Positioning ชวนทำความรู้จัก “The Party Setter” และ “THEMEchitect” ธุรกิจให้เช่าสิ่งของตกแต่งสถานที่และอีเวนต์ ชูจุดขายดิสรัปต์วงการด้วยธีมงานที่มีให้เลือกมากกว่า 100 ธีม พร้อมระบบสต็อกในคลังสินค้าที่ทำให้ส่งของออกไปบริการลูกค้าได้ทันที ไม่ต้องรอจัดหาหรือสั่งทำ และไม่ทิ้งให้เป็นขยะต่อสิ่งแวดล้อม
ภายในคลังสินค้าของ “The Party Setter” ย่านบางแสน จ.ชลบุรี มีของตกแต่งสารพัดสิ่งที่ใครคนหนึ่งจะนึกออก ทั้งหมดวางอัดแน่นบนชั้นวางสูงตั้งแต่พื้นจรดเพดาน มองไปมุมหนึ่งเป็นตุ๊กตาทุกรูปแบบ อีกมุมเป็นลูกเต๋าไซส์จัมโบ้จนถึงไซส์จิ๋ว ขณะที่อีกมุมมีรูปปั้นมือยักษ์วางอยู่
แน่นอนว่าของทุกชิ้นอยู่ในสต็อกสินค้าที่เพียงคีย์เลขบาร์โค้ดในระบบ พนักงานก็สามารถมาตามหาของชิ้นนั้นเจอได้ทันที พร้อมนำไปจัดส่งให้ลูกค้า
บริการของ “The Party Setter” และแบรนด์ในเครืออย่าง “THEMEchitect” เกิดจากฝีมือของกลุ่มเพื่อนสามคน คือ “นุดี กีรติยะอังกูร” “รัตนนันท์ กิติวัฒน์” และ “จุฑาภัทร บันไดเพชร” ที่เห็นช่องว่างในตลาดหลังเปิดร้านอาหารชื่อ “IfItIs” ย่านทองหล่อแล้วพบว่า มีลูกค้ามากมายที่ต้องการจัดปาร์ตี้ตามธีมเพื่อเฉลิมฉลองมากกว่าแค่นัดกันมาทานอาหาร
จุดเริ่มต้นจากการจัดตกแต่งปาร์ตี้ให้ลูกค้าในร้านอาหารนาน 2 ปี มาสู่การแยกไลน์มาสร้างธุรกิจ “The Party Setter” เต็มตัวเมื่อปี 2562 และสู้จนผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 จนปัจจุบันบริษัทเติบโตอย่างเป็นระบบ สามารถรับงานได้ตั้งแต่งานเล็กราคาเริ่มต้น 5,500 บาท จนถึงงานสเกลใหญ่มูลค่าหลักล้านบาท
แก้ไขทุก ‘pain point’ ของการตกแต่งอีเวนต์
บริการของ “The Party Setter” คือการให้เช่า “พร็อพ” หรือของตกแต่งสถานที่และอีเวนต์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะจัดเวที แบกดรอป ตกแต่งโต๊ะอาหาร ทำซุ้ม แต่งผนังถึงเพดาน ฯลฯ เป็นนักตกแต่งอีเวนต์ที่ใช้ธีม (Theme) ต่างๆ เป็นแกนหลักในการบอกเล่าเรื่องราวและสตอรี่
“รัตนนันท์” Design Director ของบริษัทอธิบายจุดเด่นของ The Party Setter ที่ช่วยแก้ไข ‘pain point’ ให้กับธุรกิจนี้ คือ บริษัทมีธีมให้เลือกถึง 100 ธีม กับของตกแต่งกว่า 10,000 ชิ้น ทำให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะจินตนาการแบบไหนแทบจะมีรองรับได้ทั้งหมด หรือถ้าต้องการ ‘Customize’ แบบเฉพาะเจาะจงสามารถปรึกษาดีไซเนอร์ของบริษัทเพื่อออกแบบพิเศษได้
ที่สำคัญคือ พร็อพตกแต่งของ The Party Setter สามารถจัดส่งเร่งด่วนได้ในระดับ “สั่งวันนี้ พรุ่งนี้ลงงานได้เลย” หากพร็อพชิ้นนั้นๆ ยังไม่มีคิวจองไว้
เหนือไปกว่านั้นคือการออกแบบพร็อพให้ประกอบง่ายแถมยังมีคู่มือประกอบให้ด้วย “นุดี” Operation Director ของบริษัทบอกว่า บริษัทได้คิดค้นระบบ “RTD Props System” (Ready to Decorate Props System) ขึ้นมา นั่นคือการออกแบบพร็อพแต่ละชิ้นจะพยายามทำให้เหมือนการต่อ “เลโก้” คือประกอบเองได้ง่ายไม่ซับซ้อน หรือบางชิ้นแค่วางตามจุดที่แนะนำในคู่มือก็เสร็จเรียบร้อย ทำให้ทุกคนและทุกธุรกิจสามารถตกแต่งงานสำคัญได้อย่างรวดเร็วในราคาถูกลง แต่ยังได้มาตรฐานงานอาร์ตที่สวยงาม
เหตุที่ต้องออกแบบระบบ RTD เช่นนี้เพราะ The Party Setter มีการบริการ 3 แบบ คือ
1.Full Team Operation – ทีมงานชุดใหญ่จากบริษัทเข้าพื้นที่เพื่อตกแต่งให้ทั้งหมด เน้นงานที่มีความยากในการติดตั้ง ต้องมีการปรับหน้างาน
2.Junior Setter – ทีมงานซัพพลายเออร์ช่วยตกแต่งให้
3.Self-Installation – ลูกค้าตกแต่งเองตามคู่มือ จัดวางเองได้ง่าย พร้อมทีมซัพพอร์ตออนไลน์
เมื่อพร็อพตกแต่งสามารถจัดวางประกอบได้ง่ายๆ ก็จะทำให้บริษัทไม่ต้องส่งทีมตามประกบไปทุกงาน แต่สามารถส่งเฉพาะพร็อพไปที่สถานที่จัดงาน และให้ซัพพลายเออร์ในพื้นที่นั้นรับงานประกอบหรือลูกค้าจะตกแต่งเองก็ได้
วิธีนี้จึงช่วยให้ “วิน-วิน” ทั้งลูกค้าและ The Party Setter เพราะบริษัทสามารถส่งของให้เช่าออกไปได้มากขึ้นและไกลขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องมีทีมงานจากส่วนกลาง ทำให้ลูกค้าในต่างจังหวัดก็สามารถเช่าพร็อพได้ ส่วนลูกค้าที่มีงบจำกัดก็สามารถลดต้นทุนลงอีกได้ เพราะหากเลือกแบบ Self-Installation ราคาค่าเช่าจะลดลงไปเกือบครึ่ง!
ดิสรัปต์วงการด้วยการ “ไม่ทิ้ง” พร็อพหลังจบงาน
เคล็ดลับเบื้องหลังของการส่งพร็อพได้รวดเร็วเกิดจากการ “สต็อก” พร็อพทั้งหมดไว้ในคลังสินค้าที่ จ.ชลบุรี ซึ่งรัตนนันท์บอกว่า เป็นสิ่งที่วงการอีเวนต์ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพราะวิถีปฏิบัติปกติของวงการคือการจัดหาหรือสร้างพร็อพขึ้นมาใหม่ ใช้งานเดียว และทิ้งทั้งหมดหลังจบงาน ขณะที่วิธีของ The Party Setter จะเก็บพร็อพกลับคืนคลังเพื่อใช้ในงานต่อไป
“เราเชื่อว่าเราเปลี่ยนวัฒนธรรมของวงการนี้ได้ เราอยากเปลี่ยนให้คนเห็นว่าเราไม่ได้เป็นธุรกิจฟุ่มเฟือย” รัตนนันท์กล่าว
“เราเชื่อว่าของทุกชิ้นจะไม่กลายเป็นขยะ ไม่มีวันหมดอายุ แค่เปลี่ยนหน้าที่ เปลี่ยนตำแหน่งให้มัน มันก็ยังใช้ต่อได้” นุดีกล่าว โดยเธอคือขุมพลัง ‘แพสชัน’ ของทีมนี้ในการเปลี่ยนวงการอีเวนต์ที่สร้างขยะจำนวนมาก เปลี่ยนมาใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งอย่างเต็มที่
