เรื่องราวต่อเนื่องจากการประกาศปิดตัว “Texas Chicken” มีสองแบรนด์ร้านอาหาร “คุ้มสึ” และ “ล่าเมียว” ที่รีบคว้าโอกาสนี้มาใช้โปรโมตตนเองด้วยแนวทางที่แตกต่างกัน แม้จะเกาะกระแสเรื่องเดียวกันแต่ได้ผลตอบรับที่ต่างกันมาก
หลังจาก Texas Chicken ประกาศปิดตัวได้ 4 วัน มีโพสต์หนึ่งที่ไวรัลขึ้นมาในอินเทอร์เน็ตนั่นคือโพสต์ของร้าน “คุ้มสึ” ลงประกาศใจความว่า “คุ้มสึ พร้อมรับสมัครพนักงานจากเหตุการณ์ Texas Chicken ยุติการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย” คุ้มสึยินดีต้อนรับพนักงานมาเป็นครอบครัวและร่วมงานกัน
ข้อมูลในโพสต์ของคุ้มสึเป็นการสื่อสารโดยนัยว่าพร้อมจะช่วยเหลือพนักงานที่อาจจะต้องตกงานเพราะร้าน Texas Chicken จะปิดให้บริการ พร้อมกับลงข้อมูลที่ทำให้คนรู้จักตัวเองมากขึ้นว่า คุ้มสึ เป็นร้านข้าวหน้าเนื้อพ่นไฟ
โพสต์นี้จนถึงวันที่ 23 กันยายน 2567 มีคนกดไลก์ไปแล้วกว่า 8,300 คน คอมเมนต์ 247 ครั้ง และแชร์กว่า 2,000 ครั้ง
ที่สำคัญคือในคอมเมนต์และการแชร์โพสต์ส่วนใหญ่เป็นความคิดเห็นชื่นชมว่าร้านน่ารักและมีน้ำใจที่จะรับพนักงานตกงาน หลายคนแสดงความเห็นว่าไม่เคยรู้จักร้านมาก่อน ไม่เคยรับประทาน เพิ่งจะได้รู้จักเมื่อโพสต์นี้เป็นไวรัล
โพสต์ของคุ้มสึสะท้อนความสำเร็จทางการตลาดจากการเกาะกระแสที่ทำให้ชื่อร้านรับรู้เป็นวงกว้างมากขึ้น แม้ไม่ได้แจ้งชัดเจนว่าจะรับพนักงานเพิ่มจำนวนเท่าไหร่ และลงสาขาไหน แต่การแสดงเจตนาในลักษณะนี้ ‘เนียน’ พอที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกดีกับแบรนด์
ทั้งนี้ “คุ้มสึ” เป็นร้านข้าวหน้าเนื้อแบบไม่มีที่นั่ง เน้นขายเทกโฮมและเดลิเวอรี เปิดตัวในยุคโควิด-19 เมื่อปี 2563 สาขาแรกเปิดที่สุขุมวิท 31 ก่อนจะขยายในรูปแบบแฟรนไชส์จนปัจจุบันมี 54 สาขาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล, ขอนแก่น, นครราชสีมา, อุดรธานี, เชียงใหม่ และชลบุรี
ทัวร์ลงที่ “ล่าเมียว”
ถัดมา 1 วันหลังจากโพสต์ของคุ้มสึเป็นไวรัล มีอีกหนึ่งร้านอาหารที่ขอเกาะกระแสปิด Texas Chicken บ้างคือ “ล่าเมียว” (La Meow) ตั้งโพสต์ “เรียน ทีมงานดูแล Texas Chicken ทุกสาขา”
ใจความของโพสต์ระบุว่าล่าเมียว “จะขอเทกโอเวอร์พื้นที่ตั้งร้าน Texas Chicken บางสาขา รวมถึงอุปกรณ์ร้านและเครื่องครัวต่างๆ บางส่วน” โดยล่าเมียวเล็งเห็น “ทำเลศักยภาพหลายจุด” และ “มีความตั้งใจจะรับช่วงต่อเพื่อต่อยอดและนำสิ่งที่ Texas Chicken ได้สร้างไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป”
ภายในโพสต์มีการแนะนำตนเองด้วยว่า ล่าเมียวเป็นร้านอาหารจีนสไตล์หูหนาน-เสฉวน ผู้นำเข้าบาร์หมาล่า DIY เจ้าแรกในไทย และเป็น “บริษัทสัญชาติไทย 100%”
โพสต์นี้จนถึงวันที่ 23 กันยายน 2567 มีคนกดไลก์แล้ว 8,800 คน คอมเมนต์ 479 ครั้ง และแชร์ 1,100 ครั้ง ถือว่าไวรัลไม่แพ้คุ้มสึ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างคือแม้ว่าคอมเมนต์มากมายจะมาชี้เป้าว่าอยากให้ล่าเมียวมาเปิดแทน Texas Chicken ที่ใดบ้าง เกิด engagement ในเชิงบวกว่ามีลูกค้ารอให้ร้านไปตั้งสาขาอยู่ แต่ก็มีอีกหลายคอมเมนต์ทั้งใต้โพสต์และแชร์ที่ออกไปในทางลบในลักษณะ ‘ทัวร์ลง’
ความคิดเห็นเชิงลบที่มีต่อโพสต์นี้ของล่าเมียว คือเห็นว่า การเทกโอเวอร์พื้นที่สาขาเป็นเรื่องธุรกิจต่อธุรกิจที่ควรจะติดต่อและขอเจรจากันส่วนตัวตามมารยาทที่ควรจะเป็น มากกว่าที่จะฉวยโอกาสที่ร้านอื่นปิดตัวมาสร้างกระแสและประโยชน์ให้ร้านของตนเอง
รวมถึงมีหลายความคิดเห็นที่เข้าใจผิดไปอีกทางเลยว่า ล่าเมียวกำลังจะเทกโอเวอร์แบรนด์ Texas Chicken มาบริหารต่อ เนื่องจากการประกาศที่คลุมเครือของทางร้าน
สำหรับร้าน “ล่าเมียว” ลักษณะร้านเป็นหมาล่าที่ลูกค้าสามารถเลือกผสมวัตถุดิบได้เอง และคิดราคาจากการชั่งน้ำหนักวัตถุดิบ ก่อนที่พนักงานจะนำไปปรุงสดมาเสิร์ฟให้ลูกค้า ร้านล่าเมียวเปิดตัวครั้งแรกที่เอสพลานาด รัชดาฯ เมื่อปี 2562 จนปัจจุบันมี 12 สาขา และกำลังจะเปิดสาขาที่ 13 ที่ จ.ขอนแก่น ในเดือนตุลาคมนี้
กรณีศึกษาการเกาะกระแสในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการเลือกมุมเข้าไปจับกระแสเป็นเรื่องสำคัญมาก บางมุมก็อาจจะไม่ถูกใจผู้บริโภคทั่วไปและทำให้กระแสตีกลับได้ ในขณะที่อีกมุมกลายเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคยอมรับและส่งผลดีแทน
อ่านบทความอื่นๆ ต่อ
- Emily’s หมี่ไก่ฉีกเงินล้าน กรณีศึกษาก๋วยเตี๋ยวกล่องดาวรุ่ง
- กรณีศึกษา: แก้วน้ำ “Stanley” แบรนด์อายุร่วมร้อยปี “รีแบรนดิ้ง” อย่างไรให้ยอดขายโต 10 เท่าใน 4 ปี!