โหลดกระจาย…สติกเกอร์ Line แบรนด์ไทยเห่อใช้สื่อสารลูกค้า

ยุคนี้ จะปั่นกระแส ทำสื่อสารการตลาดผ่านออนไลน์ นอกจากสร้างแฟนเพจ ปั่นยอด Like ใช้ทวิตเตอร์แจ้งข่าว และส่งภาพขึ้นอินสตาแกรม  ชั่วโมงนี้ ถ้าไม่มี  Line อาจเชยได้  โปรแกรมแชทบนสมาร์ทโฟนที่แจ้งเกิดมาจากการส่ง “สติกเกอร์” จนฮิตไปทั่วโลก  จนแซง whatapp ไปแบบไม่เห็นฝุ่นแล้ว วันนี้ Line ได้กลายเป็น “นิวมีเดีย” ที่แบรนด์ดังของไทย เอไอเอส ซีพีเอฟ การบินไทย แห่ออกสติกเกอร์เพื่อใช้สื่อสารกับลูกค้า เตรียมยลโฉมอีกหลายแบรนด์ที่กำลังตามมา

CP พี่เชพ & น้องเกี๊ยวทำยอดทะลุเป้า

หลังจากค่ายมือ  AIS  ออกสติ๊กเกอร์ “น้องอุ่นใจ” ให้ผู้ใช้มือถือในเครือข่าย AIS ได้โหลดกระจายผ่าน Line กันไปแล้ว  แบรนด์ไทยอย่าง CPF  เป็นรายที่สอง ที่ปล่อยสติกเกอร์ “พี่เชพ& น้องเกี๊ยว” ออกแบบมาแสดงภาพลักษณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารผ่านพี่เชพที่ใส่หมวกแบรนด์ CP กับน้องเกี๊ยวตัวแทนเมนูเกี๊ยวกุ้ง Signature Product ของแบรนด์ 

 

 

 

การออกสติกเกอร์ครั้งนั้น ส่งผลให้ CPF มียอดดาวโหลดสติกเกอร์กว่า 1 ล้านคน  ติดอันดับ Official Account ใน Line  ที่มีเพื่อนมากที่สุด ด้วยจำนวน 1.5 ล้านราย 

หากเป็นไปตามกลไกนี้ เมื่อ CPF ส่งข้อความผ่าน Official Account เมื่อไหร่ผู้บริโภคทั้ง 1.5 ล้านรายก็จะเห็นข้อความที่ CPF ส่งมาให้  ซึ่งนับว่าการสื่อสารที่ไดเร็คไปสู่แฟนของ CPF ได้ในครั้งเดียวขนาดนี้ถือว่าเป็นช่องทางที่มีมูลค่าไม่น้อยเลยทีเดียว  

เพราะว่าเพียงแค่วันเดียวที่ CPF เปิด Official LINE Account โดยระบุว่าจะมีสติ๊กเกอร์ตามมาภายหลัง  ถัดจากนั้น วันเดียว CPF ก็ได้จำนวนผู้ที่ยินยอม Add Friend มาถึง 20,000 ราย  วันนี้ CPF ก็กลายเป็น Official LINE ที่มียอดเพื่อนมากที่สุด 1.5 ล้านคน ทั้งๆ ที่แบรนด์ศิลปินที่เปิดตัวมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมตอนนี้ยังไม่มี Official LINE รายไหนมียอดเพื่อนทะลุเกิน 1 ล้านเลย  

สติ๊กเกอร์กัปตัน การตลาดสุดเซอร์ไพร์สของการบินไทย 

 

 

 

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทการบินไทย ได้ปล่อยสติกเกอร์ลายกัปตันการบินไทย ให้โหลดผ่าน Line  เพียงแค่ข้ามคืนยอดดาวโหลด 1 ล้านราย ส่งผลให้ Line กลายเป็นสื่อดิจิตอลที่หลายแบรนด์ต้องถามหา

