ความจำเป็นของชีวิตทำให้หลายคนไม่ได้ “เรียนต่อ” ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาทำงานหาเลี้ยงชีพและครอบครัว แต่การมีวุฒิการศึกษาจบเพียงชั้น ม.3 หรือ ม.6 จะกลายเป็นกำแพงกั้นโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน “ฟู้ดแพชชั่น” ซึ่งมีพนักงานร้านอาหารราว 4,000 คนในองค์กร จึงต้องการช่วยแก้ปัญหานี้ ส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนต่อผ่านการตั้งธุรกิจการศึกษา
“ความสุขเริ่มต้นจากพนักงาน” นาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานทรัพยากรบุคคลและหน่วยธุรกิจพีเพิล คอนเน็ค บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวแนะนำถึงปรัชญาการบริหาร “คน” ในองค์กรนี้ โดยแนวคิดนี้เชื่อว่า หากพนักงานมีความสุข ก็จะบริการลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทำให้ลูกค้ามีความสุข และกลับมารับประทานอาหารที่ร้านอีก จนเกิดความยั่งยืนในธุรกิจ
เมื่อต้องการดูแลพนักงานให้ “เก่ง ดี สุข” ฟู้ดแพชชั่นจึงมีนโยบายหลายอย่างในด้านทรัพยากรบุคคล หนึ่งในนั้นคือการ “พัฒนาคน” ซึ่งบริษัทมองเห็นปัญหาได้ชัด เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมร้านอาหารที่ใช้แรงงานมาก เฉพาะร้านในเครือมีพนักงานรวมกันราว 4,000 คน แต่คาดว่าพนักงานธุรกิจร้านอาหารในประเทศนี้น่าจะมีมากกว่า 1 ล้านคน
ปัญหาที่บริษัทพบคือ พนักงานหลายคนเรียนจบเพียงชั้น ม.3 และต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อหางานทำ
“วิษณุ วงศ์สุมิตร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจากรีเทล จำกัด ผู้ให้บริการร้านกาแฟอินทนิล กล่าวยืนยันในทิศทางเดียวกันว่า พนักงานหลายคนเสียโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน เพียงเพราะไม่ได้เรียนต่อ
“ต้องยอมรับว่าวุฒิการศึกษาเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ต้องมีเพื่อจะเติบโตขึ้นไป เพราะการเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์หรือผู้จัดการต้องบริหารเงินและบริหารคน” วิษณุกล่าว “นั่นทำให้ร้านของเราต้องเจอกับสถานการณ์ที่น้องจบ ม.3 ทำงานกับเรามานาน ชงกาแฟไปเป็นหมื่นแก้วแล้วแต่ตำแหน่งตัน ขณะที่น้องจบปริญญาตรี มาชงกาแฟ 500 แก้วก็ได้ขึ้นเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ สุดท้ายเราต้องเสียน้อง ม.3 ไปทำงานที่อื่นเพราะเราผลักดันเขาให้เติบโตไม่ได้”
บางจากรีเทลจึงกลายเป็นพาร์ทเนอร์องค์กรรายแรกที่สนใจร่วมส่งพนักงานเข้าโครงการยกระดับวุฒิการศึกษากับฟู้ดแพชชั่น
ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น การเรียนต้องไม่จบแค่ ม.3
นาฑีรัตน์กล่าวต่อว่า ปัญหาที่บริษัทเล็งเห็น ทำให้เมื่อปี 2560 บริษัทก่อตั้ง “ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น” ขึ้น โดยมีตั้งแต่หลักสูตรชั้น ม.6 , ชั้น ปวช. , ชั้น ปวส. และสูงสุดคือชั้นปริญญาตรี ทั้งหมดเป็นการเรียนในระบบทวิภาคี
หลักสูตรเหล่านี้ ฟู้ดแพชชั่นออกแบบให้เหมาะกับปัจจัยชีวิตของ “คนทำงาน” คือ สามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ ผ่านการใช้ประสบการณ์ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองหน่วยการเรียน และการจัดการเรียนการสอนจะผสมผสานทั้งออนไซต์และออนไลน์ ทำให้คนทำงานสะดวกมากขึ้น
ในแง่ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนก็จะเน้นให้พนักงานมีภาระน้อยที่สุด แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
- อายุไม่เกิน 18 ปี สามารถสมัครรับทุนโครงการ “ทุนสานฝัน” เรียนฟรี ที่พักฟรี แลกเปลี่ยนกับการทำงานในร้านอาหารเครือฟู้ดแพชชั่นในระหว่างเรียน (มีค่าจ้างให้ตามปกติ) โดยไม่ต้องชดใช้ทุนคืนในภายหลัง สำหรับปี 2566 นี้มีโควตามอบทุนสูงสุดไม่เกิน 450 ราย
- อายุมากกว่า 18 ปี มีค่าธรรมเนียมการเรียน แต่จะคิดค่าใช้จ่ายต่ำสุดที่บริษัทสามารถทำได้ และไม่มีการจำกัดเพดานอายุสูงสุดในการสมัครเข้าเรียน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสกลับสู่ระบบการศึกษา
นาฑีรัตน์กล่าวว่า เหตุที่บริษัทไม่บังคับให้ใช้ทุนคืนเพราะมองว่า บริษัทเองได้ประโยชน์คืนมาแล้วตั้งแต่ที่น้องๆ มาทำงานให้บริษัทในระหว่างเรียน ผลลัพธ์สูงสุดที่บริษัทต้องการไม่ใช่ทุนคืนเป็นตัวเงิน แต่ต้องการให้คนจำนวนมากขึ้นได้ยกระดับตนเอง
นอกจากพนักงานภายในที่มีแต่เดิม บริษัทยังติดต่อโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อขอรับนักเรียนเข้าเรียนผ่านโครงการทุนสานฝันด้วย เช่น โรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) จ.เชียงราย มีการส่งนักเรียนเข้ามาเรียนกับโครงการที่กรุงเทพฯ แล้ว 4 รุ่น ทำให้นักเรียนหลายคนที่มีความฝันต้องการเรียนต่อแต่ขาดกำลังทรัพย์ ไม่ต้องออกจากระบบการศึกษาเมื่อจบ ม.3
หลังจากช่วงปีแรกๆ ฟู้ดแพชชั่นรับสมัครเฉพาะพนักงานในเครือเพื่อทดลองหลักสูตร ในปี 2566 นี้จะเป็นปีที่บริษัทเริ่มเปิดกว้างหลักสูตรสู่คนภายนอกองค์กร โดยปีการศึกษาภาคเรียนที่ 1/2566 มีนักเรียนในโครงการแล้วกว่า 500 คน แบ่งเป็นคนในองค์กรฟู้ดแพชชั่น 450 คน และภายนอกองค์กร 50 คน ส่วนหนึ่งคือพนักงาน “บางจากรีเทล” ที่มีแนวคิดตรงกันในการพัฒนาบุคลากรนั่นเอง
ทางฟู้ดแพชชั่นวางเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 จะขยายจำนวนนักเรียนโครงการนี้เพิ่มเป็น 800 คนต่อปี และหวังเพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอกขึ้นเป็น 300 คนในจำนวนนี้
- “บาร์บีคิวพลาซ่า” เปิดกลยุทธ์ “Go Beyond” ปรับร้านเป็น “ดิจิทัล” ไร้เงินสด ขยายตลาด 7 ประเทศ
- “บีอีซี สตูดิโอ” อาวุธใหม่ “บีอีซี เวิลด์” ลงทุนโรงถ่าย-บุคลากร ปั้น “ซีรีส์” ส่งออกเทียบชั้นเกาหลี
ศูนย์อบรมฟู้ดแพชชั่น พัฒนาร้านอาหาร
อีกหนึ่งโครงการที่เกิดภายใต้ธุรกิจพีเพิลคอนเน็ค คือ “ศูนย์อบรมฟู้ดแพชชั่น” เป็นหลักสูตรอบรมผู้สัมผัสอาหารและผู้ประกอบกิจการ เริ่มต้นในปี 2564 จุดประสงค์เพื่อให้พนักงานฟู้ดแพชชั่นเองและในอุตสาหกรรมอาหาร ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายของกรมอนามัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร/เครื่องดื่ม โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน ศูนย์อาหาร
ปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้สะสม 25,000 คนจาก 400 บริษัท และฟู้ดแพชชั่นวางเป้าจะจัดอบรมสะสมแตะ 50,000 คนได้ภายในปี 2568
นาฑีรัตน์สรุปการทำงานในธุรกิจการศึกษาเหล่านี้ว่า เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การทำกำไรสูงสุดเหมือนธุรกิจแบบอื่น แต่ต้องการให้มีกำไรแค่เพียงเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน
กำไรสูงสุดที่บริษัทจะได้รับคือการมี “Employer’s Branding” เป็นนายจ้างที่ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วยมากกว่า รวมถึงการพัฒนาคนขององค์กรให้มีทักษะสูง ทักษะหลากหลาย ซึ่งทำให้บริษัทได้เปรียบในตลาด ลดการลาออกหรือย้ายงานได้ดีขึ้น