เป้าหมายการท่องเที่ยวภายในประเทศปี 2567 ช่วง 7 เดือนแรกจำนวนคนไทย “เที่ยวไทย” เป็นไปตามคาด แต่ยอดใช้จ่ายหลุดเป้าอย่างแรง นักท่องเที่ยวเข้าโหมดประหยัด–ลดการช้อปปิ้ง ททท. วางแคมเปญรับมือ “เที่ยวที่ใช่ ออกไปทำกิจกรรมที่ชอบ” กระตุ้นคนไทยทำกิจกรรมสันทนาการระหว่างท่องเที่ยวให้มากขึ้น
“สมฤดี จิตรจง” รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. วางเป้าหมายปี 2567 ผลักดันตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ ต้องการกระตุ้นนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในไทย 200 ล้านคนครั้ง เป้ารายได้ 1.08 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในประเทศแล้ว 160 ล้านคนครั้ง คิดเป็นเม็ดเงินรายได้ 5.82 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะเป็นไปตามเป้า แต่เม็ดเงินรายได้กลับน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซาทำให้คนไทยแม้จะยังออกท่องเที่ยวแต่ต้องเริ่มรัดเข็มขัด
เมื่อเจาะลึกใน 4 หมวดการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าช้อปปิ้ง และค่ากิจกรรมนันทนาการ พบว่าส่วนที่นักท่องเที่ยวไทยลดการใช้จ่ายอย่างมากคือ “ค่าช้อปปิ้ง”
“ที่ขาดหายไปอย่างหนักคือการช้อปปิ้ง เพราะคนไทยเริ่มประหยัดการใช้จ่ายระหว่างท่องเที่ยว คนไทยรู้สึกว่าของที่ขายในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไม่แตกต่างกัน ทำให้ไม่รู้สึกว่าอยากจ่าย” สมฤดีกล่าว
ถือเป็นโจทย์หนึ่งที่ ททท. กำลังไขคำตอบหาสินค้าประจำถิ่นที่ลอกเลียนแบบได้ยาก เพื่อชูให้เป็นสินค้าที่ควรซื้อเมื่อมาท่องเที่ยว เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำถิ่น ในจังหวัดต่างๆ มีสุราชุมชนที่ผลิตจากวัตถุดิบในถิ่นนั้นเท่านั้น เช่น เหล้าอุ เหล้าสาโท ไวน์ผลไม้ กำลังหาทางส่งเสริมเพื่อให้เป็นสินค้าเพื่อช้อป ชิม และนำไปเป็นของฝาก
- ‘มาเก๊า’ กับความพยายามชู ‘จุดขายใหม่’ นอกจากกาสิโน เพื่อแข่งโกยนักท่องเที่ยวกับนานาประเทศ
- “ไทย” ติดอันดับ 5 ประเทศ Non-OIC ที่เป็นมิตรต่อ “นักท่องเที่ยวมุสลิม” แห่งปี 2024
ขณะเดียวกัน ในภาพระยะสั้นของปีนี้ สมฤดีชี้ให้เห็นว่ายังมีหมวดใช้จ่ายด้าน “กิจกรรม” ที่ยังมีช่องว่างให้เติบโต เพราะปกติแล้วคนไทยจะใช้จ่ายกับหมวดนี้น้อยกว่าหมวดอื่นเมื่อไปท่องเที่ยว แต่ ททท. จะมีการกระตุ้นให้เห็นว่ามีกิจกรรมมากมายให้ทำผ่านแคมเปญ “เที่ยวที่ใช่ ออกไปทำกิจกรรมที่ชอบ” เช่น ดำน้ำดูปะการัง ล่องแก่ง พายเรือคายัค ขับรถเอทีวี ปีนผา เรียนมวยไทย นวดไทย ฝึกวาดชามตราไก่ ตีกอล์ฟ เต้นสวิงแดนซ์ ฯลฯ มีนันทนาการหลายอย่างในไทยที่เหมาะกับคนทุกแบบ
ปัจจุบันค่าใช้จ่าย “ไทยเที่ยวไทย” เฉลี่ยจะอยู่ที่ 4,000 บาทต่อคนต่อทริป ตัวเลขอาจจะดูค่อนข้างต่ำเพราะคนไทยนิยมเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับค่อนข้างมาก ทำให้ไม่มีค่าที่พัก แต่สมฤดีมองว่าต่อจากนี้ค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเพราะคนไทยเริ่มมีเทรนด์ “พักสบาย” มองโรงแรมเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ต้องไปมากยิ่งขึ้น