“อิมแพ็ค” ปรับกลยุทธ์ “Employer Branding” แก้ปัญหาธุรกิจ MICE ขาดบุคลากรรุ่นใหม่

อิมแพ็ค
อุตสาหกรรม MICE กลายเป็นธุรกิจที่กำลัง “ขาดแคลน” บุคลากรคนรุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่สายอาชีพที่น้องๆ สนใจสูงอีกต่อไป ทำให้ “อิมแพ็ค” พี่ใหญ่วงการของเมืองไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้าน “Employer Branding” เพื่อสร้างความนิยมในฐานะ “นายจ้าง” ที่ดี ดึงคนรุ่นใหม่มาร่วมงาน พร้อมจัดโครงการ “กล้า MICE” ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 4 เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รู้จักสายงานนี้มากขึ้น

“อิมแพ็คเราทำงานร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขา MICE อยู่ตลอด อาจารย์จะบอกกับเราทุกปีว่า มีเด็กมาสมัครเรียนสาขานี้น้อยลงๆ ทุกปีนะ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกหน่อยแรงงานจะหายไปจากตลาด” ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในตลาดงานที่ทำให้บริษัทต้องวางกลยุทธ์เพื่อ ‘ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจงาน MICE และสนใจทำงานกับอิมแพ็ค’

เหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่เข้ามาในวงการนั้นมีหลายเหตุผล บ้างไม่รู้จักว่า MICE คืออะไรและทำงานอะไร บ้างได้ยินเสียงเล่าปากต่อปากว่าการจัดการประชุมและแสดงสินค้านั้นเป็นงานที่ ‘หนักมาก’ ในขณะที่ทางเลือกของคนเจนใหม่มีมากขึ้น มีอาชีพที่เป็นที่นิยมสูงเข้ามาแทนอย่างงานสายเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงแนวคิดของคนรุ่นใหม่ไม่ชอบการทำงานประจำที่เข้าออกเป็นเวลา แต่ชอบงานอิสระ หรือเป็นเจ้าของกิจการเองมากกว่า

นั่นทำให้อิมแพ็คเริ่มแก้เกมการดึงบุคลากรเข้าสู่องค์กร โดยจะต้องทำทั้งสองด้าน คือ การปรับองค์กรให้เป็นที่ดึงดูดใจในฐานะนายจ้าง (Employer Branding) และ การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทำความรู้จักกับอาชีพในสายงาน MICE ผ่านโครงการกล้า MICE

 

3 ด้านปรับ Employer Branding ใหม่ของ “อิมแพ็ค”

ปัจจุบัน “บางกอกแลนด์” บริษัทแม่ของอิมแพ็ค มีพนักงานทั้งหมดกว่า 2,000 คน (รวมทั้ง 6 บริษัทย่อยในเครือ) โดยทมิตาคะเนคร่าวๆ มีคนเจนเอ็กซ์จนถึงบูมเมอร์ราวครึ่งหนึ่งขององค์กร ขณะที่คนเจนวายอยู่ในองค์กรราว 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนเจนซีซึ่งมักจะเป็นกลุ่ม first jobber นั้นยังน้อยมาก ไม่เกิน 10%

ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด

กลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยน Employer Branding ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อจะทำให้คนเจนวายจนถึงเจนซีสนใจร่วมงานกับองค์กรมากขึ้น โดยเราสรุปจากการพูดคุยกับทมิตาว่า อิมแพ็คได้เปลี่ยนอะไรไปแล้วบ้างรวม 3 ข้อ ดังนี้

1.การทำงานที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่

แนวนโยบายใหม่ของอิมแพ็คจะมีการส่งเสริม mindset ในระดับบริหาร ให้เปิดการรับฟังและโอกาสในการทำงานแก่คนเจนใหม่ มอบหมายให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้รับผิดชอบงานและเสนอไอเดียการทำงานมากขึ้น

โดยก่อนหน้านี้บริษัทมีการเปิด “โครงการประกวดนวัตกรรม R2i” (From Routine to Innovation) จัดขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี โครงการนี้เป็นทั้งเวทีที่เปิดให้ทุกคนได้แสดงความสามารถ และกระตุ้นให้พนักงานคิดนอกกรอบ สร้างนวัตกรรม เพื่อทำให้งานมีคุณภาพดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งโครงการที่ได้รับรางวัลจะมีการนำมาใช้ในบริษัท เช่น นวัตกรรมเครื่องปูพรมพื้นฮอลล์จัดแสดงสินค้า เพื่อให้การปูและเก็บพรมรวดเร็ว สวยงาม เป็นฝีมือการออกแบบจากพนักงานหน้างานตัวจริง

