หลังจากกระแสความนิยมของ LINE ผลักดันทำให้ LINE กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของผู้คน แน่นอนว่านักการตลาดต้องมองหาวิธีที่จะสอดแทรกแบรนด์เข้าไปใน “บทสนทนา” และนี่คือตัวอย่างของไอเดียดีๆ ที่อาจใช้ได้ในวงการตลาดไทย
LINE อนาคต Twitter
อดิลฟิตรี ประพฤติสุจริต กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ออนไลน์ จำกัด เป็นคนหนึ่งที่ติดต่อ LINE เข้าไปเพื่อเสนอขอความร่วมมือเปิด Official LINE ให้กับลูกค้ารายหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเท่านั้น เหตุผลที่อดิลฟิตรีมองเห็นว่าช่องทางนี้น่าจะเป็นพื้นที่ที่นำไปสู่การขายสินค้าได้เลยทีเดียว จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง
“ตอนปีใหม่ ผมไม่มีอะไรทำ ตอนนั้นกำลังมองหาคอนโดอยู่ พอดีเสิร์ชเข้าไปแล้วเจอเว็บไซต์ของแบรนด์อสังหาที่มี Live Chat ก็เลยเข้าไปถามข้อมูล คุยไปคุยมาก็เลยไปดูที่โครงการ ผลสุดท้ายก็ซื้อคอนโดที่นั่นจริงๆ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ลูกค้าสมัยนี้ไม่ชอบพาตัวเองไปที่โครงการฯ แล้วไปถูกพนักงานขายกดดันอยู่ตรงนั้น แต่ถ้าเป็นการแชต ถ้าเราไม่พอใจเราก็แค่ปิดหน้าจอ แต่ถ้าหากว่าพนักงานสามารถตอบคำถามเราได้มันก็เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหวัง อันนี้เป็นตัวอย่างของการทำมาร์เก็ตติ้งผ่านแชต”
และถ้าหากว่านับการสื่อสารผ่านโซเชี่ยลมีเดียที่มีอยู่ตอนนี้ อดิลฟิตรี มองว่า ตอนนี้ LINE อาจเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากช่องทางออนไลน์หลัก แต่ต่อไป LINE น่าจะมาแรงและทดแทน Twitter เลยทีเดียว ด้วยข้อจำกัดของทวิตเตอร์ที่ส่งโดยตรงถึงผู้อ่านได้แค่ข้อความที่เป็นตัวหนังสือเท่านั้น แต่ถ้าอยากอ่านข้อความยาวๆ ดูรูป หรือดูคลิปวิดีโอต้องคลิกต่อ แต่สำหรับ LINE คอนเทนต์พวกนี้ถูกส่งได้โดยตรง อีกทั้งต่อไปการที่โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนมีแอปพลิเคชั่นมากมาย แต่สุดท้ายถึงเวลาใช้งานจริงคนก็จะเปิดแอปฯ ที่ใช้จริงไม่กี่แอปฯ เมื่อเพื่อนส่วนใหญ่อยู่บน LINE เวลาส่วนมากก็จะถูกเทมาที่แอปฯ นี้ และจะแย่งเวลาจากโซเชี่ยลมีเดียอื่น เพราะผู้ใช้งานไม่อยากเปิดๆ ปิดๆ แอปฯ หลายแอปฯ
“ แตกต่าง” ช่องทางเกิดแอปฯ
อดิลฟิตรี ประพฤติสุจริต กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ออนไลน์ จำกัด เป็นคนหนึ่งที่ติดต่อ LINE เข้าไปเพื่อเสนอขอความร่วมมือเปิด Official LINE ให้กับลูกค้ารายหนึ่ง
ในส่วนของสติ๊กเกอร์ที่ LINE สร้างปรากฏการณ์ยอมจ่ายเงินซื้อ อดิลฟิตรี วิเคราะห์ว่ามาจาก 3 องค์ประกอบ 1.ราคาถูก เมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้วสติ๊กเกอร์ LINE เซตหนึ่งประมาณ 60 บาท ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องคิดมากกับราคานี้ 2.Mobile Commerce ปัจจุบันเป็นเรื่องปกติที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว 3.พฤติกรรมของ Social Media ที่ผู้เล่นมีความรู้สึก Me too เวลาเพื่อนบ้าเห่ออะไรก็ต้องมีด้วย
เสน่ห์ของ LINE ยังอยู่ในส่วนเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การโชว์ภาพเจ้าของคอนแทค ขณะที่ WhasApp พยายามทำตาม ซึ่งใน iOS ก็เพิ่งโชว์ภาพให้เห็นได้ไม่นานนี่เอง ในมุมมองของคนที่อยู่ในแวดวงไอที อดิลฟีตรี วิเคราะห์ว่า “ตลาดแชตมากับการเติบโตของสมาร์ทโฟน และแบล็คเบอร์รี่ก็สร้างความแตกต่างได้ คือ เกิดมาเพื่อแชตเลย แต่เพราะว่า BB จำกัดแค่แพลตฟอร์มของตัวเอง แล้วระบบก็ค่อนข้างสับสน จัดดีไซน์ยาก ก็ทำให้เป็นโอกาสของ WhatsApp ที่เป็นแอปฯ แรกที่ข้ามแพลตฟอร์ม แล้วมาถึง LINE ก็ Add Value ด้วยการมีสติ๊กเกอร์และเฟรนด์ลี่กว่ามากๆ สำหรับแอปพลิเคชั่นที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องมองว่ามีความแตกต่างอะไรหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ลืมไปได้เลย”
สร้างแบรนด์ใน LINE ต้องมี Value
จิณณ์ เผ่าประไพ กรรมการผู้จัดการร่วมและหุ้นส่วน CJ Worx คาดการณ์ว่า LINE น่าจะเป็นอีกหนึ่งในมีเดียในลักษณะ Another Fanpage ที่ช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ใช้งานจริงเปิดแอปฯ LINE ขึ้นมา ก็เพราะว่าอยากเมาท์กับเพื่อนมากกว่าอยากจะพูดคุยกับแบรนด์
ลักษณะการสื่อสารของ LINE เป็นการสื่อสารแบบ One-on-One ที่น่าจับตามอง เพราะทาง CJ Worx เองก็ติดต่อเพื่อทำ Official LINE ให้กับลูกค้าที่จับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น แต่ตอนนี้ LINE ยังจำกัดอยู่แค่กลุ่ม Influencer เท่านั้น แต่จิณณ์มองว่าต่อไป Official LINE ก็จะกลายเป็น Paid Media ที่แบรนด์ต่างๆ ก็ต้องเข้ามาใช้เป็นช่องทาง
ดังนั้นการทำตลาดบน Official LINE น่าจะมาจากการวิเคราะห์ว่า แบรนด์นั้นๆ มี Promise อะไรที่จะให้กับคนที่เข้ามาเป็นสมาชิก แล้วมอบ Value ที่ผู้บริโภคคาดหวังให้กับผู้บริโภคให้ได้ ซึ่งการวิเคระห์นั่นแหละที่เป็นการบ้านที่นักการตลาดต้องคิดให้หนัก “บางแบรนด์ Define ตัวเองว่าเป็นแบรนด์ที่มอบความสุข แบบนี้แหละที่เราก็ต้องมาคิดต่อว่า ความสุขที่จะส่งไปหาผู้ใช้งานใน LINE คืออะไร มันต้อง Value ที่เขาอยากได้ แล้วยกระดับแบรนด์เรา ทำให้แบรนด์ส่งมอบความคาดหวังไปได้”