เพราะอย่างน้อยภาพลักษณ์ของการบินไทยให้กลายเป็นสายการบินสุดชิค และสติกเกอร์ที่การบินไทยปล่อยออกมา ให้ใช้งานฟรี 90 วัน ยังเชื่อมโยงกับเทศกาลยอดฮิต  อย่าง ฮาโลวีน วันคริสต์มาส และวันขึ้นปีใหม่เอาไว้แล้ว ทำให้การบินไทยสามารถใช้ Line สื่อสารกับลูกค้า ตลอดช่วงเทศกาลเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นช่วง “ไฮซี่ซั่น” ของฤดูกาลท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแพคเกจ แคมเปญการตลาด

ยูนิเวอร์แซลไทยใช้ line สื่อสารแฟนคลับ

นอกเหนือจากการจัดทำสติกเกอร์ผ่าน Line  การเป็น Official Line เป็นอีกทางเลือกของแบรนด์ในการใช้ Line เป็น ช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย โดยในช่วงแรก Line จะเป็นฝ่ายเลือกพาร์ทเนอร์ที่มาเข้าร่วมใน  Official Line  เป็นลักษณะความร่วมมือ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ค่ายเพลง ค่ายหนัง ศิลปิน นักร้อง นักแสดง  อย่างในไทย มีทั้งค่ายหนังจีทีเอช ค่ายเพลง เลิฟอิส สมอลรูม วงดนตรีละอองฟอง ค่ายเพลงยูนิเวอร์แซล ช่อง 7 

การร่วมมือลักษณะนี้ จึง win wine ทั้งคู่ เท่ากับว่า Line เองจะมี content มา ดึงดูดให้คนมาใช้งานผ่าน Line ส่วนค่ายเพลงเหล่านี้ ก็จะมีสื่อใหม่ในการติดต่อกับแฟนคลับ  

บริษัท ยูนิเวอร์แซล ประเทศไทย เป็นหนึ่งใน Official Account ของ Line ที่มองเห็นประโยชน์จากการเป็นพาร์ทเนอร์กับ Line  โดยมียอดลงทะเบียนแล้ว 2.6 แสนคน ในช่วง 6 สัปดาห์ 

รณพงศ์ คำนวณทิพย์  กรรมการผู้จัดการ บริษัทยูนิเวอร์ซัลมิวสิคประเทศไทย จำกัด  มองว่า  Line เป็นช่องทางสื่อสารออนไลน์ที่ได้ผลมากในขณะนี้  ตรงกับรสนิยมของคนไทย ที่ชื่นชอบอะไรที่ สนุก น่ารักๆ เช่นการส่งสติกเกอร์ จึงได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นอย่างมาก  เมื่อนำมาใช้สื่อสารกับบรรดาแฟนคลับที่ติดตามศิลปินในสังกัด  ทำให้ได้ผลตอบรับดีกว่าการส่งข้อความสั้น หรือ SMS 

เขายกตัวอย่าง เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ยูนิเวอร์แซลได้จัดกิจการเชิญศิลปินเกาหลี “จีน่า” มาเมืองไทย โดยส่งข้อความผ่าน Line ให้ผู้สนใจไปที่ iTune แล้วดาวโหลดภาพส่งกลับมา ผ่านไปแค่ชั่วโมงเดียว ชาร์จเพลงของจีน่าขึ้นอันดับแรกใน iTune ทันที 

หรือแม้แต่ ถ้าจะเทียบกับการส่งข้อความผ่าน โซเชียล มีเดีย ยอดนิยมอย่าง เฟซบุ้ค และทวิตเตอร์  เขาก็มองว่า การส่งข้อความ Line  ได้ผลดีกว่า

“sms เป็นแค่การส่งข่าวทางเดียว ส่วนทวิตเตอร์ข้อความส่งไปแล้วจะหายไป ส่วนเฟซบุ้ค ถ้าไม่ดู newsfeed ข้อความก็จะหายไปเช่นเดียวกัน แต่ส่งผ่าน Line  เห็นผลตอบรับทันที และยังจะมีช่วงเปิดสาย ให้แฟนคลับ หรือลูกค้าเราคุยกับแบรนด์ มาเล่นเกม ทำกิจกรรม”

อย่างไรก็ตาม การส่งข้อมูลผ่านไลน์ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ต้องไม่ ฮาร์ทเซลส์ หรือโฆษณาขายของจนเกินไป ต้องมีข่าวใหม่ๆ ที่เป็นเอ็กคลูซีฟ หรือ เกมสนุก ๆ เช่น เพลงไหนเหมาะกับคนเกิดวันอะไร ต้องมีทุกวัน 

