MJD วางกลยุทธ์ใหม่มองหา “พันธมิตรร่วมทุน” ทุกโครงการ เพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนทางการเงิน ปัจจุบันมี “JV Partner” จากหลากหลายสัญชาติ โดยล่าสุดที่เพิ่งเซ็นดีลคือ “Mori Trust” จากญี่ปุ่นซึ่งเข้าสู่ตลาดอสังหาฯ อาเซียนเป็นครั้งแรก แย้มมีดีลบริษัทญี่ปุ่นอีก 2 เจ้าจ่อเซ็น
“นฑา กิตติอักษร” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ MJD เปิดเผยแนวทางบริหารธุรกิจของบริษัทในยุคนี้ว่าจะใช้กลยุทธ์มองหา “พันธมิตรร่วมทุน” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ หลังจากต้นทุนส่วนที่ดินขยับสูงขึ้นมาก
“ค่าที่ดินคิดเป็น 25% ของการลงทุนพัฒนาโครงการและเราต้องลงไปก่อน ทำให้เราต้องการมี JV Partner มาช่วยลดความเสี่ยงการลงทุน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากมีพันธมิตรร่วมทุนทุกโครงการหลังจากนี้” นฑากล่าว
ทำให้วิธีการจัดซื้อที่ดินของ MJD จากนี้จะเป็นการตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อซื้อที่ดินโดยเฉพาะเพื่อความคล่องตัวในร่วมทุนเมื่อเจรจาสำเร็จในภายหลัง ทั้งนี้ ส่วนที่ดินเก่าที่บริษัทจัดซื้อไว้แล้วจะลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งนฑาระบุว่าบริษัทเหลือแลนด์แบงก์ไม่มากแล้ว
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ระบุว่าดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2/2562 มีค่าดัชนีอยู่ที่ 236.9 จุด ถัดมาในไตรมาส 2/2567 พุ่งขึ้นมามีค่าดัชนีเท่ากับ 398.2 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 68% ภายในรอบ 5 ปีเท่านั้น
นฑากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา MJD มีพันธมิตรร่วมทุนจากหลากหลายสัญชาติ เช่น สิงคโปร์ อิสราเอล เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และยังเปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนบริษัทใหม่ๆ เสมอเพื่อร่วมทุนเป็นรายโครงการ
ยกตัวอย่างเมื่อปี 2566 MJD มีการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัท GS E&C จากเกาหลีใต้ เพื่อร่วมพัฒนาโครงการ “Maru Chula” คอนโดมิเนียมไฮไรส์ทำเลใกล้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2567 นี้ เพิ่งประกาศเซ็นดีลกับกลุ่มบริษัทอสังหาฯ “Mori Trust” จากญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาโครงการ “มอลตัน เกทส์ กรุงเทพกรีฑา 2” โครงการแนวราบมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท
สำหรับกลุ่ม Mori Trust เป็นบริษัทอสังหาฯ ที่มีการลงทุนในญี่ปุ่นและกระจายการลงทุนสู่ต่างประเทศในสหรัฐฯ หลายเมือง เช่น นิวยอร์ก บอสตัน วอชิงตัน โดยนฑาเปิดเผยว่า การเข้ามาลงทุนกับ MJD ในไทยถือเป็นครั้งแรกที่ Mori Trust มีการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และครั้งแรกที่ลงทุนในอสังหาฯ เพื่อขาย เพราะปกติแล้วบริษัทนี้นิยมลงทุนในอสังหาฯ เพื่อเช่า เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม รีสอร์ต
“นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการออกมาลงทุนนอกประเทศมาก เพราะถ้าได้ผลตอบแทนมากกว่า 0% ถือว่าดีหมดสำหรับเขา อย่างในประเทศไทยเราถือว่าได้ IRR 10% ขึ้นไป ทำให้ญี่ปุ่นต้องการมาลงทุน” นฑาเปิดเผย โดย MJD ยังอยู่ระหว่างเจรจาดีลเพิ่มอีก 2 บริษัท เป็นบริษัทจากญี่ปุ่นทั้งคู่ และเคยเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว
- “MJD” จับช่องว่างตลาด “ทาวน์เฮาส์หรู” เปิดแบรนด์ใหม่ “มิลฟอร์ด” ลุยทำเลรามคำแหง
- “เดอะ เกรท รูม” ขยายสาขา 2 ที่ “พาร์ค สีลม” ชูโมเดลธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ร่วมทุนเจ้าของอาคาร
MJD เป็นบริษัทอสังหาฯ ขนาดกลางที่เน้นการลงทุนในเซ็กเมนต์ระดับกลางจนถึงอัลตราลักชัวรี และมีจุดเด่นเป็นเจ้าแรกที่ประกาศให้อสังหาฯ ทุกโครงการที่พัฒนาเป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง (pet-friendly) รวมถึงคอนโดฯ ที่ปกติในไทยมักจะไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ที่ผ่านมา MJD มีสัดส่วนรายได้ 90% จากคอนโดฯ และ 10% จากแนวราบ แต่นฑากล่าวว่ากลยุทธ์การลงทุนของบริษัทได้เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด-19 ทำให้รายได้ของบริษัทจะเปลี่ยนสัดส่วนเป็น 60% จากคอนโดฯ และ 40% จากแนวราบภายในปี 2570