การกระตุ้นอัตราการเกิดอาจไม่ใช่แค่ ให้เงิน เพื่อจูงใจให้คนมีลูก แต่บางครั้งปัญหาการ มีลูกยาก ก็ทำให้คนที่อยากมีลูกจริง ๆ ไม่สามารถมีได้ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการมีลูกก็ค่อนข้างมีราคาสูง ทำให้ เซี่ยงไฮ้ เป็นเมืองแรกของจีนที่นำเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ใส่ไว้ในโครงการประกันสุขภาพ
หลังจากที่ จีน เผชิญกับปัญหาอัตราการเกิดต่ำที่สุด ทำให้ประเทศต้องพยายามหามาตรการมากระตุ้นอัตราการเกิด โดยล่าสุด เซี่ยงไฮ้ ได้นำร่องในการ รวมบริการเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology: ART) ไว้ในโครงการประกันสุขภาพตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
โดยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ที่อยู่ภายใต้โครงการประกันสุขภาพจะมีทั้งหมด 12 ประเภท ซึ่งจะช่วยให้คู่รักที่ต้องการใช้บริการดังกล่าว ลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ได้ถึง 70% จากการขยายสิทธิของโครงการประกันสุขภาพเพื่อสนับสนุนการมีบุตร
ปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้มีประชากรเกือบ 25 ล้านคน โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา อัตราการเจริญพันธุ์ของประชากรอยู่ในระดับ ต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.6 หรือ เฉลี่ยผู้หญิงแต่ละคนมีลูกเพียง 0.6 คน ในช่วงชีวิตการเจริญพันธุ์ ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์เฉลี่ยควรอยู่ที่ระดับ 2.1 และถือว่าต่ำกว่า เกาหลีใต้ ที่เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์เฉลี่ยต่ำสุดของโลกที่ 0.72%
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยถึงตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์ทั้งหมดของจีน แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่าอยู่ที่ประมาณ 1.0 ส่วน ฮ่องกง คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 0.8 ตามรายงานของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน
ย้อนไปในปี 2022 ที่ผ่านมา ประชากรของจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี เนื่องจากจํานวนผู้เสียชีวิตมีจํานวนมาก กว่าการเกิด และแนวโน้มยังคงดําเนินต่อไปในปีที่แล้ว และทำให้จีนได้เสียตำแหน่งเบอร์ 1 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกให้กับอินเดีย
โดยจำนวนทารกแรกเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อจำนวนเด็กก่อนวัยเรียนทั่วประเทศจีน เนื่องจากจํานวน ครูอนุบาลลดลงกว่า 170,000 คนในปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2010 ตามรายงานที่ออกโดยสถาบันวิจัย Sunglory Education ในปักกิ่ง
“จํานวนเด็กที่ลดลงมาเร็วมากจนส่งผลต่ออุตสาหกรรมการศึกษาก่อนวัยเรียน” Zhang Shouli ผู้ก่อตั้งสถาบันกล่าว
มีการคาดการณ์ว่า จํานวนเด็กที่โรงเรียนอนุบาล ระหว่างปี 2026-2030 ของจีนจะ ลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับปี 2020