ส่วนการทำสติกเกอร์ ก็เป็นอีกช่องทางในการหารายได้จากค่าลิขสิทธิ์ เช่น การนำสร้างคาแรคเตอร์ของศิลปินมาทำเป็นสติกเกอร์ให้ดาวโหลด อยู่ในแผนงานที่กำลังศึกษาอยู่ด้วยเช่นกัน  

Line ฮอตสุดชั่วโมงนี้ 

ชั่วโมงนี้หากว่าใครที่ใช้สมาร์ทโฟน แล้วยังแชทด้วยแอพพลิเคชั่น หรือส่งข้อความหาเพื่อทาง SMS ต้องถือว่าเชยเต็มที เพราะสำหรับวัยรุ่นแล้วการสื่อสารในกลุ่มเพื่อนต้องแชทผ่านแอพพลิเคชั่น LINE เท่านั้น ด้วยจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลก 60 ล้านคน ในประเทศต่างๆ มากกว่า 230 ประเทศ  

กระแสความแรงของ Line ได้กลายเป็น Digital Media  ที่ถูกจับตามองจากนักการตลาดมากที่สุด เพราะว่า LINE ถือเป็นสื่อที่อยู่บนโทรศัพท์มือถืออย่างเต็มตัว สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ติดโทรศัพท์มือถือ ในเวลาว่างก็ต้องหยิบโทรศัพท์มือถือมากดเล่นฆ่าเวลา ขณะที่ดิจิตอล มีเดียอื่นๆ ยังไม่เข้าสู่สนามสมาร์ทโฟนอย่างเต็มตัว แต่ LINE เกิดมาเพื่ออยู่บนโทรศัพท์มือถือ ทำให้หน้าจอ Interface โมเดลการหารายได้ และการจับมือกับพันธมิตรล้วนแล้วแต่สมบูรณ์แบบ  

ในภาวะที่แบรนด์พยายามมองหาช่องทางพาแบรนด์เข้าไปแทรกซึมอยู่ในใจผู้บริโภค ระหว่างชีวิตประจำวันให้ได้ LINE ถือเป็นช่องทางที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะทำให้แบรนด์อยู่ในบทสนทนาจริงระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคด้วยความเต็มใจผ่านสติ๊กเกอร์ เสน่ห์ที่มีเดียอื่น ยังไงก็ทำได้ไม่เนียนขนาดนี้ 

คีย์ซักเซส ที่ทำให้ Line  กลายเป็นแอปพลิเคชั่น สำหรับแชตยอดฮิตบนสมาร์ทโฟน  เริ่มตั้งแต่ การออกแบบให้สมาร์ทโฟน ต่างแฟลทฟอร์มใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็น ไอโอเอส แอนดรอย หรือแบล็กเบอร์รี่ รวมทั้งวินโดว์โฟน 

นอกจากทลายกำแพงระบบปฏิบัติการแล้ว Line ยังอินไซท์พฤติกรรมผู้บริโภค โดยใช้ “สติกเกอร์” มาเป็นตัวดึงดูด ไม่ต้องพิมพ์ข้อความ ก็ส่งผ่านสติกเกอร์น่ารักๆ  ถูกใจคนไทย  

ไลน์เริ่มจากการให้ผู้ใช้ดาวโหลดสติกเกอร์ให้ใช้ฟรี  จากนั้นก็ทยอยปล่อยสติกเกอร์น่ารักๆ เป็นคาแรคเตอร์การ์ตูนดังมาให้ดาวโหลดแบบเสียงเงิน โดย Line ใช้วิธีจับมือ และแบ่งรายได้กับกับเจ้าของลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์การ์ตูนดัง เช่นการจับมือกับ Sanrio เจ้าของคาแร็กเตอร์การ์ตูนยอดนิยมของสาวๆ ทั่วโลก อย่างคิตตี้ หรือล่าสุด LINE ได้ลิขสิทธิ์มิ้กกี้ เมาส์ของดีสนี่ย์เอามาทำเป็นสติ๊กเกอร์แล้ว ในส่วนของบุคคลสำคัญก็มีสติ๊กเกอร์ PSY เจ้าของเพลงกังนัมสไตล์

วิธีนี้ ทำให้ Line มีสติกเกอร์ใหม่ๆ มาให้ผู้ใช้ไม่เบื่อ และยังได้รายได้ด้วย  ยิ่ง Line เป็นที่นิยม การหาพันธมิตรก็ยิ่งง่ายขึ้น ปัจจุบัน LINE ได้รายได้จากสติ๊กเกอร์อย่างเดียวมากกว่า 140 ล้านบาทต่อเดือนแล้ว 

ต่อมา LINE พัฒนาช่องทางหารายได้ ด้วยการเปิด Official LINE  ให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการสื่อสารการตลาดผ่าน LINE  ซึ่งสามารถทำพ่วงกับสติ๊กเกอร์  ได้ด้วย 

ด้วยกระแสความแรงของ Line ทำให้แบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี และในไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ Line เป็นอันดับต้นๆ จึง นิยมนำ Line เป็นเครื่องมือสื่อสาร ทั้งสร้างแบรนด์ และทำแคมเปญ (อ่านเรื่องประกอบ แบรนด์ต่างประเทศใช้ LINE ทำอะไรบ้าง) 

ส่วนในไทยก็เช่นกัน แม้จะไม่มีตัวเลขผู้ใช้ Line เปิดเผยออกมาชัดเจน แต่จากกระแสรอบตัว ก็เชื่อได้ว่า Line มากกว่า มาแรงแซงหน้า whatsapp โปรแกรมแชทที่ออกมาก่อนหน้านี้ไปแล้ว

ด้วยกระแสความฮอตของ Line ในหมู่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนของไทย ทำให้ Line กลายเป็น นิวมีเดีย ที่แบรนด์ต้องการมากที่สุดในเวลานี้  ผู้บริหารเอเยนซี่ออนไลน์ เล่าว่า หลังจากการออกสติกเกอร์ของการบินไทย มีลูกค้าติดต่อให้ทำสติกเกอร์บน Line แล้ว ไม่น้อยกว่า  6-7 แบรนด์ เพราะทุกแบรนด์ต้องการเกาะติดกระแส ความสนใจของลูกค้า อะไรที่ฮิตหรือมา ต้องการเป็นแบรนด์แรกที่ทำก่อนใคร 

อยากเป็น Official LINE ต้องทำไง 

ปัจจุบันการทำตลาดผ่านแอพพลิเคชั่น LINE ในประเทศไทย มี 2 ช่องทางหลัก ดังนี้ 

Official Account  LINE  

Official Account ของLINE เป็นช่องทางที่แบรนด์หรือกลุ่มศิลปิน ดารา ผู้มีชื่อเสียงให้เป็นช่องทางสื่อสารกับกลุ่มแฟนของตัวเอง โดยจะส่งข้อความ ภาพ ไฟล์วิดีโอ หรือลิงค์ก็ได้ทั้งนั้น ส่วนการตอบกลับของผู้บริโภคจะมีเพียงแบรนด์เท่านั้นที่เห็นข้อความที่แฟนๆ ส่งมา  

ข้อดีของการทำ Official LINE ก็คือ ถ้าหากว่าผู้บริโภคตอบรับแบรนด์นั้นๆ ด้วยการ Add Friend แล้ว ข้อความที่แบรนด์ส่งมาทาง LINE ก็จะพุ่งตรงมาที่แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานรายนั้นๆ เลย 

Brand Sticker 

ที่นิยมสำหรับแบรนด์ คือ การทำสติกเกอร์ Line  โดยนำคาแร็กเตอร์หรือมาสคอตประจำแบรนด์มาทำเป็นสติ๊กเกอร์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์  

จุดเด่นของสติ๊กเกอร์ที่มาจากแบรนด์ต่างๆ ก็คือ ทุกครั้งที่สติ๊กเกอร์ถูกส่งออกไป ผู้พบเห็นก็จะระลึกถึงแบรนด์ได้ทันที และเป็นการเอาแบรนด์เข้าไปอยู่ในบทสนบทนาจริงของผู้บริโถคแบบเนียนๆ เป็น Real Connection ที่คนที่แชทเป็นเพื่อนที่รู้จักกันจริงๆ และการใส่ส่วนผสมของแบรนด์เข้าไปนี้เกิดจากความชื่นชอบและเลือกสรรของผู้บริโภคเอง ไม่ใช่สิ่งที่แบรนด์ยัดเยียดเข้าไป 