อิมแพ็ค
โครงการประกวดนวัตกรรม R2i
2.ปรับการจ้างงานมาเป็น project-based มากขึ้น

จากแนวคิดคนรุ่นใหม่ไม่ชอบการทำงานเป็นเวลาตอกบัตรเข้าออก และไม่ชอบการทำงานประจำที่ใดที่หนึ่ง แต่ชอบการควบคุมการรับงานและปริมาณงานได้เอง ทำให้อิมแพ็คเริ่มทดลองการจ้างงานแบบ project-based และพนักงานระบบชั่วคราว (gig workers) โดยเริ่มจากแผนกทรัพยากรบุคคล (HR) ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างในองค์กรว่างานบางรูปแบบสามารถยืดหยุ่นได้ในการจ้างงาน

3.การสร้างที่ทำงานที่เป็น ‘Happy Workplace’

อิมแพ็คประกาศนโยบาย LGBTQ-Friendly รับพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ และให้ความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกในการทำงาน

“น้องหลายคนที่จะสมัครงาน คำถามแรกๆ ที่ถามกันมากคือ ‘หนูเป็นสาวประเภทสอง สมัครได้ไหมคะ’ เพราะหลายแห่งเขาไม่รับ แต่ที่นี่เราเปิดกว้าง และเราให้แต่งกายได้ตามที่ต้องการ” ทมิตากล่าว

นอกจากนี้ยังปรับเรื่องสวัสดิการสุขภาพซึ่งคนสนใจมากขึ้นหลังผ่านโควิด-19 โดยมีแพทย์ประจำออฟฟิศ และเน้นการทำโครงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันให้กับพนักงานด้วย

 

“กล้า MICE” เพื่อให้น้องได้รู้จักสายอาชีพนี้

อีกส่วนที่สำคัญในการหาคนทำงาน คือต้องเปิดให้น้องๆ ได้รู้จักกับงานประเภทนี้ก่อน อิมแพ็คจึงจัด “โครงการกล้า MICE” ครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 4 โดยจะเปิดรับสมัครไปจนถึง 18 ธันวาคม 2565

โครงการจะคัดเลือกนักศึกษาทั้งหมด 50 คน โดยไม่จำกัดสาขาวิชาที่เรียนและไม่จำกัดสถาบัน ขอเพียงมีความสนใจที่จะเรียนรู้งาน MICE ก็สามารถเข้ามาร่วมอบรมได้ ผู้ที่ผ่านคัดเลือกจะได้เรียนรู้งานจริงทุกด้านในอิมแพ็ค และทดลองปฏิบัติงานจริงในประเภทงานที่ชื่นชอบ

อิมแพ็ค
ภาพจากโครงการ กล้า MICE

ทมิตากล่าวว่า ตั้งแต่จัดโครงการมา ทำให้มีนักศึกษาจากโครงการสมัครและทำงานต่อกับอิมแพ็คราว 10% จากนักศึกษาทั้งหมด ที่เหลือก็ไม่ได้หายไปไหน หลายคนเข้าทำงานกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งอิมแพ็คไม่ได้ปิดกั้น เพราะถือเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเติมบุคลากรให้กับทั้งอุตสาหกรรม

เมื่อถามถึงคนทำงานในสายอาชีพ MICE ว่าควรมีทักษะอย่างไร ทมิตาตอบว่ามี 4 กุญแจสำคัญ คือ เป็นคนยืดหยุ่นได้ แก้ปัญหาหน้างานเป็น, ใช้ทักษะได้หลายอย่าง (multi skills), มีทักษะทางสังคมสูง (social skills) เพราะต้องติดต่อผู้คนหลากหลาย และที่สำคัญที่สุดคือ มีแพสชั่นในการทำงานสายนี้ เนื่องจากธรรมชาติงานทำงานไม่เป็นเวลาแน่นอนและมีความกดดัน ทำให้ต้องการ ‘ใจรัก’ จริงๆ

“เราต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาในสายอาชีพนี้ เพราะคนรุ่นเก่าคือคนที่สามารถสอนงานได้ มีประสบการณ์สูง แต่คนรุ่นใหม่คือคนที่จะมาพัฒนาต่อ ทำให้องค์กรเรายังอยู่ต่อได้อีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า” ทมิตากล่าวปิดท้าย