“KUBOTA x GREYHOUND” เปลี่ยน “ฟางข้าว” จากท้องนาเป็น “เสื้อผ้า” ช่วยลดมลพิษจากการเผา

“สยามคูโบต้า” จับมือแบรนด์แฟชั่น “เกรย์ฮาว ออริจินัล” เปิดตัวคอลเล็กชัน “KUBOTA x GREYHOUND” เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยฟางข้าว สร้างประโยชน์ให้วัสดุเหลือใช้ จูงใจให้เกษตรกรลดการเผานาที่เป็นบ่อเกิดของมลพิษ PM2.5

“สยามคูโบต้า” เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่อยู่ในไทยมานาน 46 ปี มีความใกล้ชิดกับเกษตรกรไทยโดยเฉพาะกลุ่ม “ชาวนา” จึงทราบดีว่าชาวนาใช้วิธี “เผา” ในการจัดการท้องนาหลังเก็บเกี่ยว ต้นเหตุส่วนหนึ่งของปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ทำให้สยามคูโบต้ามีนโยบายที่จะช่วยจูงใจให้ชาวนาลดการเผานาข้าวมาโดยตลอด เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ “เกรย์ฮาวด์ ออริจินัล” เป็นแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยที่มีนโยบายด้าน Sustainable Fashion ด้วยตระหนักรู้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นธุรกิจที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทำให้แบรนด์เริ่มสร้างไลน์สินค้า Green Label มาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อผลิตเสื้อผ้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

เกรย์ฮาวด์
KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT “Turn Waste to Agri-Wear” ใช้เส้นใยจากฟางข้าวเป็นส่วนผสม 20% ของผืนผ้า

ด้วยเป้าหมายที่ตรงกันทำให้ทั้งสองแบรนด์หันมาจับมือในโปรเจ็กต์คอลเล็กชัน KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT “Turn Waste to Agri-Wear” นำเส้นใยจาก “ฟางข้าว” มาใช้ผลิตเสื้อผ้าในคอลเล็กชันนี้ ช่วยเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นวัสดุที่มีประโยชน์ มีราคา จูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการเผามาเก็บอัดฟางข้าวเพื่อนำไปจำหน่าย

โดย เกรย์ฮาวด์ ออริจินัล ออกแบบเสื้อผ้าและของใช้ในคอลเล็กชันนี้มาทั้งหมด 20 SKUs เช่น เสื้อ กางเกง หมวก กระเป๋า เน้นการออกแบบในสไตล์ GREYHOUND ที่ใส่ได้ทั้งหญิงและชาย (Unisex) และเป็นสไตล์สตรีทแวร์ที่แฟนคลับแบรนด์ทุกคนคุ้นเคย คอลเล็กชันนี้ผลิตแบบ Limited Edition แต่ละ SKU จะมีผลิตออกมาเพียง 300-500 ชิ้น จำหน่ายผ่านร้านเกรย์ฮาวด์ ออริจินัล ทั้ง 4 สาขา คือ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว และเมกาบางนา รวมถึงจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

เกรย์ฮาวด์
รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของคอลเล็กชันนี้จะมีการนำบริจาคให้กับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

 

ต่อยอดงานวิจัยมาสู่งานขายจริง

“พิษณุ มิลินทานุช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์มาจากทางสยามคูโบต้ามีเป้าหมายที่จะช่วยลดการเผานาด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับฟางข้าว ปัจจุบันฟางข้าวจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลกับอาหารสัตว์เป็นหลัก แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอที่จะรับซัพพลายฟางข้าวจากนาข้าวทั้งประเทศไทย

ในที่สุดบริษัทค้นคว้าจนได้พบกับงานวิจัยของ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ซึ่งมีนวัตกรรมใหม่ “เส้นใยฟางข้าวผสมเส้นใยจากรังไหม” นำมาปั่นและทอเป็นผ้าได้ และมีกลุ่มสตรีทอผ้าฝ้าย ตำบลทับน้อย อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้ผลิตผืนผ้า สยามคูโบต้าจึงเป็นตัวกลางในการติดต่อนำเสนอผ้านวัตกรรมนี้ให้กับเกรย์ฮาวด์ ออริจินัล เพื่อทดลองนำไปออกแบบเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ของตนเอง

เกรย์ฮาวด์
กลุ่มสตรีทอผ้าฝ้าย ตำบลทับน้อย อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

ด้าน “ภาคิน เพ็ญภาคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์เกรย์ฮาวด์ ออริจินัล หลังได้รับการทาบทามก็สนใจทันทีเพราะวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมตรงกัน จากนั้นใช้เวลา 6 เดือนในการศึกษาผ้าและออกแบบคอลเล็กชันนี้

ภาคินกล่าวว่า ผลการตอบรับจากลูกค้าดีมาก หลายแบบขายหมดแล้วในโควตาช่องทางออนไลน์ เหลือเฉพาะหน้าสาขา เชื่อว่าเกิดจากคนรุ่นใหม่ก็ใส่ใจและสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงมีความเชื่อมั่นในแบรนด์เกรย์ฮาวด์ ออริจินัลว่าออกแบบดี และใช้ผ้าคุณภาพดีในการตัดเย็บ

(ที่ 3 จากซ้าย) “พิษณุ มิลินทานุช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ที่ 2 จากขวา) “ภาคิน เพ็ญภาคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน)

ส่วนการใช้ผ้าจากเส้นใยฟางข้าวในคอลเล็กชันต่อๆ ไปนั้น ภาคินกล่าวว่าขอรอดูยอดขายของคอลเล็กชันนี้ก่อน แต่ภาพรวมนโยบายบริษัทต้องการสนับสนุนวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมทุกชนิด โดยปัจจุบันไลน์สินค้า Green Label ของเกรย์ฮาวด์ ออริจินัลมีสัดส่วนประมาณ 10% ของไลน์สินค้าทั้งหมด สินค้าในไลน์นี้จะมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ผ้ารีไซเคิลจากขวดพลาสติก ผ้าคอตตอนออแกนิกส์ คอลเล็กชันจากเศษผ้า เป็นต้น

สำหรับภาพรวมธุรกิจกลุ่มเสื้อผ้าของ มัด แอนด์ ฮาวด์ ภาคินระบุว่า แบรนด์กลับมาเติบโตต่อเนื่อง 3 ปีที่ผ่านมาหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจเสื้อผ้าโตปีละ 10-15% ขณะที่ 5 เดือนแรกปี 2567 ธุรกิจเสื้อผ้าของบริษัทโตประมาณ 5-10%

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าของเกรย์ฮาวด์กลับมาโตได้ เกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับตลาดมากขึ้น โดยเพิ่มเสื้อผ้าที่มีความเรียบง่ายใส่ได้ทั่วไปมากขึ้น จากเดิมที่เสื้อผ้าเกรย์ฮาวด์จะมีสไตล์ชัดเจนและแฟชั่นมาก รวมถึงปรับมาออกคอลเล็กชันถี่มากขึ้นเพราะคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแฟชั่นเร็วขึ้น