ทำให้หลายแบรนด์ มองเห็นโอกาสในการสื่อสาร จากสติ๊กเกอร์ตัวน้อยว่า ยิ่งใหญ่ไม่แพ้สื่อระดับแมสเลยทีเดียว  

โดยวิธีการทำสติ๊กเกอร์ ส่วนมากก็จะใช้โมเดลแจกสติ๊กเกอร์ให้โหลดฟรีๆ แลกกับ การที่ผู้ใช้ต้องกด Add Friend ยินยอม ให้แบรนด์ส่งข้อความสื่อสารผ่าน Official LINE 

ต้องทำก่อนใคร

โอม-อดิลฟิตรี ประพฤติสุจริต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ออนไลน์ จำกัด มองการทำตลาดของทั้ง CP และการบินไทยว่า “พอเวลาที่มีอะไรเป็นสื่อใหม่ๆ แบรนด์ที่เป็นผู้นำก็ต้องทดลองก่อน เพื่อที่จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นคนแรกที่ทำ ของแบบนี้ถ้าทำช้ากว่าคนอื่น ผู้บริโภคก็จะคิดว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกแล้ว แต่คนที่ทำคนแรกจะได้กระแส โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำหลังจากคู่แข่งในแคททริกอรี่เดียวกันทำ แบบนี้ก็ไม่ต้องทำแล้ว LINE ในตอนนี้ถือว่ากระแสมันได้ ให้กันในระดับแมสแล้วจริงๆ“

อยากทำ สติกเกอร์ Line ต้องจ่ายเป็นล้าน

ถึง Line จะมาแรงแค่ไหน แต่แบรนด์ไหน ที่อยากมีสติกเกอร์ให้ดาวโหลดใน Line ใช่ว่าจะเหมือนการทำสติกเกอร์ทั่วไป เพราะอย่างต่ำๆ ต้องใช้งบไม่ต่ำกว่าเป็นล้านบาท

Line  ได้ ตั้งราคา ตั้งแต่ค่าออกแบบสติกเกอร์  ต้นทุนตรงนี้ 2-3 แสนบาท แต่ถ้ามีภาพวิช่วลมาให้ จะลดลงเหลือ 1.2 แสนบาท  จากนั้นต้องเสียค่าปล่อยสติกเกอร์ใน “สติกเกอร์ช้อป”  ต้องควักเงินอีก 1.3 แสนบาท  

มีสติกเกอร์แล้ว ก็ต้องมีค่าเช่าชาแนล หรือ Official channel ไว้ส่งข้อความเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย   มีทั้งแบบ เหมาจ่ายเดือนละ 5 แสนบาท จะส่งกี่ข้อความก็ได้ บาท   หรือ จะคิดต่อจำนวนข้อความ เฉลี่ยข้อความละ 50 สตางค์ ยิ่งส่งมากยิ่งถูกลง รวมเบ็ดเสร็จอยากมีแบรนด์อยู่ใน Line ต้องใช้งบไม่น้อยกว่า  1 ล้านบาท

สำหรับแบรนด์ใหญ่อาจไม่กระเทือน แต่แบรนด์เล็กอาจต้องคิดหนัก คุ้มหรือเปล่า 

อยากได้สติกเกอร์ แต่ไม่อยากรับข้อความ

อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด ดิจิทัลเอเยนซี่รายใหญ่ ยอมรับว่า  Line เป็นนิวมีเดียที่มาแรงไม่แพ้เฟซบุ้ค อินสตราแกรม  และมีไอเดียในการต่อยอดธุรกิจได้ดี  สอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทย ที่ชื่นชอบการแชท และใช้เป็นช่องทางในการติดตามดารา นักร้องที่ชื่นชอบ 

