‘ซีคอนสแควร์’ ขอลองเดิมพันกับคอนเซ็ปต์ ‘ห้างสรรพศิลป์คราฟท์’ ใช้ศิลปะดึงทราฟฟิก ในวันที่ค้าปลีกฝั่ง ‘กรุงเทพตะวันออก’ ทวีความระอุ

อย่างที่รู้กันว่าโซน บางนา-ศรีนครินทร์ หรือที่เรียกว่า กรุงเทพตะวันออก ปัจจุบันได้กลายเป็น ทำเลทอง ของค้าปลีก และอสังหาฯ เนื่องจากการเติบโตของ กลุ่มกำลังซื้อสูง โดย ซีคอนสแควร์ (SEACON) หนึ่งในห้างฯ เก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์มากว่า 30 ปี ก็ต้องปรับตัวรับกับการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

คู่แข่งรอบด้าน

เป็นเวลา 30 ปีแล้วที่ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ อยู่คู่ชาวศรีนครินทร์ และชาวกรุงเทพตะวันออก ด้วยพื้นที่กว่า 5 แสน ตร.ม. มีร้านค้ากว่า 500 ร้านค้า และยังถือเป็น ผู้นำ อะไรใหม่ ๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการมี โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์แห่งแรก หรือการมี โลตัส ภายในศูนย์การค้าก็อยู่ในซีคอนที่แรกเช่นกัน รวมถึง โยโย่แลนด์ สวนสนุกในร่มที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำสถิตินิวไฮด์

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นที่ว่ามาในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่จุดแตกต่าง อีกต่อไป ทั้งการมาของ เมกาบางนา หรืออย่าง เซ็นทรัลบางนา ที่กำลังมีแผนจะรีโนเวตใหม่ ยังไม่รวมอภิมหาโปรเจกต์อย่าง แบงค็อกมอลล์ (Bangkok Mall) ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่ขนาดโครงการมีขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 1 ล้าน ตร.ม. มูลค่าลงทุนร่วม 40,000 ล้านบาท หรือฝั่งทุนจีนอย่าง ซามาเนีย กรุ๊ป ที่กำลังจะเปิด ซามาเนีย พลาซ่า โครงการค้าปลีกส่ง บนถนนบางนา-ตราด กม.26 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ

นอกจากนี้ยังมีอภิโปรเจกต์กับ เดอะ ฟอเรสเทียส์ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) จากเครือซีพี ที่จะเป็นโครงการ อสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม ออฟฟิศและโรงแรม พร้อมด้วยโครงการรีเทล แฮปปี้แทท แอท เดอะ ฟอเรสเทียส์ (Happitat at The Forestias) เป็นศูนย์รวมรวมร้านค้า ร้านอาหารชั้นนำ 300 ร้านค้า พร้อมแบรนด์แฟชั่นและแบรนด์ไลฟ์สไตล์ มีพื้นที่กว่า 2 แสนตารางเมตร ที่จะเปิดให้บริการเฟสแรกในเดือน ก.ย.นี้

ใช้ศิลปะสร้างความแตกต่าง

อย่างไรก็ตาม จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการสายงานสำนักสื่อสารการตลาดและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า การจะปรับตัวตามการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกมัน ยาก ด้วยข้อจำกัด 5 ด้าน ได้แก่

  • โครงสร้างอาคารที่ยากหากจะปรับเปลี่ยนปรับปรุง
  • ค่าใช้จ่ายที่สูง
  • มีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่จะสามารถตัดสินใจได้ทันที
  • คู่แข่งเก่ง
  • พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนเเปลงไป

นอกจากนี้ คำว่า ห้างสรรพสินค้า ที่แปลว่า มีทุกอย่าง ซึ่งในยุคนี้ ใคร ๆ ก็มีครบทุกอย่างได้ไม่ต่างกัน ดังนั้น จักรพล จึงต้องลองเสี่ยงกับคอนเซ็ปต์ ห้างสรรพศิลป์คราฟท์ โดยเป็นการรีโนเวตพื้นที่บริเวณฝั่งโรบินสัน ชั้น G, 2 และ 3 รวม 27,000 ตร.ม. จากพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมด 250,000 ตร.ม. หรือที่เรียกพื้นที่นี้ว่า MUNx2 (มันมัน)

จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการสายงานสำนักสื่อสารการตลาดและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับโซน MUNx2 เกิดมาได้ 5 ปี แล้ว โดยใช้งบกว่า 1,000 ล้านบาท ในการแปลงโฉม โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จักรพล ก็ได้ลองผิดลองถูกจากการนำ Customer Experience มาเป็นตัวตั้ง ทำให้ที่ผ่านมามีการทำคอนเทนต์ตั้งแต่ แนวรักษ์โลก (Organic) ทำพื้นที่ให้ Startup มี Co-Working Space รวมถึงการแสดงงานศิลปะ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้รับการตอบรับดีที่สุดที่เห็นก็คือ งานศิลปะ ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาโปรเจกต์ MUNx2 ในคอนเซ็ปต์ ห้างสรรพศิลป์คราฟท์ ที่จะเป็นพื้นที่ Non-commercial โดยเปิดให้เป็นตลาดนัดงานอาร์ต แอนด์ คราฟท์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ด้วยการจัดแสดงงานศิลปะหลากหลาย เพื่อตอบสนองทุกรสนิยมและความชื่นชอบ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น และจะมีพื้นที่จัดกิจกรรมพิเศษที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุกสัปดาห์ โดยแคมเปญแรกที่เปิดตัวคือ 1 วัน 1,000 อาร์ต

“เวอร์ชั่นแรกเราอยากให้เป็นคอมมูนิตี้ เป็นชุมชนที่คนชอบอะไรเหมือน ๆ กันมารวมกัน จนเรามาพบว่า กลุ่มศิลปะมีช่องว่างอยู่ เรียกว่าขาดแทบทั้งอีโคซิสเต็มส์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน พื้นที่แสดงออก ในมุมของผู้เสพก็มีหลากหลาย เราเลยอยากเป็น MUNx2 Arts Destination” 

ไม่ได้หวังเรื่องรายได้ ขอแค่ดึงคนเข้าห้างฯ

จักรพล ย้ำว่า ต้องการพัฒนาพื้นที่ MUNx2 ให้เป็น จุดขาย ที่แตกต่างจากคู่แข่งในย่าน ดังนั้น จะเป็นเหมือนพื้นที่ทางการตลาด ดังนั้น จึงไม่ได้โฟกัสที่การสร้างรายได้ แต่อยากให้มีลูกค้าเข้ามาที่ห้างฯ เพื่อมา จับจ่ายในพื้นที่ที่เหลือ ของซีคอน

“เราไม่อยากเปิดร้านให้เช่า เพราะถ้ามาแนวคิดมันจะอีกแบบ ดังนั้น โจทย์ที่เราตั้งแต่แรกคือ ต้องไม่ใช่พื้นที่ Commercial เพราะถ้าเราทำแบบเดิม ผลลัพธ์ก็จะเป็นแบบเดิม คนมองว่าดูเป็นการกุศล แต่เรามองว่ามันคือทางเลือกที่แตกต่าง ไม่มีใครทำ ดังนั้น จะล้มเหลวหรือดีก็ต้องลอง”

เบื้องต้น จักรพล ต้องการจะดึงคนในพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตร และคนที่มี กำลังซื้อ ซึ่งหลังจากที่เดินหน้าคอนเซ็ปต์ห้างสรรพศิลป์คราฟท์พบว่า 50% ของลูกค้าที่มา เป็นลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมาซีคอน และส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Z ตอนปลาย และ Gen Y ตอนต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ซีคอนต้องการเพิ่ม เพราะที่ผ่านมา ลูกค้าซีคอนส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม ครอบครัว

“ตอนนี้ลูกค้ามีความซับซ้อนขึ้น เราดูเรื่องพฤติกรรม และรสนิยมเป็นหลัก พอดูรวม ๆ คล้าย ๆ อยู่ในกลางเมือง เพราะแถวนี้กำลังซื้อสูง แต่การจะเข้าเมืองเป็นภาระเป็นอุปสรรค ดังนั้น จะทำยังไงให้เขามาหาเรา และจะดึงการกระจุกตัวในเมืองเข้ามาซีคอนได้ไหม นี่คือโจทย์”

ยั่งยืนไหมไม่รู้ แต่ตอนนี้ได้รับความนิยม

อย่างไรก็ตาม จักรพล ยอมรับว่า ไม่รู้ว่าการหยิบศิลปะมาเป็นตัวชูโรงจะ ยั่งยืนไหม แต่ปัจจุบันคนสนใจงานศิลปะมากขึ้น งานศิลปะเองก็เริ่มแมสมากขึ้น จับต้องง่ายขึ้นอย่างเช่น อาร์ตทอย แต่ในวันหนึ่งซีคอนก็ต้องตามไปกับเทรนด์โลก

“สิ่งที่ยืนยันในปัจจุบันนี้ คือ เราเห็นงานศิลปะเยอะขึ้น ทั้งแกลลอรี่ สตรีทอาร์ต อาร์ตทอย ซึ่งมันยังมีช่องว่าง ซึ่งเราอยากช่วยให้วงการนี้มันแมสมากขึ้น ก็เป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน” 

จักรพล ทิ้งท้ายว่า คอนเซ็ปต์ห้างสรรพศิลป์คราฟท์ จะไม่ได้มาแทนที่ความเป็นห้างสรรพสินค้า ของซีคอนสแควร์ แต่จะเป็นภาพจำคู่ขนานกันไป ซึ่งในส่วนของพื้นที่ MUNx2 จะมีทีมแยกออกมาดูแล แยกจากซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ ตอนนี้มีทีมดูแล 60 คน 

“ความเป็นห้างฯ ครบจบที่เดียวทุกคนมีหมด แต่จะแตกต่างอย่างไรที่คนจะชอบ เพราะสุดท้ายแล้วเราเชื่อว่าคนไปทุกห้างฯ แต่จะทำยังไงให้คนมาบ่อย ได้ประสบการณ์แปลก ๆ แต่ภาพของความเป็นซีคอนเดิมก็ต้องไม่เปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น เราเลยต้องแยกออกมา”

สำหรับพื้นที่ห้างสรรพศิลป์คราฟท์จะแบ่งออกเป็น 3 คอนเซ็ปต์หลัก ได้แก่

  • Event Ground: ชั้น 1 เป็นพื้นที่กลางสำหรับจัดงานกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีสไตล์ ได้รับความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดงานระดับประเทศ อาทิ งาน CHEEZE FLEA SPIRIT MARKET ร่วมมือกับ Cheeze Magazine
  • MMAD – MunMun Art Destination: ชั้น 2 และ ชั้น 3 เป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะหลากหลายเพื่อตอบสนองทุกรสนิยมและความชื่นชอบ โดยได้เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและภาคสังคม ประกอบด้วย 12 ภาคีศิลปะ อาทิ BACC pop.up, HOP – Hub of Photography, MMAD MASS Gallery, Palette Artspace, Street Star, L.O.F, BACC รวมไปถึงห้องสมุดด้านศิลปะจาก TCDC COMMONS
  • MunMun Kitchen Club – Food & Coffee Community: ชั้น 3 ชุมชนของคนรักการทำอาหาร แหล่งความรู้ สร้างประสบการณ์และลงมือทำอย่างแท้จริง กับ Creative Food & Coffee Space ที่ตอบรับทุกกิจกรรมการทำอาหาร และกาแฟ ในทุกมิติ อาทิ ศูนย์ความรู้ และห้องสมุดด้านอาหาร จาก TCDC COMMONS: Creative Food, Service Kitchen ที่มีให้คุณเลือกถึง 3 ขนาด ทั้ง Kitchen Lab, Baker Lab และ Kitchen Studio รวมถึง Coffee Community ที่มีทั้งโรงเรียนด้านกาแฟระดับโลกอย่าง Espresso Academy และโรงคั่วกาแฟกลางห้างจาก Nana Coffee Roaster