CIMB Thai ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ “Transition Finance” เจาะกลุ่มธุรกิจ “Brown Sector” 9 กลุ่มที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุด เช่น น้ำมันและก๊าซ ผลิตพลังงาน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 30,000 ล้านบาทในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้เพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันภาคธุรกิจต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนกันมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนให้สอดคล้องกับทิศทางสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาการใช้พลังงานฟอสซิลและพลังงานจากถ่านหินลง พร้อมทั้งหันมาสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ขณะที่วงการธนาคารมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจต่างๆ ได้ ผ่านการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านั้นเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยการให้นโยบาย “ดอกเบี้ย” ที่จูงใจ หนุนให้หลายธุรกิจลุกขึ้นมาจริงจังด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนกันมากขึ้น
9 กลุ่ม Brown Sector ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงที่สุด
อย่างไรก็ตาม จะมีบางกลุ่มธุรกิจที่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMB Thai) ให้ความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง (Brown Sector industry) และไม่สามารถลดหรือควบคุมการปล่อยมลพิษได้ หลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 9 กลุ่ม ได้แก่
1.ภาคการเกษตร
2.ภาคถ่านหิน
3.ภาคน้ำมันและก๊าซ
4.ภาคอะลูมีเนียม
5.ภาคอสังหาริมทรัพย์
6.ภาคการผลิตพลังงาน
7.ภาคซีเมนต์
8.ภาคเหล็ก และ เหล็กกล้า
9.ภาคการเดินทาง (รวมสายการบิน)
ในกลุ่มธุรกิจ Brown Sector นี้มีความพยายามในการเปลี่ยนผ่าน และหันมาใส่ใจการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่ทำให้บริษัทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ธนาคารสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนผ่านผลิตภัณฑ์ “Transition Finance” หรือ การสนับสนุนทางการเงินให้กับธุรกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ (การเงินเพื่อความยั่งยืน)
ตั้งวงเงิน 20,000 ล้านบาท เจาะกลุ่มธุรกิจ ‘น้ำมัน&ก๊าซ’ และ ‘พลังงาน’
เป้าหมายการส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืนนี้เป็นนโยบายในระดับภาพใหญ่ของบริษัทแม่ CIMB Group ที่มีการตั้งเป้าหมายด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนไว้ 1 แสนล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาท ระหว่างปี 2564-2567
ขณะที่ธนาคาร CIMB Thai มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายภาพใหญ่ด้วยการปล่อยสินเชื่อ Transition Finance ไปแล้ว 30,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2565-2566
รวมถึง CIMB Thai มีการตั้งเป้าหมายในรอบ 24 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 2567 – กันยายน 2569) ธนาคารจะมุ่งขยายการให้ Transition Finance ให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยมากกว่า 300 บริษัท วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะคิดเป็นสัดส่วน 5% ของการปล่อยสินเชื่อพอร์ตธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคาร
นอกจากนี้ ธนาคารยังตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อสีเขียวเป็น 20% ของการปล่อยสินเชื่อพอร์ตธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคาร คิดเป็นวงเงิน 50,000 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2573
เจสัน ลี ผู้บริหารฝ่ายความยั่งยืน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ธนาคารฯ ได้สนับสนุนทางการเงินให้กับธุรกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยเน้นในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน & ก๊าซ (Oil & Gas) เช่น โรงกลั่นน้ำมัน แท่นขุดเจาะน้ำมัน และกลุ่มธุรกิจภาคการผลิตพลังงาน (Power) อาทิ ธุรกิจโรงไฟฟ้า เพราะด้วยลักษณะของธุรกิจเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คิดเป็นประมาณ 70% ของอุตสาหกรรมทั้งหมดในไทย
ขณะนี้ธนาคารเล็งเห็นว่าภาคธุรกิจสองกลุ่มนี้มีความต้องการเงินทุนวงเงินรวมกัน 20,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในทรัพยากร คน อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ที่จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างเป็นรูปธรรม
ธนาคาร CIMB Thai พร้อมตอบสนอง Transition Finance ส่วนนี้ภายใน 24 เดือน ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) ตราสารหนี้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Transition Bond) และสินเชื่อเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืน (Transition Loan) เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets) หรือเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทต่างๆ กำหนดขึ้นเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก
ESG Advisory + ตราสารหนี้สีเขียว เสริมทัพการเปลี่ยนผ่าน
นอกจากความพร้อมให้การสนับสนุนด้านการเงิน ซีไอเอ็มบี ไทย ยังมี ESG Advisory ที่พร้อมให้คำแนะนำแก่กลุ่มธุรกิจเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบรรลุเป้าหมาย โดยการสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)
รวมถึง CIMB Thai จะมีการเสนอการจำหน่ายตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อระดมเงินทุนสำหรับปล่อยกู้ให้โครงการสีเขียว
ทั้งนี้ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ลงนามความร่วมมือ Sustainability Linked Loan จำนวน 3,000 ล้านบาท กับ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เมื่อปี 2566 โดยมีลักษณะสอดคล้องกับเป้าหมายของผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets: SPTs) รวมถึงการลดการปล่อยคาร์บอน Scope 1 (ทางตรง) และ Scope 2 (ทางอ้อม) ต่อปี จนได้รับรางวัล Best Sustainability Linked Loan จาก The Digital Banker: Global Finance Awards 2024