โดยเฉพาะไอเดียของ Line ที่ใช้ สติกเกอร์ และให้แบรนด์มาเป็น  official line  เป็นช่องทางที่แบรนด์จะสื่อสารกับลูกค้าได้แบบ “วันทูวัน” มีความเฟรนด์ลี่กว่า และเสียต้นทุนถูกกว่า บริการข้อความสั้น หรือ sms 

ถ้าแบรนด์ต้องการแค่สร้างการรับรู้แบรนด์ การออกสติกเกอร์ก็ตอบโจทย์นี้ได้ แต่ถ้าแบรนด์ไหนต้องการใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารหลัก เขาไม่แน่ใจว่า จริงๆ แล้ว มีคนมากแค่ไหน ที่ยอม add friend เพื่อรับข้อความของแบรนด์ผ่าน Line  

“ผมกลัวว่าจะเหมือนกับ sms  ที่โดนบล็อก เพราะพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ ชอบโหลดสติกเกอร์ฟรี จะส่งต่อหรือไม่ค่อยว่ากันอีกที บางคนยิ่งกว่านั้น  บางคนไม่เคยยอม add friend เลย พอแบรนด์อออกสติกเกอร์ถึงจะยอม add friend เพราะอยากได้สติกเกอร์ พอโหลดเสร็จก็บล็อกทันที ไม่ให้แบรนด์ส่งข้อความ นี่คือสิ่งที่เราต้องรอดูว่า Line จะคุ้มค่าในการลงทุนใช้สื่อแค่ไหน”

เขามองว่า  Official LINE  ที่ได้ผล หรือ มีแฟนยอม add friend เพื่อรับข้อมูล มักจะต้องเป็นค่ายเพลง ค่ายหนัง  ศิลปิน เพราะคนชอบไทยนิยมเรื่องบันเทิง ชอบติดตาม เรื่องราว ศิลปิน ดารา นักร้อง คล้ายกับ อินสตราแกรม ที่ใช้ได้ผลในหมู่ดารา นักร้องสามารถ ดึงดูดแฟนคลับคอยติดตาม 

“เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่สามารถวัดได้ว่า พอแบรนด์โหลดสติกเกอร์แล้ว จะเหลือคนที่เป็นแอคทีฟ ยูสเซอร์จริงๆ เท่าไหร่ เพราะเราต้องประเมิน ROI ว่าคุ้มค่าแค่ไหน  คิดว่าถ้ามี แอฟทีฟ ยูสเซอร์ ต่ำกว่าครึ่ง ผมก็ว่าไม่น่าจะคุ้ม ยกเว้นแบรนด์ไหนที่ต้องการแค่สร้างการรับรู้แบรนด์ก็ทำได้ทันที” 

เวลานี้มีหลายแบรนด์ ที่ต้องการใช้ Line มาเป็นช่องทางสื่อสารตลาด  เขาจะเสนอให้รอดูข้อมูลก่อน ยกเว้นแบรนด์ไหนที่ต้องการสร้างแค่การรับรู้แบรนด์เพียงอย่างหรือ ต้องการเป็นเฟิร์ส มูฟเวอร์ เท่านั้น 

“Line ไม่เหมือนเฟซบุ้ค ยิ่งเปิดช้าแฟนยิ่งน้อย ต้องใช้เวลาสะสม แต่ Line ออกสติกเกอร์โดนๆ  ทีเดียวคนก็มาแล้ว แต่ปัญหาคือ เราไม่รู้ว่ามีแอคทีฟ ยูสเซอร์จริงๆแค่ไหน และทำอย่างไรให้เขาอยู่กับเราได้นานแค่ไหน ยังเป็นโจทย์ที่ต้องรอเวลา” 

10 อันดับ Official LINE ที่มีผู้ Add Friend มากที่สุด (ไทย)
1. CP 1,525,892
2. Thai Airways 1,320,546
3. miss A 491,978
4. Opal Panisara 461,825
5. Wonder Girls 442,682
6. Lee Min Ho 394,751
7. Ter Chantavit 377,869
8. 2PM 345,434
9. GTH channel 337,107
10. CNBLUE 287,119
11. Universal Music Thai 280,728
*ข้อมูล ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2555
Time “Line”
เปิดตัวเป็นครั้งแรกในระบบ iOS 23 มิถุนายน 2011
เข้าสู่มือถือ Android 28 มิถุนายน 2011
ฉลองตัวเลข 10 ล้านคน 27 ธันวาคม 2011
ใช้งาน Line บน PC ก็ได้ 7 มีนาคม 2012
ตามมาด้วยการใช้งานบน Windows Phone และ Mac 10 มีนาคม 2012
เพิ่ม Sticker Shop ผู้เล่นซื้อสติ๊กเกอร์ได้แล้ว 15 แบบ    26 เมษายน 2012
Official Line เปิดให้บริการ กลางเดือนมิถุนายน 2012
จับมือกับ Sarino ออกแบบสติ๊กเกอร์ Kitty ต้นเดือนกรกฎาคม 2012
ฉลองครั้งใหญ่ด้วยยอดดาวน์โหลด 50 ล้านครั้ง 26 กรกฎาคม 2012
เปิดให้บริการบน BB กลางเดือนสิงหาคม 2012
สติ๊กเกอร์ลาย พี่เชพ& น้องเกี๊ยว ของแบรนด์ CP 9 ตุลาคม 2012
สติ๊กเกอร์ลายการบินไทย 16 ตุลาคม 2012
PSY Sticker ครั้งแรกที่มีสติ๊กเกอร์ Line ที่พัฒนามาจากศิลปิน 16 ตุลาคม 2012
จับมือกับดิสนี่ย์พัฒนาสติ๊กเกอร์ มิกกี้ เมาส์ ตุลาคม 2012

 

ข้อระวังของการทำตลาดบน LINE

– LINE Official แตกต่างจาก Twitter/ Fan Page การสื่อสารก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย อย่าส่งข้อความถี่เกินไปในแต่ล่ะวัน เพราะผู้รับอาจรำคาญ

– คาแร็กเตอร์ของ Brand Sticker ต้องออกแบบให้สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมทั้งแอคชั่นที่ใช้ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคน  

ทำก่อนได้เปรียบ ยิ่งมาช้า ผู้บริโภคยิ่งรู้สึกว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่

ผู้ใช้ต้องการแค่โหลดสติกเกอร์ จากนั้นจะบล็อกไม่ให้แบรนด์ส่งข้อความ 

– ข้อความที่ส่งให้ต้องเน้นเรื่องของสิทธิประโยชน์ ไม่เน้นโฆษณา 

รู้จัก LINE

Line เป็นแอพพลิเคชั่นให้บริการ Messaging รวมกับ Voice Over IP ทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างกลุ่มแชท ส่งข้อความ ภาพ คลิปวิดีโอ หรือจะพูดคุยโทรศัพท์แบบเสียงก็ได้ ใช้ได้ในระบบปฏิบัติการ iOS, Androind, Windows Phone, PC และBlack Berry บริษัทที่พัฒนา LINE ชื่อบริษัท Naver บริษัทแม่ตั้งอยู่ที่ประเทศเกาหลี แต่ออฟฟิศที่พัฒนา LINE ขึ้นมาเป็น Naver ที่สาขาญี่ปุ่น จึงเรียกได้ว่า LINE มีส่วนผสมของ 2 ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกวัฒนธรรมรายสำคัญของเอเชีย ต้นกำเนิดไอเดียของ LINE มาจากตอนที่ญี่ปุ่นเกิดสึนามิ ระบบการสื่อสารประเภท Voice ล่ม จนติดต่อกันไม่ได้ ทีมงาน 100 ชีวิตของ Naver จึงระดมกำลังสร้างช่องทางสื่อสารผ่าน Data ซึ่งตอนนั้นยังใช้ได้อยู่ เพื่อติดต่อและให้กำลังใจกัน แต่ในที่สุดกว่า LINE จะเสร็จสมบูรณ์ก็ใช้เวลากว่า 2 เดือน แล้วกลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่ฮิตที่สุดในวันนี้ ปัจจุบัน LINE มีผู้ใช้งาน 60 ล้านคน แบ่งเป็นในญี่ปุ่น 50% นอกประเทศญี่ปุ่น 50% และแนวโน้มการเติบโตในต่างประเทศกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ  

*** อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Positioning on iPad ดาวโหลดได้แล้วที่ Appstore และ www.positioningmag.com