ปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยเฉพาะการลดขยะพลาสติกที่ถือเป็นสาเหตุหลักๆ ของภาวะโลกร้อน เพราะใน 1 ปี ประชากรโลกมีการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ประมาณ 5 แสนล้านใบต่อปี เฉลี่ย 1 คน ใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง 150 ใบต่อปีเลยทีเดียว
ล่าสุด Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในข้อกฎหมายใหม่ เรื่องการสั่งห้ามให้ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าอื่นๆ ใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้า โดยมาตรการดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2026
Catherine Blakespear หนึ่งในส.ว. ผู้สนับสนุนร่างกฎหมาย กล่าวว่า การห้ามใช้ถุงครั้งก่อนเมื่อ 10 ปีก่อน ไม่ได้ลดการใช้พลาสติกโดยรวมแต่อย่างใด เพราะจากการศึกษาของรัฐฯ พบว่า ในปี 2547 มีจํานวนถุงช้อปปิ้งพลาสติกที่ถูกทิ้งต่อคน 8 ปอนด์ (ประมาณ 3.6 กิโลกรัม) เพิ่มขึ้นเป็น 11 ปอนด์ (5 กิโลกรัม) ต่อปีในปี 2021
อาจกล่าวได้ว่า ผู้ส่วนใหญ่ไม่ได้นําถุงพลาสติกกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ จึงมีการออกข้อกฎหมายใหม่เพื่อบังคับใช้จริงจัง โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2026 และสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ได้นํากระเป๋าผ้าหรือถุงใส่ของมาเอง จะมีบริการถุงกระดาษหรือการเสนอขายถุงใส่ของที่ทําจากพลาสติกรีไซเคิลที่หนาขึ้นมาใช้แทน
Christy Leavitt ผู้อํานวยการองค์กรไม่แสวงหาผลกําไรด้านสิ่งแวดล้อม Oceana กล่าวว่า เธอรู้สึกยินดีที่การห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งตามร้านขายของชําและซูเปอร์ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังทําให้แคลิฟอร์เนียเป็นผู้นําในการรับมือกับวิกฤตมลพิษจากพลาสติกทั่วโลกด้วย
ด้าน ผู้อํานวยการกลุ่มวิจัยเพื่อสาธารณประโยชน์ กล่าวว่า เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ชาวแคลิฟอร์เนียมีการลงมติในการห้ามถุงของชําพลาสติกภายในรัฐ แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก ซึ่งการออกกฎหมายใหม่ในครั้งนี้มีการลงนามของผู้ว่าการรัฐ ทำให้เป็นการบังคับใช้อย่างจริงจัง ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ 12 รัฐในอเมริกา รวมถึงแคลิฟอร์เนีย เริ่มมีการประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกแล้ว สอดคล้องกับ รายงานของกลุ่มผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม Environment America Research & Policy Center ที่กล่าวว่า มีหลายเมืองใน 28 รัฐก็เริ่มห้ามใช้ถุงพลาสติกในรัฐของตนเองด้วยเช่นกัน
ที่มา : CNBC