-
“พอลล์ กาญจนพาสน์” เผยปีหน้าลุ้นขายโรงแรม 2 แห่งเข้ากองรีท หมุนเงินลงทุนโรงแรมแห่งที่ 3 เพิ่ม 1,000 ห้องใน อิมแพ็ค เมืองทองธานี เน้นระดับ 5 ดาวตอบโจทย์แขกวีไอพี
-
ปี 2567 เทรนด์อีเวนต์กลุ่มคอนเสิร์ตและอินเซนทีฟพุ่งทะยาน เหลือกลุ่มจัดประชุมและนิทรรศการยังรอฟื้น ภาพรวมรายได้กลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19
-
ปี 2568 สัญญาณบวกงานคอนเสิร์ตจองคิว อิมแพ็ค อารีน่าเต็มยาวถึงสิ้นปีแล้ว
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขั้นต่อไปภายใต้วิสัยทัศน์ของ “พอลล์ กาญจนพาสน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ไม่ใช่การสร้างฮอลล์จัดงานเพิ่ม แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการมาจัดงานอีเวนต์นั่นคือ “โรงแรม”
ปัจจุบันในเมืองทองธานีบริเวณใกล้สถานที่แสดงสินค้าของอิมแพ็คมีโรงแรม 2 แห่งหลัก คือ ไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค กับ โนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค พอลล์ระบุว่าทั้ง 2 แห่งรวมกันมีจำนวนห้องพักประมาณ 1,000 ห้อง ซึ่งปรากฏว่าไม่เพียงพอแล้วในวันนี้
“exhibitor พูดมาเยอะมากว่าอยากให้เรามีโรงแรม 5 ดาวในบริเวณ เพราะแขกผู้ที่จะมาร่วมงานของเขามีเงื่อนไขว่าจะต้องพัก 5 ดาว” พอลล์กล่าวถึงช่องว่างที่ต้องการจะอุดให้อิมแพ็คเป็นสถานที่จัดงานที่สมบูรณ์แบบ “รวมถึงจำนวนห้องพักก็ไม่พอ exhibitor หลายรายบอกว่า ขอห้องพักรอบๆ ขั้นต่ำ 2,000 ห้อง ถ้าเรามีให้ไม่พอ เขาก็ตัดเราออกจากตัวเลือกเลย”
ทำให้ปี 2568 นี้อิมแพ็คมีแนวทางว่าอาจจะมีการขายโรงแรมทั้งไอบิสและโนโวเทลเข้ากองทรัสต์ IMPACT GROWTH REIT เพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนโรงแรมแห่งใหม่ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หากต้องการมีโรงแรม 5 ดาวเพิ่ม 1,000 ห้องในเมืองทองธานี
“จริงๆ การมีโรงแรมเพิ่มจะดีกับทั้งเมืองทองธานี เพราะอิมแพ็คก็มีโอกาสได้รายได้ค่าเช่าเพิ่มจากจำนวนงานที่เพิ่มมากขึ้น และแขกที่พักโรงแรมก็มีโอกาสจะมาใช้จ่ายกับร้านค้าต่างๆ แถวอิมแพ็ค” พอลล์กล่าว
ทั้งนี้ หากมีนักลงทุนรายใดสนใจที่จะร่วมพาร์ทเนอร์กับอิมแพ็คเพื่อก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่ดังกล่าวก็ไม่ขัดข้อง เปิดรับเจรจาทุกดีล
ปี’67 ธุรกิจอีเวนต์กลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19
ด้านภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ปี 2567 สำหรับอิมแพ็คแล้วพอลล์กล่าวว่ากลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มที่มีทั้งเติบโตมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ได้แก่
- กลุ่มคอนเสิร์ต – คาดการณ์รายได้ปีนี้ 380 ล้านบาท เติบโตเกือบ 70% จากปี 2562 ถือเป็นปีที่การจัดแสดงทางดนตรีเฟื่องฟูอย่างมาก
- กลุ่มอินเซนทีฟ (เลี้ยงลูกค้าหรือพนักงาน) – คาดการณ์รายได้ปีนี้ 250 ล้านบาท เติบโต 103% จากปี 2562 เป็นธุรกิจที่เติบโตดีมากในปีนี้ สามารถดึงลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาได้มาก
- กลุ่มจัดประชุมสัมมนา – รายได้ยังเติบโตได้ไม่เท่ากับปี 2562 อยู่ระหว่างร่วมมือกับภาครัฐเพื่อดึงงานประชุมสัมมนาจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น
- กลุ่มจัดนิทรรศการและแสดงสินค้า – ถือเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะต้องรออีกราว 18 เดือนจึงจะฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจร่วมกับค่าเงินบาททำให้การดึงการจัดงานเข้าสู่เมืองไทยทำได้ยากขึ้น ประกอบกับ exhibitor หลายรายปิดตัวไปตั้งแต่เกิดโควิด-19
หากวัดตามฐานลูกค้ามาจากแหล่งใดนั้น อิมแพ็คให้ข้อมูลไว้ว่าเมื่อรอบปีบัญชีก่อน (1 เมษายน 2566 – 31 มีนาคม 2567) อิมแพ็คมีสัดส่วนงานจากภาคเอกชน 57% จากรัฐบาล 21% และจากผู้จัดต่างประเทศ 22%
สัญญาณดีคอนเสิร์ตจองเต็มทั้งปี’68
ขณะที่สัญญาณธุรกิจอีเวนต์ปีหน้า พอลล์กล่าวว่าในกลุ่มคอนเสิร์ตเป็นไปในเชิงบวกมาก ปัจจุบันอิมแพ็ค อารีน่ามีคิวจองเต็มตลอดทั้งปี 2568 เรียบร้อยแล้ว
ส่วนกลุ่มอื่นๆ นั้นอิมแพ็คมีกลยุทธ์ “หากลุ่มเป้าหมายใหม่” 2 กลุ่มที่จะช่วยดึงการจัดงานเข้ามาได้มากขึ้น คือ
1.กลุ่มตลาด “จีน”
เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดใหญ่ มีโอกาสที่จะดึงทั้งกลุ่มจัดแสดงสินค้าและอินเซนทีฟเข้ามาไทยได้จำนวนมาก และประเทศจีนเริ่มเปิดให้คนเดินทางออกนอกประเทศได้มากขึ้น จากปี 2567 มีกลุ่มอีเวนต์จากประเทศจีนเข้ามาเช่าจัดแสดงคิดเป็นรายได้กว่า 100 ล้านบาท คาดว่าปี 2568 น่าจะดันขึ้นไปถึง 200-250 ล้านบาทได้ โดยอิมแพ็คมีการจัดทีมเซลส์สำหรับเจาะตลาดจีนโดยเฉพาะ เพื่อสร้างโปรไฟล์ให้ exhibitor ชาวจีนรู้จักอิมแพ็คมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มต่างประเทศอื่นๆ ที่ถือว่าน่าสนใจสำหรับอิมแพ็คและมีการจัดเซลส์เข้าไปเจาะตลาดด้วยเช่นกัน เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น
2.กลุ่มลูกค้าใหม่ – อินฟลูเอนเซอร์และสื่อ
สมัยก่อนนี้การจัดงานอีเวนต์ต่างๆ มักจะถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดย exhibitor มืออาชีพเป็นหลัก แต่ระยะหลังมีเทรนด์ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่หันมาเป็นผู้จัดกันมากขึ้น คือ “อินฟลูเอนเซอร์และสื่อ” โดยมักจะจัดงานที่สอดคล้องกับสิ่งที่สื่อของตนสื่อสารและมีกลุ่มลูกค้าของตนเองอยู่แล้ว เช่น ปีนี้มีการจัดงาน Restech 2024 ที่จัดโดย TORPENGUIN ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ทำให้อิมแพ็คมองเห็นว่าลูกค้าจัดงานในกลุ่มนี้จะเป็น ‘New S-Curve’ ได้ จึงมีแนวคิดจะจัดเป็นแพ็กเกจราคาเฉพาะกลุ่มที่ทำให้อินฟลูฯ สามารถขึ้นงานอีเวนต์ใหม่ได้ง่ายขึ้น มีโอกาสโตไปด้วยกันมากขึ้น
พอลล์ยังมองด้วยว่าปี 2568 อิมแพ็ค เมืองทองธานี น่าจะได้แรงบวกหลักจาก “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ส่วนต่อขยาย 2 สถานีเข้าสู่เมืองทองธานี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการภายในไตรมาส 2/2568 ขณะที่การก่อสร้างโครงการ Sky Entrance ทางเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้าสู่อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์นั้นคืบหน้าไป 62.6% คาดจะเสร็จรอการมาถึงของรถไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568
- “อิมแพ็ค” ปรับกลยุทธ์ “Employer Branding” แก้ปัญหาธุรกิจ MICE ขาดบุคลากรรุ่นใหม่
- อีเวนต์-ท่องเที่ยวฟื้น ดันตลาด ‘กล้อง’ โตตาม ‘แคนนอน’ พร้อมส่ง 2 รุ่นเรือธงใหม่ หวังเพิ่มแชร์เป็น 40%
อิมแพ็ค เมืองทองธานีนั้นถือเป็นสถานที่จัดแสดงสินค้าและการประชุมที่ใหญ่ที่สุดและมีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดหากวัดตามขนาดพื้นที่เช่า โดยคิดเป็น 50% ของตลาดพื้นที่จัดงานทั้งหมดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล แต่ถ้าเทียบกับสถานที่จัดงานแห่งอื่นอาจจะยังเสียเปรียบในเรื่องขนส่งมวลชน เพราะสถานที่ที่เป็น ‘คู่แข่ง’ อื่นๆ ได้แก่ ไบเทค บางนา, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และพารากอน ฮอลล์ ล้วนเข้าถึงได้ด้วยรถไฟฟ้าแล้วทั้งหมด ดังนั้น การมาถึงของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่อิมแพ็คน่าจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับพื้นที่
อิมแพ็คให้ข้อมูลด้วยว่าอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยรวมขณะนี้ (ณ เดือนเมษายน–มิถุนายน 2567) อยู่ที่ 50% ซึ่งพอลล์มองว่าหากสามารถดันอัตราเช่าให้ขึ้นไปถึง 60% ได้จะถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว