“ยืดเปล่า” เปิดตลาดใหม่ “เสื้อโปโล” ขอเปลี่ยนจากแบรนด์วัยรุ่นสู่ “มหาชน” ขายทุกอย่างที่ “ยืดได้”

แบรนด์มาแรงแห่งยุค “ยืดเปล่า” (YUEDPAO) ขายเสื้อยืดสู่รายได้ 800 ล้านบาทในเวลาเพียง 5 ปี ล่าสุดเปิดไลน์สินค้าใหม่ “เสื้อโปโล” ตีตลาดวัยผู้ใหญ่ เปลี่ยนตัวเองจากแบรนด์วัยรุ่นสู่แบรนด์ “มหาชน” วางอนาคตขอขายเสื้อผ้าทุกอย่างที่ “ยืดได้”

“ยืดเปล่า” (YUEDPAO) เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนโดย “ตอน-ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว” พ่อค้าเสื้อผ้าที่เริ่มเก็บประสบการณ์มาตั้งแต่ตั้งแผงขายบ็อกเซอร์หน้า ม.รามคำแหง จนมาเปิดแผงขายเสื้อในตลาดนัดจตุจักร และในที่สุดสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองได้สำเร็จ

คอนเซ็ปต์แบรนด์ “ยืดเปล่า” เน้นขายเสื้อยืดสีพื้นเป็นหลัก มีหลายสี หลายทรง ครอบคลุมทั้งแบบ unisex และแบบผู้หญิง มาพร้อมกับหมัดเด็ดคือ “ราคาจับต้องง่าย” เริ่มต้นเพียง “ตัวละร้อย” ทำให้ได้กลุ่มลูกค้า “วัยรุ่น” แวะเวียนเข้ามาอย่างรวดเร็ว สร้างยอดขายเติบโตก้าวกระโดดทุกปีจนในปี 2566 ที่ผ่านมา ทนงค์ศักดิ์กล่าวว่าบริษัททำรายได้ขึ้นไปถึง 800 ล้านบาทแล้ว

ยืดเปล่า เสื้อโปโล
ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เริ่มใหม่ จำกัด

 

“เสื้อโปโล” เสื้อผ้าที่ทุกคนควรมีติดตู้

หลังวางรากฐานกับกลุ่ม “เสื้อยืด” ได้เรียบร้อย ทนงค์ศักดิ์บอกว่าทางบริษัทเริ่มซุ่มวิจัยและพัฒนาไลน์สินค้าใหม่มาตั้งแต่ 2 ปีก่อน โดยเลือกพัฒนาเป็นกลุ่มสินค้า “เสื้อโปโล”

“ผมเลือกกลุ่มเสื้อโปโลเพราะเป็นแบบเสื้อที่จริงๆ แล้วใส่ได้ทั้งทางการและใส่เที่ยวสบายๆ” ทนงค์ศักดิ์กล่าว “ที่จริงเป็นโปรดักส์ที่กว้าง ใส่ได้หลายกลุ่มคนเหมือนเสื้อยืด”

อย่างไรก็ตาม ทนงค์ศักดิ์มองว่าตลาดเสื้อโปโลยังมีจุดอ่อนที่ทำให้ยืดเปล่ามีช่องว่างเข้าไปได้ คือ

  1. เสื้อโปโลมักจะหาไซส์ ‘ใส่พอดียาก’ หากเป็นคนรูปร่างไม่มาตรฐาน เช่น คนผอมสูง มักจะใส่แล้วเสื้อเต่อเกินไป ส่วนคนรูปร่างใหญ่แต่ไม่สูงมาก เสื้อก็จะยาวเกินไปอีก
  2. เสื้อโปโลมักจะถูกมองว่า ‘ใส่แล้วร้อน’ ด้วยเนื้อผ้าทั่วไปมักจะไม่ค่อยระบายอากาศ

เหตุผลเหล่านี้ทำให้คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้มีเสื้อโปโลติดตู้ทุกคนเหมือนกับเสื้อยืด

ยืดเปล่า เสื้อโปโล

เมื่อรวมโจทย์ได้แล้วทางยืดเปล่าจึงคิดค้นออกมาเป็นสินค้าชื่อว่า “Tailor Cool Polo Innovation” แก้โจทย์ของลูกค้า 2 อย่าง คือ

  1. มีไซส์ให้เลือกรวมถึง 20 ไซส์ เพราะแบ่งทั้งความกว้างลำตัว XS, S, M, L, XL, XXL และความยาวเสื้อที่แบ่งตามความสูงเป็น 3 ระดับ คือ สูง 150-160 ซม. สูง 160-175 ซม. และ สูง 175-189 ซม. เพื่อให้พอดีตัวทุกรูปร่าง
  2. ด้านในของเสื้อใช้เทคโนโลยีผ้าแบบเดียวกับชุดกีฬาซึ่งทำให้ระบายอากาศดีขึ้น

นอกจากนี้ เสื้อโปโลของยืดเปล่ายังปล่อยมาทีเดียว 18 สี มีให้เลือกทุกเฉดสีเพื่อให้เข้ากับผิวทุกแบบของคนไทย

ด้านราคาเสื้อโปโลวางขายที่ 590 บาท ซึ่งทนงค์ศักดิ์มองว่าเป็นราคาที่ยังคงคอนเซ็ปต์ของยืดเปล่าคือ คุ้มค่า ทำราคาถูกกว่าตลาด เพราะเสื้อโปโลเจ้าตลาดหลายแบรนด์จะวางขายในช่วงราคา 790-990 บาทเป็นหลัก

ทำแคมเปญร่วมกับเซเลป 5 คนเพื่อโชว์การสวมใส่ของรูปร่างที่แตกต่าง ได้แก่ แข – รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น, สเตฟาน – รสิษฐ์ สินคณาวิวัฒน์, ชาร์เลท – วาศิตา แฮเมเนา, ปิงปอง – ธงชัย ทองกันทม, และ นะ – รัตน จันทร์ประสิทธิ์ วง Polycat

 

เล่นใหญ่หวังสร้างการเติบโต “เฟส 2” ของแบรนด์

กลยุทธ์เสื้อโปโลของยืดเปล่าเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่ “เล่นใหญ่” เพราะเท่ากับแบรนด์ต้องบริหารสินค้ารวมถึง 360 SKUs จากสีและไซส์ที่มีให้เลือกมากมาย

เรื่องนี้จะ ‘เสี่ยง’ เกินไปหรือไม่? ทนงค์ศักดิ์บอกว่า ด้วยจำนวนสาขาปัจจุบันยืดเปล่าขยายไปแล้ว 62 สาขา และคาดว่าจะเปิดครบ 70 สาขาในสิ้นปีนี้ ทำให้ ‘Economy of Scale’ หรือการประหยัดต่อขนาดมีมากพอที่จะบริหารจำนวนสินค้ามากได้ขนาดนี้

“นี่คือเฟส 2 ของบริษัทเรา จากเฟส 1 ที่ทำเสื้อยืดมา 5 ปี” ทนงค์ศักดิ์กล่าว “เราเริ่มจากเสื้อยืดตัวละร้อย ตอนนี้เราจะขอปรับจากแบรนด์วัยรุ่นมาสู่แบรนด์มหาชนแล้ว”

เราเริ่มจากเสื้อยืดตัวละร้อย ตอนนี้เราจะขอปรับจากแบรนด์วัยรุ่นมาสู่แบรนด์มหาชนแล้ว

ส่วนการเจาะตลาดเสื้อโปโลที่มีแบรนด์ดังๆ ครองตลาดอยู่แล้วหลายเจ้า เจ้าของแบรนด์ยืดเปล่ามองว่า ยืดเปล่าเองก็มีกลุ่มลูกค้าที่เติบโตมาด้วยกัน หลายคนเริ่มก้าวสู่วัยทำงานและต้องการเสื้อโปโล ประกอบกับการตลาดในแบบของตัวเองก็น่าจะสู้ในตลาดนี้ได้

ทนงค์ศักดิ์หวังว่า “เสื้อโปโล” จะกลายเป็น New S-Curve ใหม่ของแบรนด์ ทำให้บริษัทโตก้าวกระโดดได้ต่อเนื่อง และเป็นจุดเริ่มต้นในอนาคตที่ “ยืดเปล่า” จะกลายเป็นแบรนด์ที่ขายเสื้อผ้าทุกอย่างที่ “ยืดได้” ไม่จำกัดตัวเองแค่เสื้อยืดอีกต่อไป

 

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม