฐานการส่งออกเพื่อให้ “มวยไทย” เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกเช่นเดียวกับกังฟูของจีน และคาราเต้กับยูโดของญี่ปุ่น
ในปี 2549 เขาใช้งบถึง 250 ล้านบาท เปิดตัวแฟร์เท็กซ์ สปอร์ตคลับ แอนด์ โฮเต็ล บนพื้นที่ 8 ไร่ในตัวเมืองพัทยา มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60% และคนไทย 40% ที่มีรายได้สูงและชื่นชอบการออกกำลังกาย เพราะมีทั้งสปอร์ตคลับและเวทีมวยไว้รองรับบริการอย่างครบวงจร
และจากการส่งลูกๆ ไปเรียนที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาในปี 2534 ทำให้เขาตัดสินใจเปิดค่ายมวยไทยที่นั่นเป็นสาขาแรก “ตอนนั้นยังไม่เคยมีใครทำค่ายมวยไทยในต่างประเทศ เราจึงโดดเด่นกว่าคนอื่น” ซึ่งเขามองว่านี่คือการสร้างแบรนด์ของแฟร์เท็กซ์ที่ทำให้ต่างชาติรู้จัก รวมทั้งจ้างนักมวยเก่าฝีมือดีมาฝึกสอน พร้อมกับส่งนักมวยไปแข่งตามเวทีต่างๆ โดยใช้นามสกุล “แฟร์เท็กซ์” ที่สามารถแข่งชนะได้เกือบทุกสังเวียน จึงส่งผลให้เกิดการรู้จักแบบปากต่อปาก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์ใน San Francisco มีนักมวยต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 20 ถึง 30 คนมาเป็นหลักพันคนในปัจจุบัน และเขาได้ขยายค่ายมวยไปถึง 3 สาขาที่เมืองนี้ ภายใต้การดูแลของลูกสาวและลูกเขยที่อาศัยอยู่ที่นั่น ซึ่งในวันนี้ “แฟร์เท็กซ์” มีค่ายมวยถึง 30 สาขาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ฝรั่งเศส แคนาดา ฮอลแลนด์ โดยมีบรรดาเพื่อนสนิทของเขาที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นเป็นผู้ช่วยดูแลกิจการ ส่วนค่ายมวยในไทยนั้น นอกจากที่พัทยาแล้วเขายังเปิดอีกสาขาที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยเช่นกัน
แม้ว่าค่ายมวยไทยจะช่วยสร้างแบรนด์แฟร์เท็กซ์ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่เสื้อผ้าและอุปกรณ์มวยกลับเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับแฟร์เท็กซ์มากถึง 10 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ค่ายมวยมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1 ล้านบาทเท่านั้น “คิดเป็นรายได้จากเสื้อผ้า 70% และค่ายมวย 30%” บรรจงบอก ซึ่งการทำตลาดเสื้อผ้าและอุปกรณ์มวยนี้เขาจำหน่ายเพื่อการส่งออกเท่านั้น เพราะมีโอกาสมากกว่าและการแข่งขันน้อยเมื่อเทียบกับในประเทศที่มีคู่แข่งเป็นจำนวนมาก โดยใช้ประสบการณ์เดิมที่เคยทำตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นส่งออกมาก่อนจึงสามารถทำตลาดนี้ได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน บรรจงก็ยอมรับว่าการที่วันนี้มวยไทยได้รับความนิยมสูงจนกลายเป็น ”แฟชั่น” ทำให้ต้องแข่งขันกับค่ายมวยอื่นๆ ในประเทศที่ใช้กลยุทธ์ราคาที่ต่ำกว่าแฟร์เท็กซ์มาเป็นตัวดึงดูดลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเขาวาง Positioning ของแฟร์เท็กซ์ให้เป็นค่ายมวยไทยระดับพรีเมียมที่ได้รับการฝึกสอนจากเทรนเนอร์มืออาชีพอย่างใกล้ชิดจึงทำให้มีอัตราค่าฝึกสอนค่อนข้างสูงกว่ารายอื่น ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายที่มาเรียนจึงต้องมีรายได้ดีตามไปด้วยเช่นกัน
สำหรับอนาคตนั้น เขาต้องการให้แฟร์เท็กซ์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลกมากกว่าวันนี้ แต่ด้วยวัยกว่า 60 ปีของเขา จึงมองหานักลงทุนจากต่างชาติที่สนใจแฟร์เท็กซ์มาร่วมลงทุนเพื่อสานต่อความต้องการในบั้นปลายนี้ ซึ่งเขามองว่าแฟร์เท็กซ์ยังสามารถโตขึ้นได้อีก 10 เท่า หรือคิดเป็นรายได้ถึง 100 ล้านบาทต่อเดือนได้ไม่ยาก