“ที่ดิน” เป็นสินทรัพย์เพียงไม่กี่อย่าง ที่แทบไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แถมราคายังมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ “แม้ในช่วง 1 ปีมานี้จะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงก็ตาม“
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า ราคาที่ดินที่ขยายตัว ส่วนใหญ่เกาะกลุ่มอยู่พื้นที่ชานเมืองของ กทม. และปริมณฑล โดยมี 5 อันดับแรก ดังนี้
อันดับ 1 ที่ดินย่านนครปฐม มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้น 59.6%
อันดับ 2 ที่ดินย่านสมุทรสาคร มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้น 44.2%
อันดับ 3 ที่ดินในย่านเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้น 27.3%
อันดับ 4 ที่ดินย่านกรุงเทพชั้นใน (ประกอบด้วย เขตจตุจักร ห้วยขวาง ยานนาวา วัฒนา คลองเตย พญาไท บางคอแหลม ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางซื่อ ดินแดง ราชเทวี และบางรัก) ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้น 16.4%
อันดับ 5 ที่ดินย่านบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่-มีนบุรี-หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้น 1.2%
REIC ระบุว่า การขยายตัวของราคาที่ดินปริมณฑล มาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อาทิ ถนนทางหลวง ทางพิเศษระหว่างเมือง เอื้อการเข้าออกสะดวก ส่วนที่ราคาเพิ่มสูง เพราะโดยรวมราคาที่ดินยังไม่แพงเท่าไร
ขณะที่พื้นที่ กทม. อัตราการขยายตัวราคาต่ำกว่า เพราะ ขนาดที่ดินแปลงไม่ใหญ่ และมีราคาที่ดินแพงมากอยู่แล้ว ส่วนใหญ่นิยมพัฒนาโครงการรูปแบบมิกซ์ยูส มีทั้งออฟฟิศ โรงแรม ศูนย์การค้า และคอนโด รวมกันที่เดียว
นอกจากนี้ REIC ยังได้ จัดอันดับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าผ่าน พบว่า ทำเลที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด เป็นที่ดินที่มีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว และเป็นทำเลที่มีสถานีเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าหรือสามารถเดินทางเชื่อมถึงกันได้ง่าย
โดย 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด ประกอบด้วย
อันดับ 1 ได้แก่ รถไฟฟ้า MRT และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง)
- มีค่าดัชนีเท่ากับ 590.3 จุด และ 581.1 จุด ตามลำดับ แต่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่ากันคือ 16.4% (YoY)
- ราคาที่ดินในพื้นที่คลองเตย ดินแดง และจตุจักร ซึ่งเป็นพื้นที่บริการตามแนวรถไฟฟ้า MRT เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด
อันดับ 2 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-มธ.รังสิต)
- มีค่าดัชนีเท่ากับ 540.2 จุด และ 531.9 จุด ตามลำดับ แต่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่ากัน คือ 15.6% (YoY)
- ราคาที่ดินในพื้นที่ธัญบุรี สามโคก และคลองหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่บริการตามแนวที่รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
อันดับ 3 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา)
- มีค่าดัชนีเท่ากับ 345.6 จุด โดยมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 10.1% (YoY)
- ราคาที่ดินในพื้นที่ลำลูกกา และสายไหม เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
อันดับ 4 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน)
- มีค่าดัชนีเท่ากับ 469.3 จุด โดยมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 10.0% (YoY)
- ราคาที่ดินในพื้นที่บางบัวทอง จตุจักร และบางซื่อ เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
อันดับ 5 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค), รถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี – ประชาธิปก) และสายสีส้ม(ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม)
- โดยรถไฟฟ้าทั้งสามสายมีค่าดัชนีเท่ากับ 570.8 จุด 562.6 จุด และ 553.9 จุด ตามลำดับ แต่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเท่ากัน คือ 9.2% (YoY)
- ราคาที่ดินในพื้นที่ภาษีเจริญ ธนบุรี และบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่บริการของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด