“Toyota” ทุ่ม 500 ล้านเหรียญลงทุนกับสตาร์ทอัพ “แท็กซี่บินได้” คาดเปิดบริการจริงปี 2026

แท็กซี่บินได้
ภาพตัวอย่างแท็กซี่บินได้ของ Joby Aviation
“Toyota” ทุ่มทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,700 ล้านบาท) ร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ “Joby Aviation” ผู้ออกแบบ “แท็กซี่บินได้” คาดเริ่มเปิดบริการจริงในปี 2026 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

การลงทุนครั้งนี้ของ Toyota Motor Corp. กับ Joby Aviation ไม่ใช่ครั้งแรก บริษัทยักษ์ยานยนต์ญี่ปุ่นมีการลงทุนสะสมแล้ว 894 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) กับ Joby โดยการเลือกลงทุนกับบริษัทผู้ออกแบบ “แท็กซี่บินได้” ของ Toyota เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่จะเปลี่ยนนิยามของบริษัทเองให้เป็นผู้ทำ “ธุรกิจยานพาหนะเคลื่อนที่” และ “ตระหนักถึงความฝันของการใช้พาหนะเดินอากาศเพื่อการเดินทางประจำวัน”

สำหรับ Joby เมื่อรวมการระดมทุนในรอบล่าสุดนี้แล้ว พวกเขามีการระดมทุนสะสมไปถึง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 83,700 ล้านบาท) ตามการรายงานของ Crunchbase สตาร์ทอัพแห่งนี้ยังเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วตั้งแต่ปี 2021 โดยได้รับการประเมินมูลค่าบริษัทไว้ที่ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท)

Joby เป็นบริษัทผู้ออกแบบยานพาหนะประเภท “แท็กซี่บินได้” โดยใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ eVTOL (Electric Vertical Take-off and Landing Air Taxi) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันคุณสมบัติของยานพาหนะที่บริษัทออกแบบสามารถบินได้ด้วยความเร็วสูงสุด 200 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และบินได้ระยะทางไกลที่สุด 150 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (ประมาณ 241 กิโลเมตร) สามารถบรรทุกคนขับได้ 1 คนพร้อมกับผู้โดยสาร 4 คนในคราวเดียว บริษัทยกตัวอย่างการใช้งานว่า แท็กซี่บินได้จะสามารถบินจากกลางเมืองนิวยอร์กย่านแมนฮัตตันสู่สนามบิน JFK ได้ภายใน 7 นาทีเท่านั้น

บริษัทยังบอกด้วยว่า ยานพาหนะของบริษัทจะนำไปใช้ในบริบทสังคมเมืองและจะเป็นระบบ “ร่วมโดยสาร” สามารถจองผ่านแอปพลิเคชันได้ และคาดว่าจะเริ่มเปิดบริการใน “ดูไบ” UAE ได้ภายในปี 2026

ขณะที่การระดมทุนรอบล่าสุดของ Joby จะนำเงินลงทุนไปใช้กับการผลิตเชิงพาณิชย์ของตัวยานพาหนะและการรับใบรับรองที่จำเป็นต่างๆ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทระบุว่าขั้นตอนการออกใบรับรองในขั้นที่ 4 จาก 5 ขั้นนั้นสำเร็จไปแล้วประมาณ 1 ใน 3

ยานพาหนะเดินอากาศรุ่นนำร่องของ Joby นั้นสร้างเสร็จเป็นตัวที่ 3 เรียบร้อยแล้ว โดยทางผู้ลงทุนหลักอย่าง Toyota มีการส่งวิศวกรมาทำงานร่วมกับวิศวกรของ Joby ที่รัฐแคลิฟอร์เนียด้วย

การแข่งขันในธุรกิจ “แท็กซี่บินได้” นั้นไม่ได้มีแค่เจ้าเดียว ยังมีสตาร์ทอัพรายอื่นๆ ที่ออกแบบยานพาหนะลักษณะนี้ เช่น Archer Aviation แต่การระดมทุนได้สูงขนาดนี้ภายในรอบเดียวของ Joby ถือเป็นความสำเร็จของสตาร์ทอัพทำแท็กซี่บินได้ที่ไม่ได้เห็นกันมานานหลายปี

Source