เมื่อ 2-3 ปีก่อน วิกฤตโควิด ทำให้กลุ่มที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3-5 ล้านบาท ต้องเผชิญการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัย (รีเจ็กต์ เรต) สูงกว่า 70%
ทำให้ผู้ประกอบการเบนเข็มลุยบ้านราคาแพงหลัก 10 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีกำลังซื้อสูง ทว่าภาวะเศรษฐกิจเปราะบางช่วงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเริ่มมีปัญหา และนำมาสู่ผลกระทบรีเจ็กต์เรตที่ลามไปถึงกลุ่มบ้านราคาแพง 10 ล้านบาท ในที่สุด
สะท้อนจากข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ที่ชี้ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังคงชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 2 และตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลดลงต่อเนื่อง ดังนี้
- ปี 2567 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ มีจำนวน 347,799 หน่วย ลดลง 5.2% และมูลค่า 980,648 ล้านบาท ลดลง 6.3% (YoY)
- ปี 2566 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ มีจำนวน 366,825 หน่วย ลดลง 6.6% และมูลค่า 1.04 ล้านล้านบาท ลดลง 1.7% (YoY)
ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2567 แม้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย จะมีจำนวน 97,413 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.3% ในรอบ 8 ไตรมาส แต่กลับมีมูลค่า 275,563 ล้านบาท ลดลง 1.5%
“สะท้อนว่าผู้บริโภคหันซื้อบ้าน-คอนโดไซซ์เล็กลง และราคาย่อมเยาลง”
จำแนกตามกลุ่มระดับราคา พบว่า “หดตัวทุกกลุ่ม” โดยเฉพาะกลุ่มราคา 7.51-10 ล้านบาท
- ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ลดลง -0.5%
- ราคา 1.01-1.50 ล้านบาท ลดลง -1.0%
- ราคา 1.51-2.00 ล้านบาท ลดลง -4.3%
- ราคา 2.01-3.00 ล้านบาท ลดลง -13.3%
- ราคา 3.01-5.00 ล้านบาท ลดลง -3.0%
- ราคา 5.01-7.50 ล้านบาท ลดลง -3.2%
- ราคา 7.51-10 ล้านบาท ลดลง -13.3%
- ราคามากกว่า 10 ล้านบาท ลดลง -6.3%
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่การหดตัวสำคัญเกิดจากกลุ่มบ้าน ที่หน่วยโอนฯ ลดลง 10.6% ส่วนกลุ่มคอนโดพลิกบวก หน่วยโอนฯ เพิ่มขึ้น 7.7% โดยเฉพาะในคอนโดราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ คือ การลดค่าจดจำนองและค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์
สำหรับปี 2568 REIC ประมาณการว่า ภาพรวมหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย จะมีจำนวน 353,389 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.6% (YoY) และมีมูลค่า 994,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% (YoY)
ปัจจัยหลักที่หนุนการฟื้นตัวในปีนี้ มาจาก GDP ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7% ส่วนหนึ่งมาจากการเบิกจ่ายงบภาครัฐบาลที่ดีขึ้น รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยลดลง และโครงการเปิดใหม่ที่ปี 2568 คาดเปิดตัวเพิ่ม 16% ทำให้ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ฟื้นตัว