นอกจากจะ “ไม่ทิ้ง” แล้ว ทีมงานนี้ยังมีการพัฒนาเรียนรู้วัสดุต่างๆ ที่จะนำมาใช้ผลิตพร็อพ คิดค้นหาวิธีเพื่อให้พร็อพแต่ละชิ้นคงทนถาวรให้ได้นานที่สุด และยังยินดีรับสิ่งของที่คนอื่นอาจเห็นเป็น “ขยะ” มาดัดแปลงเป็นพร็อพ เช่น นาฬิกาโบราณที่ตายแล้ว ยังนำมาใช้เป็นพร็อพปาร์ตี้วินเทจได้ หรือ หุ่นโชว์ขาหัก มาแต่งเป็นพร็อพธีมฮัลโลวีน ทั้งหมดนี้คือความพยายามของ The Party Setter ที่จะไม่เพิ่มขยะให้กับโลกใบนี้
จากงานหลักพันสู่งานหลักล้านกับ THEMEchitect
ด้านกลุ่มเป้าหมายลูกค้าของบริษัท “จุฑาภัทร” Marketing Director ระบุว่าปัจจุบันลูกค้าแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- 50% ลูกค้ากลุ่ม B2C เช่น จัดปาร์ตี้วันเกิด เลี้ยงรุ่น งานวันพ่อ งานวันแม่
- 50% กลุ่ม B2B เช่น รับซับคอนแทร็คให้ออร์แกไนเซอร์ งานเลี้ยงบริษัท งานเปิดตัวสินค้า ตกแต่งร้านอาหาร ตกแต่งบ้านตัวอย่าง
จุฑาภัทรมองว่าทั้งสองกลุ่มลูกค้ามีความต้องการทั้งที่เหมือนและต่างกัน โดยสิ่งที่ ‘เหมือน’ คือทุกคนต่างต้องการอีเวนต์ที่ตกแต่งได้ ‘น่าประทับใจ’
แต่สิ่งที่ ‘ต่าง’ คือ ลูกค้า B2C ต้องการที่ปรึกษาเรื่องธีมงานและพร็อพมากกว่า เพราะลูกค้าอาจจะไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไรบ้าง
ขณะที่ลูกค้า B2B จะต้องการความเป็นมืออาชีพจากบริษัท คือต้อง ‘แม่นยำ’ แบบพลาดไม่ได้ ทั้งเรื่องเวลาทำงานและผลงานที่ออกมา เพราะทุกปัจจัยจะมีผลต่อความสำเร็จทางธุรกิจและหน้าที่การงานของลูกค้า รวมถึงการจัดอีเวนต์ที่จะเป็นเวทีบอกตัวตนและเป็นสิ่งที่คนจะจดจำเกี่ยวกับตัวผู้จัดงาน
เหตุผลนี้เป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทมีการแตกแบรนด์ย่อยออกมาในชื่อ “THEMEchitect” เพื่อใช้ในการแข่งขันรับงานกับลูกค้า B2B โดยเฉพาะ ด้วยชื่อแบรนด์ที่มีความเป็นทางการมากขึ้น สื่อให้เห็นว่าบริษัทพร้อมรับงานสเกลใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง และดูแลลูกค้ากลุ่มธุรกิจให้ได้ตรงตามความต้องการทุกด้าน ตรงทั้งงบประมาณ ตรงโจทย์ ตรงใจ และตรงเวลา
ขยายให้ไกล กว้าง และเปิดคลังรับฝากเช่า “พร็อพ” จากทุกคน
สำหรับอนาคตของธุรกิจ The Party Setter รัตนนันท์มองว่าด้วยพื้นฐานของระบบ RTD เธอเชื่อว่าบริษัทจะสามารถสเกลให้ ‘ไกล’ ได้มากกว่าเดิม ที่ผ่านมาบริษัทเคยส่งพร็อพไกลที่สุดคือ จ.กาญจนบุรี แต่ด้วยความสะดวกของบริษัทขนส่งในปัจจุบัน ต่อไปอาจจะเห็นลูกค้าสั่งเช่าพร็อพไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นไปได้
