กดดันเกินจะทำเอง! พนักงานในญี่ปุ่นหันมาพึ่ง “บริษัทรับจ้างลาออก” มากขึ้น หลังจากต้องกลับมาเข้าทำงานในออฟฟิศสุดเครียด

ภาพจาก shutterstock
หากพูดถึงวัฒนธรรมการ ทำงานหนัก ชื่อของประเทศ ญี่ปุ่น ต้องติดอันดับต้น ๆ แน่นอน ยังไม่รวมถึงความกัดดันอื่น ๆ จากหัวหน้างาน และด้วยวัฒนธรรมดังกล่าวทำให้เกิดธุรกิจ รับจ้างลาออก ซึ่งพนักงานญี่ปุ่นหันมาใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ

พนักงานออฟฟิศของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ในออฟฟิศ หรือตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 3 ทุ่ม ถือเป็น เวลาปกติในการทำงาน และถือเป็นเวลาเลิกงานที่เร็วที่สุดของวันทํางานด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม การทำงานหนักไม่ใช่วัฒนธรรมในการทำงานที่ไม่ดีอย่างเดียวของญี่ปุ่น

โดยอีกวัฒนธรรมในการทำงานของญี่ปุ่นก็คือ การลาออก ที่ถือว่าเป็นการ ดูหมิ่นรุนแรง ต่อนายจ้างและหัวหน้า ในกรณีที่รุนแรงที่สุดคือ หัวหน้าบางคนจะ ฉีกจดหมายลาออกและก่อกวนพนักงานเพื่อบังคับให้พวกเขาอยู่ต่อ ส่งผลให้พนักงานหลายคนต้องทำงานกับบริษัทเดียวเป็นเวลาหลายสิบปี หรือไม่ก็ตลอดชีวิต 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ญี่ปุ่นมีธุรกิจใหม่ก็คือ รับจ้างลาออก เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ไม่กล้าลาออกเอง ทั้งจากนิสัยส่วนตัวที่ไม่กล้า หรือพนักงานที่กลัวเจ้านายตัวเอง ซึ่งบริษัทจะช่วยให้พนักงานเหล่านี้ลาออกโดยปราศจากความเครียด แม้ว่าอุตสาหกรรมนี้มีอยู่ก่อนโควิด แต่ความนิยมของมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากการระบาดใหญ่คลี่คลายลง เพราะหลายคนเริ่มหันมาทบทวนถึงการทำงานที่ต้องกลับเข้าออฟฟิศ หลังจากที่เคยได้ Work from home

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับบริษัทรับจ้างลาออกมีอัตราการเติบโตมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าบริษัทเหล่านี้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น ตราบใดที่ยังมีความต้องการ โดย Shiori Kawamata ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของ Momuri (โมมูริ) หนึ่งในบริษัทรับจ้างลาออก เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว บริษัทได้รับการสอบถามจากลูกค้ามากถึง 11,000 เคส

สำหรับ Momuri ก่อตั้งในปี 2022 โดยชื่อบริษัทแปลเป็นไทยได้ว่า ฉันทําสิ่งนี้ไม่ได้แล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความในใจของลูกค้าที่ไม่สามารถ ทำงานกับที่เดิม ได้อีกต่อไป โดยตัวบริษัทตั้งอยู่ในมินาโตะ หนึ่งในย่านธุรกิจที่พลุกพล่านที่สุดของโตเกียว 

สำหรับค่าบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 22,000 เยน (ประมาณ 5,300 บาท) สำหรับพนักงานออฟฟิศทั่วไป และ 12,000 เยน (ประมาณ 2,900 บาท) สําหรับผู้ที่ทํางานพาร์ทไทม์ โดยบริษัทสัญญาว่าจะช่วยพนักงานยื่นใบลาออก เจรจากับบริษัทของตน และให้คําแนะนําแก่ทนายความหากมีข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้น

ทั้งนี้ เคสส่วนใหญ่ที่บริษัทเจอจะเป็น พนักงานที่ทำงานให้กับ ธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง และธุรกิจใน อุตสาหกรรมอาหารมีความเสี่ยงมากที่สุด รองลงมาคือ ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพและสวัสดิการ

“บางคนมาหาเราหลังจากถูกฉีกจดหมายลาออกสามครั้ง แต่นายจ้างก็ไม่ยอมให้พวกเขาลาออก แม้ว่าพวกเขาจะคุกเข่าลงกับพื้นเพื่อโค้งคํานับก็ตาม บางครั้งเราได้รับโทรศัพท์จากคนที่ร้องไห้ ถามเราว่าพวกเขาสามารถลาออกจากงานได้หรือไม่ เราบอกพวกเขาว่าไม่เป็นไร และการลาออกจากงานของพวกเขาคือ สิทธิแรงงาน” Kawamata กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีพนักงานบางคนเจอปัญหา การก่อกวนจากหัวหน้า หากพวกเขาพยายามลาออก เช่น การไปกดกริ่งประตูที่บ้านหรืออพาร์ตเมนต์ของพวกเขาซ้ำ ๆ แถมยังไม่ยอมกลับ บางเคส มีพนักงานถูกเจ้านาย ลากไปวัด เพราะเชื่อว่า ถูกสาปแช่ง 

อย่างไรก็ตาม Shiori Kawamata ได้ทิ้งท้ายอย่างตรงไปตรงมาว่า บริการรับจ้างลาออก ควรหายไปจากสังคม เพราะมันคงจะดีที่สุดถ้าผู้คนสามารถ ลาออกกับเจ้านายของพวกเขาได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อได้ยินเรื่องราวน่าเศร้าของลูกค้าหลาย ๆ ราย ทำให้เชื่อว่า ธุรกิจรับจ้างลาออกจะไม่หายไปในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ ในปี 2022 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากการทำงาน หรือที่เรียกว่า คาโรชิ ถึง 54 คน แม้จะถือว่าลดลงอย่างมากจากจำนวน 160 คน ที่บันทึกไว้เมื่อ 20 ทศวรรษก่อน แต่จํานวนคนที่ยื่นคําร้องเกี่ยวกับความเครียดทางจิตใจในที่ทํางานกําลังเพิ่มขึ้น จาก 341 คนในช่วง 20 ปีก่อน เป็น 2,683 คน ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ

Source