เจาะลึก ‘สเวนเซ่นส์ ตลาดต้นตาล ขอนแก่น’ รีจินัล แฟล็กชิปแห่งแรกของแดน ‘อีสาน’ ที่ย้ำว่า มากกว่ารสชาติ คือประสบการณ์

หากพูดถึงแบรนด์ สเวนเซ่นส์ เชื่อว่าในไทยไม่มีใครรู้จักแน่นอน เพราะด้วยจำนวนสาขากว่า 345 สาขา ครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด แม้ว่าสเวนเซ่นส์จะเป็นผู้นำในตลาดไอศกรีม แต่เพราะการแข่งขันที่สูง ทำให้แบรนด์จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ แต่ต้องขยับอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการมีอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่น สเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป สโตร์ สาขาล่าสุดที่เปิดในแดนอีสานเป็นครั้งแรก

ชาเลนจ์ของผู้นำ คือไม่มีคนให้ตาม

แม้ว่า พิษเศรษฐกิจ อาจไม่ได้ส่งผลต่อตลาด ไอศกรีม มากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่เน้นเรื่องของ Emotional แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความยาก โดยเฉพาะในเรื่องของ การแข่งขัน ดังนั้น จะเห็นว่ามีหลายแบรนด์ที่ล้มหายตายจากไป ส่วนแบรนด์หน้าใหม่ก็ตบเท้าเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์เล็ก ๆ ก็ตาม

ในมุมของ สเวนเซ่นส์ แม้ว่าแทบจะไม่เหลือคู่แข่งใน ระดับเดียวกัน แต่ ณพล ศิริมงคลเกษม Head Of Brand – Swensen’s ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มองว่า ความท้าทายไม่ได้หายไป เพราะต้องแข่งกับความคาดหวังของผู้บริโภคที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ 

“โลกเปลี่ยนไปเร็วขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือชาเลนจ์ ว่าเราจะตามให้ทันได้ยังไง ต้องวิ่งให้ทันโลกที่เร็วข้ึน เพราะผู้บริโภคมีความคาดหวังมากขึ้น ซึ่งมันต่างจากการเป็นเบอร์ 2 เพราะเราไม่มีคนให้วิ่งไล่ตาม แต่ต้องคิดทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อรักษาตำแหน่งเบอร์ 1” ณพล กล่าว

One size fit all ไม่มีอีกแล้ว

หนึ่งในจุดที่สเวนเซ่นส์หยุดไม่ได้ก็คือ การออกโปรดักส์ใหม่ ๆ เพื่อตอบรับต่อความต้องการลูกค้า ดังนั้น ในแต่ละปี  สเวนเซ่นส์มีสินค้าใหม่เกิน 100 SKU เรียกได้ว่า มีเมนูใหม่แทบทุกเดือน ตั้งแต่ตามซีซันนอล อาทิ ไอศกรีมมะม่วง, มะพร้าว, ทุเรียน หรือการออกสินค้าอื่น ๆ เช่น โทสต์ แพนเค้ก ที่มีความเป็นคาเฟ่ เพื่อจับกลุ่มวัยรุ่น

“ลูกค้าเรายังเป็นผู้หญิงคิดเป็น 70% และเป็นกลุ่ม Family with kids ดังนั้น โปรดักส์ดีไซน์อาจจะยังต้องใช้อินไซต์คนกลุ่มนี้เป็นหลัก แต่ต้องยอมรับว่ายุคนี้ไม่ใช่ One size fit all ดังนั้น เราก็จะทำโปรดัสก์ที่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มมากขึ้น”

อีกจุดที่สเวนเซ่นส์ทำเพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างแบรนด์เลิฟก็คือ โมเดลร้านพิเศษ โดยปัจจุบันแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่

  • Concept Store เป็นสาขาที่มีการดีไซน์ให้เข้ากับสถานที่นั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ กาดฝรั่ง จ.เชียงใหม่, แอท เอกมัย และท่ามหาราช
  • Regional Flagship Store เป็นสาขาในรูปแบบสแตนด์อะโลน ที่จะดีไซน์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของจังหวัดนั้น ๆ ปัจจุบันมี 7 สาขา ได้แก่ ภูเก็ต, ยะลา, น่าน, พิษณุโลก, นครศรีธรรมราช, สงขลา และล่าสุด ขอนแก่น

รู้จัก ‘สเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป ขอนแก่น’

สำหรับ สเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป สาขาตลาดต้นตาล จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นสเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน และใหญ่ที่สุดในจังหวัด ด้วยพื้นที่รวมทั้งหมด 278 ตารางเมตร ทั้งหมด 116 ที่นั่ง ใช้งบลงทุนกว่า 10 ล้านบาท 

แน่นอนว่าสาขารีจินัล แฟล็กชิปจะต้องผสมผสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นลงไปในการออกแบบ ดังนั้น โครงสร้างด้านนอกจึงถูกออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ ลอมข้าว ซึ่งเป็นการฟ่อนข้าวที่เกี่ยวแล้วนำไปกองรวมกันไว้กลางลานดิน และ กูบเกวียน พาหนะที่ได้รับความนิยมอย่างมากในภาคอีสาน และอีกเอกลักษณ์ที่สำคัญและเป็นจุดเด่นของแฟล็กชิปสโตร์ คือ โคมไฟทิฟฟานี ที่นำมาดีไซน์ร่วมกับ แคนแก่นคูณ ดอกไม้และสัญลักษณ์ประจำจังหวัดขอนแก่นมาดีไซน์เข้าด้วยกัน ซึ่งตัวโคมไฟก็จะเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในแฟล็กชิปสโตร์ทุกสาขา 

ส่วนดีไซน์ภายในคำนึงถึงลูกค้าของสเวนเซ่นส์ และเปรียบเสมือน Dessert Destination สำหรับลูกค้า จึงมีทั้งการออกแบบที่นั่งที่ให้บริการแบบครอบครัว หรือมากันแบบเป็นแก๊งเพื่อน นอกจากนี้ ยังมี ภูเวียงไดโน่ โรตี ซันเด เซต มนูใหม่เฉพาะแฟล็กชิปสโตร์สาขาแรกแห่งขอนแก่น ที่จะท็อปด้วย ตุ๊บตั๊บ ของดีพื้นถิ่นจังหวัดขอนแก่น และ คุกกี้รูปไดโนเสาร์ โดยจะเสิร์ฟเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกเท่านั้น

รีจินัล แฟล็กชิปจะมีแค่ 10 สาขาเท่านั้น

ณพล อธิบายว่า กลยุทธ์ของการทำรีจินัล แฟล็กชิปสโตร์ ก็คือ ต้องการให้เป็น Destination ของจังหวัดหรือภูมิภาคนั้น ๆ ที่ต้องไป อย่างไรก็ตาม ทางสเวนเซ่นส์วางแผนที่จะเปิดเพียง 10 แห่งเท่านั้น โดยคาดว่าจะจะมีสาขาใหม่เพียง ปีละ 1 สาขา และจะเป็นโมเดล แฟรนไชส์ทั้งหมด เพราะมองว่าคนโลคอลจะมีความรู้จักกับวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่ได้ดีกว่า

“มันเปิดไม่ได้ง่าย เราเลยคิดว่าคงมีไม่เกิน 10 เพราะต้องเป็นจังหวัดใหญ่ มีเอกลักษณ์ชัด ต้องดูกำลังซื้อ และเพราะเป็นสแตนด์อะโลนก็ยิ่งต้องคิดเยอะ นอกจากนี้ ต้องหาดีไซเนอร์ที่จะมาผสมวัฒนธรรมของแต่ละที่ เพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ที่แตกต่างจริง ๆ” 

ทั้งนี้ ยอดการใช้จ่ายของสาขารีจินัล แฟล็กชิปจะใกล้เคียงกับสาขาปกติ เพราะราคาสินค้าเท่ากันทั่วประเทศ แต่ที่ มากกว่าก็คือ จำนวน ทราฟฟิก ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% เช่นเดียวกันกับยอดขายที่เพิ่ม 20-30% เช่นกัน

มั่นใจสเวนเซ่นส์ยังโตได้อีก

ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา สเวนเซ่นส์สามารถเติบโตได้ 5-10% โดย ณพล เชื่อว่า ยังมีช่องว่างให้เติบโต ปัจจุบัน สเวนเซ่นส์ในไทยมีสาขาทั้งสิ้น 345 สาขา โดย 60% เป็นแฟรนไชน์ อีก 40% เป็ยการลงทุนเอง โดยแต่ละปีมีการขยายสาขาอยู่ที่ 10-15 สาขา โดยจะเน้นไปที่แฟรนไชส์ และเปิดตามการขยายตัวของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ 

“เพราะคนไทยยังมีวัฒนธรรมที่ว่า กินคาวต้องกินหวาน ดังนั้น เราไม่ได้มองว่าของหวานเป็นตัวเลือกแรกที่ถูกตัดทิ้งในช่วงที่กำลังซื้อไม่ดี ดังนั้น เรายังเชื่อว่าสเวนเซ่นส์ยังโตได้ ตลาดไอศกรีมยังโตได้”