โอกาสทางธุรกิจที่ลูกค้าจะเช่าพร็อพตกแต่งก็น่าจะ ‘กว้าง’ ขึ้นกว่าการจัดกิจกรรมอีเวนต์ส่วนตัวด้วย “พฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ต้องการสถานที่ที่ ‘photogenic’ ทำให้บริการของเราจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะทุกคนต้องการไปสถานที่ที่สวยงาม ถ่ายรูปแล้วดูดี มีรูปไปโพสต์ได้” นุดีกล่าว
โดยโอกาสที่ The Party Setter เล็งเห็น เช่น “ร้านอาหาร” หรือ “คอมมูนิตี้ มอลล์” ที่ต้องการใช้พร็อพสร้างอีเวนต์พิเศษหรือมุมถ่ายรูปใหม่ๆ เพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาได้บ่อยๆ สร้างความน่าสนใจให้ธุรกิจได้มากขึ้น
รวมถึงระบบที่พัฒนาขึ้นมาอย่าง “RTD Props System” ของบริษัท จุฑาภัทรมองว่าระบบนี้จะต่อยอดทางธุรกิจได้ เพราะไม่เพียงแค่เก็บพร็อพของบริษัทเอง แต่ยังสามารถใช้เก็บสต็อกพร็อพของตกแต่งจากผู้อื่นและปล่อยเช่าแทนให้ได้ด้วย กลายเป็นระบบ ‘ฝากเช่า’ พร็อพในอนาคต ทำให้เจ้าของพร็อพตกแต่งไม่ต้องทิ้งเป็นขยะหรือเก็บไว้อย่างเปล่าประโยชน์ ธุรกิจส่วนนี้เชื่อว่าจะเป็นที่สนใจของธุรกิจอื่นๆ ในระบบนิเวศเดียวกันที่มีการใช้ของตกแต่ง เช่น ออร์แกไนเซอร์ ศูนย์การค้า สวนสนุก โรงแรม เป็นต้น
จุฑาภัทรยังบอกด้วยว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเติบโตสะสมถึง 300% สะท้อนให้เห็นว่าตลาดการเช่าของตกแต่งมีการขยายตัวสูง และลูกค้าสนใจใช้บริการมากขึ้นหลังได้รู้จัก The Party Setter
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าบริษัทจะขยายตัวสูงมากแค่ไหน สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของบริษัทก็ยังคงเป็นการสร้างโมเมนต์ให้ลูกค้าได้มี “Your Best Event, Your Best Moment”
“ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เรามาจับธุรกิจนี้ เราเคยจัดหลายงานที่สร้าง ‘human feeling’ สูงมาก อย่างครั้งหนึ่งมีคุณแม่ให้เราตกแต่งงานวันเกิดให้ลูกซึ่งเป็นงานฉลองที่สำคัญกับความรู้สึกของคุณแม่มาก เพราะลูกเคยผ่าตัดหัวใจตั้งแต่เด็กๆ และคุณแม่ดีใจมากที่ลูกยังมีชีวิตอยู่จนอายุครบ 18 ปีในวันนี้” รัตนนันท์เล่าถึงจุดตั้งต้นแรงบันดาลใจในการทำงาน
“เราจึงรู้สึกว่า ธุรกิจของเราคือการสร้างโมเมนต์ความทรงจำให้เป็นที่จดจำไปตลอดกาล นั่นคือเหตุผลที่เราทำธุรกิจนี้ และเรามาสร้างทีมบนฐานความคิดเดียวกัน สิ่งนี้จะรักษาไว้กับบุคลากรของเรา ทุกคนจะอิ่มเอมใจกับการที่ได้สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าเสมอ”