ในหลายปีมานี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลกับผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เห็นได้ว่าเกิดอาชีพออนไลน์ขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ หรือบล็อกเกอร์สายต่างๆ ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน ก็สามารถทำอาชีพเหล่านี้ได้ และเมื่อกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็จะกลายเป็นคนที่ทรงอิทธิพลต่อคนหมู่มากบนโลกโซเชียลมีเดียได้เช่นกัน
ยุคเฟื้องฟูของอินฟลูต่างชาติ
ในประเทศไทยเอง การเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ได้กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพยอดนิยมไปแล้ว เพราะสามารถสร้างทั้งชื่อเสียง และรายได้ในคราวเดียว เป็นใบเบิกทางสู่การทำธุรกิจได้อีกด้วย บางคนยังก้าวไปอีกขั้นสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์
ข้อมูลจาก Tellscore พบว่า ประเทศไทยคาดว่ามีคอนเทนต์ ครีเอเตอร์มากถึง 9 ล้านคน ครอบคลุมตั้งแต่ในระดับ Nano – Macro – Mega Creator ทั้งที่เป็น Full-time และ Part time ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียและการใช้เวลาท่องโลกออนไลน์ของคนไทยที่มีอัตราสูงในอันดับต้นๆ ของโลก โดยจากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พบว่าประชากรไทยมีการอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณ 89.5% และมีช่องทางโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน คิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งหมด
แน่นอนว่าการเป็นครีเอเตอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยี ซึ่งการที่แต่ละคนมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนยิ่งทำให้เกิดการจดจำมากขึ้น นำไปสู่การหารายได้เป้นกอบเป็นกำ
อย่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นกระแสความนิยมของอิฟลูเอนเซอร์ หรือครีเอเตอร์เกาหลีจำนวนมาก หลายคนประสบความสำเร็จในไทย มีรายได้มหาศาล หนึ่งสิ่งที่อธิบายความนิยมของคนไทยได้มากที่สุดคือ “ความเอ็นดู” คนไทยหลายคนรู้สึกปลื้มใจที่เห็นชาวต่างชาติหัดพูดภาษาไทย แม้จะทำกิจกรรมเงอะๆ งะๆ ก็ยังมองว่าน่ารักอยู่ดี ซึ่งลองนึกภาพว่าถ้าเป็นครีเอเตอร์คนไทยทำกิจกรรมเดียวกัน คงให้ความสนใจต่างกัน
ครีเอเตอร์เกาหลีจึงเบ่งบานในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ไล่เรียงจาก “คิวเท” ยูทูบเบอร์ชาวเกาหลีเบอร์ต้นๆ ที่คนไทยรู้จัก เจ้าของช่อง Kyutae Oppa คิวเทเป็นชาวเกาหลีแท้ๆ ที่เกิด และเติบโตในไทย คิวเทเริ่มทำคลิปวิดีโอแรกตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ ม. 6 เป็นคลิป “เกาหลีเต้นสายย่อ” และแจ้งเกิดได้จากคลิป “เกาหลีดูหนังผีไทยคนเดียว” ซึ่งเป็นการรีแอคชั่นขณะดูภาพยนตร์ “ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ”
เพียงชั่วระยะเวลา 3 ปีเศษๆ ช่องยูทูบของเขา ก็สามารถมียอดผู้ติดตามสูงถึงเกือบ 8 ล้านคน บวกกับยอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก อีกกว่า 1 ล้านคน มาพร้อมกับงานโฆษณา งานรีวิวสินค้า แถมปีก่อนยังได้เปิดร้าน SPACE ZOO ร้านไก่ทอดเกาหลี เป็นการร่วมทุนกับ “เบียร์ ใบหยก” อีกด้วย
ในตอนนี้ต้องยกให้เป็นปีทองของ “พี่จอง คัลแลน” สร้างปรากฏการณ์ “ใจฟู” ดังไปทั่วประเทศ คู่หูดูโอจากช่อง Cullen HateBerry ที่ทำคลิปเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย เป็นการเที่ยวในที่แปลกๆ ที่คนไทยบางคนยังไม่เคยไปด้วยซ้ำ เป็นการท่องเที่ยวสไตล์ง่ายๆ เจอร้านอาหารข้างทางก็แวะ เจอน้องหมาน้องแมวก็ให้ขนม ในคลิปมีการพูดภาษาไทยกันตลอด แม้ทั้งคู่จะเป็นชาวเกาหลีด้วยกัน พูดผิดๆ ถูกๆ แต่ก็สร้างความเอ็นดูให้กับด้อมไทย เกิดกระแสไวรัลไปทั่ว
ส่งผลให้พี่จอง คัลแลน มีงานพรีเซ็นเตอร์เข้ามากมาย ทั้ง AIS, Samsung, La Roche Posay (ครีมกันแดด), Jerhigh (อาหารสุนัข) และ M-150 รวมไปถึงหลายแบรนด์จ้องที่จะร่วมงานในการส่งสินค้าไปไทอินในคลิป หรือส่งสินค้าไปรีวิว แต่ทางช่องมีการคัดเลือกที่เข้มงวด เนื่องจากไม่อยากให้กระทบเนื้อหา จึงไม่ได้รับงานรีวิวเท่าไหร่นัก
รวมไปถึง “พี่ฮง” เจ้าของยูทูบช่อง Oppa Hong หนุ่มเกาหลีอารมณ์ดี ที่ล่าสุดหลายคนก็เชียร์กับกระแสจิ้นกับน้องรถไถ ก็เป็นหนึ่งในอินฟลูเกาหลีที่คนไทยให้ความสนใจด้วยเช่นกัน
มหากาพย์ “กามิน” สาวเกาหลีสะเทือนวงการอินฟลู
นอกจากเหล่าอปป้าเกาหลีที่บรรดาด้อมไทยพร้อมเปย์ใจให้แล้ว ล่าสุดยังมี “กามิน” หรือจีกามิน TikToker สาวชาวเกาหลีที่มีกระแส “ชาลี-กามิน” มหากาพย์นี้ได้เริ่มต้นจาก “แน็ก ชาลี” ที่เห็นไลฟ์ของสาวกามินที่เล่าเรื่องราวของตนเองว่าต้องหาเงินเรียนหนังสือ ต้องกินซีเรียล และบะหมี่ซอง ทำให้ชาลีต้องการยื่นมือช่วยเหลือ
ชาลีค่อนข้างมีฐานแฟนคลับ เมื่อนำเรื่องราวมาเล่าก็ทำให้ยอดผู้ติดตามของกามินเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนเกิดเป็นกระแสจิ้น และนำไปสู่เส้นทางความรัก พร้อมกับการเดินทางมาทำงานที่ประเทศไทย ทั้งรับงานพรีเซ็นเตอร์ ออกอีเวนต์ รวมถึงไลฟ์สดขายของร่วมกัน ก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
ซึ่งรายได้ที่กามินได้จากการมาทำงานในประเทศไทยถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว เผลอๆ อาจเทียบเท่าดาราเบอร์ใหญ่ๆ เลยทีเดียว โดยข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ บอกว่ากามินโกยรายได้ถึง 100 ล้านบาท แน็ก ชาลีเองก็เคยเปิดเผยในไลฟ์สดว่ารายได้ที่กามินหาได้สามารถใช้ได้จนถึงอายุ 50 เลยด้วยซ้ำ แม้จะเป็นการพูดเปรียบเปรยประชดประชัน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเม็ดเงินมหาศาล
สรุปสิ่งที่กามินได้หลังจากการทำงานในไทย
– ไลฟ์สดขายของ ไลฟ์งานคู่งานละ 3-4 ล้านบาท โดยไม่คอมเฟิร์มยอดขาย เน้นคนมาร่วมชมไลฟ์สด
– งานอีเวนต์ค่าตัวรวมกันหลักล้าน งานพรีเซ็นเตอร์หลัก 10 ล้าน
– เป็นโฮสใน PK TikTok ที่กามินอยู่ใต้สังกัดเอเจนซี่ มียอดติดตาม และยอดเปย์ถล่มถลาย ยืน 1 ของเกาหลี และติด Top 3 ระดับโลก
– สร้างสถิติท็อปฟอร์มอันดับ 1 บนชาร์ตกิจกรรม TikTok Live เป็นสถิติที่ไม่มีคนเกาหลีคนไหนทำได้มาก่อน
– กามินเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ TikTok เกาหลีที่ทำเงินได้ตลอดสัปดาห์เกิน 20 ล้าน รางวัลสำหรับที่ 1 คือ 1. ได้ขึ้นป้ายโฆษณาโปรโมตที่สถานีรถไฟใต้ดินที่เกาหลี ซึ่งรัฐบาลเกาหลีก็พร้อมซัพพอร์ตกามินให้ได้มีภาพบิลบอร์ดติดที่บริเวณสถานีกังนัม ที่มีแต่คนดังเท่านั้นที่ได้ขึ้นบิลบอร์ดในย่านนี้ อาทิ ไช กังนัมสไตล์ แบล็กพิงก์ 2. ได้โล่ทองกิจกรรมพร้อมสลักชื่อ MVP 3. ได้เงินรางวัลประจำสัปดาห์ แบบยังไม่หักรายจ่าย 4. ได้รับเชิญไปงานอีเวนต์ของ TikTok Live เกาหลีที่จะประกาศในอนาคต กิจกรรมเหล่านี้เพิ่มความนิยมให้คนเกาหลีรู้จักกามินมากขึ้น
ต้องบอกว่าความสำเร็จของกามินมาจากฐานแฟนคลับคนไทยทั้งสิ้น ฐานแฟนคลับของชาลี ที่ต้องการช่วยเหลือ รวมไปถึงการเปย์เพื่อแลกกับความสุขทางใจ แลกกับความบันเทิงที่ทั้งสองทำคอนเทนต์ร่วมกัน จากกามินที่เป็นสาวเกาหลีธรรมดา มีคนดูไลฟ์เพียงแค่ 5 คน ตอนนี้มีเงินเป็นกอบเป็นกำ
แต่กามินเองก็โดนกระแสแบน กระแสตีกลับ คนไทยแห่อันฟอลโลว์ในทุกช่องทางจนผู้ติดตามหล่นฮวบอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาทั้งในด้านของอินฟลูเอง และแฟนคลับสายเปย์
เข้าใจเรื่อง “ภาษี” ได้เยอะ ก็ต้องเสียเยอะ
อินฟลูเอนเซอร์เป็นหนึ่งอาชีพที่หารายได้ได้เยอะ มาจากทั้งรีวิวสินค้า งานอีเวนต์ งานไลฟ์ต่างๆ สิ่งที่เกิดปัญหาบ่อยครั้งคือหลายคนยังไม่เข้าใจในระบบภาษี บางคนยื่นผิดแบบ ทำให้เจอภาษีย้อนหลังกันอ่วม และเรื่องภาษีนี่เองก็เป็นหนึ่งในรอยร้าวของชาลี กามิน ซึ่งทางฝ่ายหญิงไม่เข้าใจในระบบภาษีของไทยที่เก็บแบบอัตราภาษีก้าวหน้า นั่นคือได้เยอะ ก็ต้องเสียเยอะ สูงสุดที่ 35%
อัตราภาษีก้าวหน้า คือ การเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นตามระดับรายได้สุทธิ ยิ่งรายได้สูง อัตราภาษีที่ต้องจ่ายก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยระบบนี้จะแบ่งรายได้ออกเป็นขั้นบันได และคำนวณภาษีตามอัตราที่กำหนดในแต่ละขั้น ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 8 ขั้น โดยเริ่มจาก 0% จนถึง 35% ตามระดับรายได้สุทธิที่แตกต่างกัน
- รายได้ไม่เกิน 150,000 บาท: ได้รับการยกเว้นภาษี
- รายได้ 150,001 – 300,000 บาท: อัตราภาษี 5%
- รายได้ 300,001 – 500,000 บาท: อัตราภาษี 10%
- รายได้ 500,001 – 750,000 บาท: อัตราภาษี 15%
- รายได้ 750,001 – 1,000,000 บาท: อัตราภาษี 20%
- รายได้ 1,000,001 – 2,000,000 บาท: อัตราภาษี 25%
- รายได้ 2,000,001 – 5,000,000 บาท: อัตราภาษี 30%
- รายได้มากกว่า 5,000,000 บาทขึ้นไป: อัตราภาษี 35%
สำหรับอัตราภาษีก้าวหน้าของเกาหลีใต้ สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นแบ่งออกเป็นหลายช่วง ซึ่งอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้สุทธิของผู้เสียภาษี
- รายได้ไม่เกิน 12 ล้านวอน: อัตราภาษี 6%
- รายได้ 12 – 46 ล้านวอน: อัตราภาษี 15%
- รายได้ 46 – 88 ล้านวอน: อัตราภาษี 24%
- รายได้ 88 – 150 ล้านวอน: อัตราภาษี 35%
- รายได้ 150 – 300 ล้านวอน: อัตราภาษี 38%
- รายได้ 300 – 500 ล้านวอน: อัตราภาษี 40%
- รายได้ 500 – 1,000 ล้านวอน: อัตราภาษี 42%
- รายได้มากกว่า 1,000 ล้านวอน: อัตราภาษี 45%
เกาหลีใต้ ยังมีระบบการเก็บภาษีเพิ่มเติมที่เป็นส่วนท้องถิ่น (Local income tax) ซึ่งคิดอัตราเพิ่มเติมที่ 10% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจ่ายด้วย